****คำที่มักเขียนผิดในภาษาไทย***รู้รักภาษาไทยกันหน่อยจ้า
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด

สนใจโฆษณาติดต่อ laopedcenter[at]hotmail.com คลิ๊กรายละเอียดที่ตำแหน่งว่างเลยครับ

สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด

ผู้เขียน หัวข้อ: ****คำที่มักเขียนผิดในภาษาไทย***รู้รักภาษาไทยกันหน่อยจ้า  (อ่าน 431701 ครั้ง)

ออฟไลน์ M@nfaNG

  • ชีวิตคือการตรวจสอบ...
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดAphrodite
  • *
  • กระทู้: 4453
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +847/-18
ช่วงที่เขียนนิยายบางครั้งมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทย ต้องหาในเน็ตเป็นระยะ
หรือบางครั้งอ่านนิยายก็แอบขัดใจ หรือสงสัยว่ามันใช่เหรอ เขียนถูกเหรอแบบนี้ ซึ่งก็มีทั้งที่เราเข้าใจผิดไปเองก็มาก
เลยไปเจอเวปนี้เข้า เลยอยากเอามาฝากทั้ง นักเขียน และผู้อ่านให้รู้ว่าบางคำที่เราเข้าใจว่าเขียนถูก ก็อาจจะผิดก็ได้
ใช้คำที่ผิดบ่อยๆ อีกหน่อยเราจะติดไปเอง ซึ่งเรื่องนี้เจอกับตัวเองเลยทีเดียว เข้าใจผิดไปหลายคำ ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
ลองอ่านดูค่ะ ได้ความรู้ดี :really2:
**********************
ที่มาจากเวป http://www.sun-tree.net/forum/viewtopic.php?t=78 ขอบคุณด้วยค่ะ :pig4:

กฎ - รวมไปถึงคำอื่น ๆ เช่น กฎเกณฑ์ กฎหมู่ (ผู้คุมกฎ ก็ใช้แบบนี้ครับ) มักสะกดผิดเป็น “ฏ” คงไปนึกเทียบกับคำว่า ปรากฏ กบฏ
*ข้อสังเกต : ถ้าคำพยางค์เดียว ใช้ ฎ ชฎา แต่ถ้าคำสองพยางค์ ลงด้วย ฏ ปฏัก

กะทันหัน - (ไม่ใช้ กระทันหัน นะครับ ส่วน กะทัดรัด ก็เขียนแบบเดียวกัน)

กะพริบ - เช่น กะพริบตา มักเขียนผิดเป็น “กระพริบ” กันมากด้วย

กังวาน (เสียง) - มักเขียนผิดเป็น “กังวาล”

ช็อก - สภาพที่ร่างกายเสียเลือดมาก , สะเทือนใจรุนแรง , ถูกกระแสไฟฟ้า เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า shock

เช็ก - ตรวจสิ่งต่าง ๆ เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า check (ส่วน “เช็ค” หมายความถึงพวกเช็คที่เป็นสมุดครับ อย่างเช่นเขียนเช็คจ่ายสด มาจากคำอังกฤษว่า cheque)

โชก - ในคำว่า เหงื่อโชก ใช้คำว่า เหงื่อโซก หรือเหงื่อโซม ก็ได้ (เอามาใช้บ้างก็ดีนะครับ ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันเพราะได้ยินคำว่า เหงื่อซก ด้วย)

ตงิด - เช่น หิวตงิด ๆ ออกเสียงว่า “ตะหงิด” จึงมักเขียนผิดไปตามเสียงอ่าน

ตึก ๆ , ตึ้ก ๆ , ตึ้กตั้ก - เสียงหัวใจเต้นเวลาเหนื่อยหรือตกใจ

ทะนง หรือ ทระนง - ถือตัว , หยิ่ง เช่น ทะนงตน ทะนงศักดิ์

เท่ - มักเขียนผิดเป็น “เท่ห์” (อย่างหลังนี่จะเขียนเป็น “สนเท่ห์” ที่แปลว่า สงสัย ครับ)

นั่นปะไร - เป็นไปอย่างที่พูด มักเขียนผิดเป็น “นั่นประไร” (ผมว่า ช่างปะไร , ช่างมันปะไร ก็น่าจะใช้แบบเดียวกัน)

นัยน์ตา - (เจอบางคนใช้ นัยตา , นัยย์ตา หรือแม้แต่ นัยต์ตา ก็มี)

ปรานี - เอ็นดูด้วยความสงสาร มักเขียนผิดเป็น “ปราณี” ซึ่งจะผิดความหมายไปเลย เพราะ “ปราณี” หมายถึง ผู้มีชีวิต

ปาฏิหาริย์ - (บางคนใช้ ปาฏิหาร แบบหารเลขมาเลย)

ผล็อย - เช่น หลับผล็อย (หลับโดยเร็ว) ใช้ว่า ผ็อย หรือ ผ็อย ๆ ก็ได้

แผล็บ , แผล็บ ๆ - เช่น แลบลิ้นแผล็บ ๆ (เผลอแผล็บเดียว ก็ใช้ได้ครับ) จะใช้ว่าแพล็บ หรือ แพล็บ ๆ ก็ได้

พรรค์ - เช่น คนพรรค์นั้น (ต้องมี ค์ ด้วยนะครับ)

มนตร์ - เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์ แต่คำว่า “มนต์” จะใช้เกี่ยวกับพิธีการทางศาสนา เช่น สวดมนต์

มุก - ทำให้ขบขัน เป็นคำเก็บใหม่ มักเขียนผิดเป็น “มุข”

เลือนราง - ไม่ชัดเจน , พอระลึกได้บ้าง

โลกันตร์ - ชื่อขุมนรกที่มีการลงโทษหนักที่สุด ไม่ผุดไม่เกิด มักเขียนผิดเป็น “โลกันต์”

สุ้มเสียง - โบราณเขียนเป็น “ซุ่มเสียง” (จะใช้อย่างหลังนี้ก็ได้ครับ แต่ไม่นิยมกันแล้ว)

หน็อยแน่ - คำเปล่งไม่พอใจหรือผิดหวัง มักเขียนผิดเป็น “หนอยแน่”

หลับใหล - เช่น ในบทโคลงลิลิตพระลอว่า “สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่”

เหงื่อกาฬ - เหงื่อของคนใกล้จะตาย โดยปริยายหมายถึง เหงื่อแตกด้วยความตกใจ

อาถรรพ์ - อำนาจลึกลับที่เชื่อว่าบันดาลให้มีความเป็นไป เช่น ต้องอาถรรพ์ มีอาถรรพ์ ใช้ว่า อาถรรพณ์ หรือ อาถรรพณะ ก็ได้ แต่นิยมใช้คำแรกมากกว่า เพราะเขียนและอ่านชัดเจนดี

บรรณานุกรม :
ช่วย พูลเพิ่ม. (2547). เขียนให้ถูก ใช้ให้เป็น. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้ากรุ๊ป


ต่อด้วยการเว้นวรรคค่ะ...

- เว้นหน้าหลังเครื่องหมาย : ๆ ฯลฯ
จู่ ๆ ลมก็ไหววูบเข้ามา
เฟริน คิล คาโล โร ฯลฯ ได้มาอยู่ป้อมเดียวกัน

- เว้นหลังเครื่องหมาย : ? ! ฯ
นายอยากตายมากนักใช่ไหม ?
เฟี้ยว ! ฉึก !
มีดสั้นปักเข้าผนังห้อง ฯ

- เว้นแยกประเภทคำ : คำบรรยายกับคำพูด
เฟรินพูดยั่วน้ำแข็งยักษ์เบื้องหน้า “แล้วนายจะทำไม”


ตบท้ายด้วยเรื่องคำลงท้ายของผู้หญิงที่มักเขียนกันผิดอยู่มากทีเดียว เช่น ค่ะ คะ นะคะ จะยกตัวอย่างให้คร่าว ๆ ละกันนะ

ค่ะ – สวัสดีค่ะ , ขอบคุณค่ะ , ลาก่อนค่ะ , ไม่เป็นไรค่ะ
คะ – เหรอคะ , ใช่ไหมคะ
นะคะ – ขอบคุณนะคะ , ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ
จ้ะ – สวัสดีจ้ะ , ได้จ้ะ , ขอบใจจ้ะ
จ๊ะ – มีอะไรเหรอจ๊ะ , ไม่สบายหรือเปล่าจ๊ะ
นะจ๊ะ – ฝันดีนะจ๊ะ , เดี๋ยวเจอกันนะจ๊ะ
จ้า – สวัสดีจ้า , บายจ้า
จ๋า – พี่จ๋า , หนูจ๋า


ต่ออีกหน่อยค่ะ
กรรโชก – (ขู่เอาด้วยกิริยาหรือวาจาให้กลัว) ในคำว่า “ขู่กรรโชก” จะใช้ว่า “ขู่กระโชก” ก็ได้ เทียบกับ กระโชก (กระแทกเสียง) เช่น พูดกระโชก ลมกรรโชกแรง
* ในกรณีที่กล่าวมานี้จะใช้เป็นกรรโชก เช่น พูดกรรโชก ลมกรรโชก ไม่ได้ครับ

กราบ – (ไม้เสริมแคบเรือ) เทียบกับ กาบ (เปลือกหุ้มผลหรือลำต้น) เช่น กาบมะพร้าว กาบกล้วย

กร่ำ – (เมาเรื่อยไป) เช่น เมากร่ำ ถ้าเป็น เมากรึ่ม (เมาตลอดวัน) ความหมายก็พอ ๆ กันครับ เทียบกับ ก่ำ (เข้ม , จัด , สุกใส) เช่น หน้าแดงก่ำ
* คำว่า “กล่ำ” ไม่มีใช้ครับ มีแต่ที่เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งว่า “มะกล่ำ”

กะโหลก – เช่น หุบเขาหัวกะโหลก (ไม่ใช้ผิดเป็น “กระโหลก” .. นึกเอาง่าย ๆ ก็ “กะโหลกกะลา” ละกันครับ)

กำราบ – (ทำให้เข็ดหลาบ) แต่ด้วยความที่อ่านว่า “กำหราบ” จึงทำให้ใช้ผิดตามไปด้วย

กี้ – เช่น เมื่อกี้ เมื่อแต่กี้ เมื่อตะกี้ แต่มีคำว่า กี๊ เก็บเพิ่มมาใหม่อีกคำด้วย เช่น เมื่อกี๊

เกม – ใช้เกี่ยวกับการแข่งขัน เช่น เกมคอมพิวเตอร์ เกมกีฬา ส่วน “เกมส์” ใช้ที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์

แก๊ง – (กลุ่มคนเป็นก๊กเป็นเหล่ากระทำการไม่ดี) มาจากภาษาอังกฤษว่า gang เช่น แก๊งโจร แก๊งอันธพาล มีใช้ผิดเป็น แก๊งค์

คณนา – (นับ) เช่น สุดที่จะคณนา หรือ “คณานับ” ก็ได้ เช่น สุดคณานับ

คลุมเครือ – จะใช้เป็น “ครุมเครือ” ก็ได้ครับ แต่นิยมน้อยกว่า

เคร่งเครียด – (สมองไม่ได้พัก) เทียบกับ ตึงเครียด (ใกล้จะถึงขั้นแตกหัก) เช่น สถานการณ์ตึงเครียด

เคียดแค้น – (โกรธแค้น) เทียบกับ ขึ้งเคียด (โกรธอย่างชิงชัง)

จะจะ – (ให้เห็นชัดเจน , กระจ่าง) เช่น เห็นกันจะจะ ซึ่งไม่ใช้ไม้ยมกเป็น “จะ ๆ” ครับ เช่นเดียวกับ ชะชะ (คำเปล่งเวลาโกรธ) ซึ่งจะใช้ว่า “ชะช้า” หรือ “ชัดช้า” ก็ได้ และคำว่า รำรำ , ร่ำร่ำ (คิดหรือตั้งใจซ้ำ ๆ อยู่) เช่น ร่ำร่ำจะไปเที่ยว

ชะมัด – (มาก) เช่น เก่งชะมัด ใช้ “ชะมัดยาด” ก็ได้

ทโมน – เช่น ลิงทโมนป้อมอัศวิน

ปฐพี – (แผ่นดิน) ใช้ว่า “ปถพี” ก็ได้ (แต่คำหลังนี้ผมไม่เคยเห็นใช้กันนะ)

พลิ้ว – (บิด , เบี้ยว , สะบัดไปตามลม) เช่น บิดพลิ้ว ลมพลิ้วไหว ซึ่งคำว่า “พริ้ว” ไม่มีใช้ นอกจากเป็นชื่อเฉพาะที่เรียกมานานแล้ว เช่น น้ำตกพริ้ว จ.จันทบุรี ครับ

พลุ่ง – (ไอน้ำหรือควันหรือสิ่งที่คล้าย ๆ กัน ดันพุ่งตัวออกมาโดยแรง) เช่น ไอน้ำพลุ่งออกมา อารมณ์เดือดพลุ่ง (อารมณ์พลุ่งพล่าน ก็ใช้แบบนี้ครับ) เทียบกับ พุ่ง เช่น พุ่งตัว น้ำพุ่ง พุ่งความสนใจ (มุ่งตรงไป) .. สังเกตกันนิดนึงนะครับ

พิศวาส – (รักใคร่ , สิเนหา) เช่น ไม่น่าพิศวาส มักใช้ผิดเป็น “พิสวาศ”

พิสมัย – (ความรัก , ความชื่นชม) มักใช้ผิดเป็น “พิศมัย” แต่ชื่อเฉพาะต้องคงไว้ (เช่น ชื่อคนครับ)

ไย – ในคำที่ใช้ว่า จะช้าอยู่ไย ไยจึงไม่มา อย่าไปไยดี มักเขียนผิดเป็น “ใย”

ลออ – (งาม) เช่น นวลลออ , (ถี่ถ้วน , รอบคอบ) เช่น ละเอียดลออ มักใช้ผิดเป็น “ละออ”

ละลวย – (งงงวย , ทำให้หลง) เช่น คาถามหาละลวย เทียบกับ ระรวย (แผ่ว ๆ เบา ๆ) เช่น หายใจระรวย หอมระรวย

ละเหี่ย – (อ่อนใจ , อิดโรย) เช่น อ่อนเพลียละเหี่ยใจ มักใช้ผิดเป็น “ระเหี่ย”

เวท – เข้าคู่กับคำว่า มนตร์ เป็น เวทมนตร์

สรร – เช่น เลือกสรร สรรสร้าง (แกล้งเลือก) สรรหา (เลือกมา)

สรรค์ – (สร้าง) มักเข้าคู่กับ “สร้าง” เป็น สร้างสรรค์ , สรรค์สร้าง เทียบกับ รังสรรค์ , รังสฤษฏ์ ที่หมายถึง สร้าง เหมือนกันครับ

สรรพางค์ – (ทั่วตัว) เข้าคู่กับ “กาย” เป็น สรรพางค์กาย

หลุบ – (ลู่ลงมา) เช่น ผมหลุบหน้า หลุบตา ไม่มีใช้ว่า หรุบ เทียบกับ หรุบ ๆ (สิ่งที่ร่วงพรูลงมา) เช่น ร่วงหรุบ ๆ

เหลอหลา – (มีหน้าตาเซ่อ) เช่น ทำหน้าเหลอหลา

แหยม – (ปอยผมที่เอาไว้เป็นกระจุกหรือหนวดไว้สองข้างริมฝีปาก) เช่น หนวดแหยม (เห็นคำนี้แล้วนึกถึงท่านอาเธอร์เลยนะครับ ^^)

แหย็ม – เป็นภาษาปากหมายถึง เข้าไปยุ่ง เช่น อย่าไปแหย็ม

อเปหิ , อัปเปหิ – ภาษาที่ใช้ทั่วไปหมายถึง ขับไล่

อัฒจันทร์ – (ที่นั่งเป็นขั้น ๆ สำหรับดูการแสดงหรือกีฬา เป็นรูปครึ่งวงกลม หรือชั้นที่ตั้งของขายเป็นขั้น ๆ)

อิริยาบถ – มักใช้ผิดเป็น “อิริยาบท” 

- มนตร์ คำศักดิ์สิทธิ์ , คาถา , คำสวด (คำบาลีเขียน มฺนต , สันสกฤตเขียน มนฺตร) ว่าง่าย ๆ ก็คือถ้าเขียนตามคำบาลีก็เป็น มนต์ และถ้าเขียนตามคำสันสกฤตเป็น มนตร์

- มนตรา เป็นคำที่ใช้กับพวกคำกลอนครับ มีความหมายเท่ากับมนตร์

* เพราะฉะนั้นความหมายเดียวกัน ใช้แทนกันได้คร้าบ

"เลือนลาง" ที่เขียนแบบนี้แทน (หมายถึง ไม่แจ่มใส , ไม่ค่อยจะมีความหวัง , มัว ไม่ชัด จาง) คาดว่า ลางเลือน น่าจะเป็นการกลับคำซึ่งเป็นลูกเล่นของผู้เขียนมากกว่า

อนุญาต ที่ถูกต้องไม่มีสระอิค่ะ เครือญาติ เท่านั้นที่จะมีสระอิ (ญาติมิตรก็อยู่ในลักษณะของเครือญาติค่ะ - -//)


เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. (2544). พจนานุกรมไทย ฉบับใหม่. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น (1977).


ใครมีความรู้เรื่องคำไหนอีกก็มาบอกกันนะคะ จะพยายามเตือนตัวเองให้ระมัดระวังในการใช้ภาษาไทย เขียนคำไหนผิดก็บอกกันมานะ :call:

Share This Topic To FaceBook

mecon

  • บุคคลทั่วไป
ขอบคุณมากๆคะ

ได้ความรู้มากมายคะ o13

ออฟไลน์ Poes

  • คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายของชีวิต
  • Administrator
  • เป็ดZeus
  • *
  • กระทู้: 11342
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +2405/-22
ขอบคุณจ้าฟาง ปกติตอนนี้ชักนิสัยเสีย เขียนติดภาษาเอ็ม  :z3:
แก้งัยดี ภาษาไทยจะเริ่มลงเหว

ออฟไลน์ MurasakiLove

  • そばにいるね
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดมหาวิทยาลัย
  • *
  • กระทู้: 521
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +136/-3
โอ้ววววววว ดีจังเลยเป็นประโยช์มากเลยค่ะ
มีหลายคำเหมือนกันที่ไม่แน่ใจว่าเขียนยังไงดี ด้วยความที่ไม่ค่อยได้เขียนภาษาไทย
(จริงๆ ภาษาอื่นก็ไม่ได้เขียนด้วยแหละ +555 ชอบอ่านมากกว่า)

ขอบคุณ จขกท.จ้า

:oni1:



ออฟไลน์ WEERACHOT

  • ฉันดีใจที่มีเธอ
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดHera
  • *
  • กระทู้: 985
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +337/-5
 :a5: ขอบคุณครับ เราก็เขียนผิดบ่อยๆจนเริ่มติดนิสัยแล้ว

ออฟไลน์ EoBen

  • เป็ดEros
  • *
  • กระทู้: 3322
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +150/-6
บางคำคิดว่าเขียนถูกแล้วยังผิดเลยคะ

เป็นความรู้มากเลย

ปัจจุบัน ยังใช้คำว่า

คะ กับ ค่ะ ไม่ถูกเลยย

งิงิ


ออฟไลน์ AidinEiEi

  • เป็ดHestia
  • *
  • กระทู้: 776
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +138/-1
ขอบคุณพี่ฟางมากมายค่ะ
อิอิ มีบางคำที่เพิ่งรู้ว่าตัวเองใช้ผิดมาตลอดเลยอ่ะค่ะ
 :pig4:

ออฟไลน์ manami1155

  • ~I Still Love You~
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1749
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +99/-1
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ
สำหรับความรู้ดีๆ :pig4:

อ่านแล้วก็รู้เลยว่าตัวเองใช้ผิดหลายคำเลย
คะ กับ ค่ะ นี้ก็ยังใช้มั่วๆอยู่
ตงิดๆ นี้เราก็เขียนเป็น ตะหงิดๆ

งั้นขอถามหน่อยได้ไหมค่ะว่า นี่ นี้ อะมันใช้ยังงัย
เราใช้สองคำนี้ผิดบ่อยมากๆๆๆ

ออฟไลน์ [N]€ẃÿ{k}uñĢ

  • ~ῲเจ้าแม่Dramaῴ~
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดArtemis
  • *
  • กระทู้: 5186
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +740/-5
 o13 o13 o13
ของคุณพี่ฟางมากๆนะคราบ
สำหรับความรู้บางคำใช้ผิดมานานพึ่งจะรู้ตัว
อิริยาบถ มุก ... เยอะมากมาย
เลยช่วยหาคำอื่นที่มักใช้ติดมาจากเอ็มให้อ่านกัน
คำที่มักเขียนผิด
1.สำอาง แปลว่า เครื่องแป้งหอม งามสะอาด ที่ทำให้สะอาด มักเขียนผิดเป็นคำว่า “สำอางค์” ไม่รู้ (ค์) มาจากไหน ?

2.พากย์ แปลว่า คำพูด คำกล่าวเรื่องราว ภาษา มักเขียนผิดเป็นคำว่า “พากษ์” ที่เขียนผิดประจำนี่ คงติดภาพมาจากคำว่า วิพากษ์(วิจารณ์)

3.เท่ แปลว่า เอียงน้อยๆ โก้เก๋ มักเขียนผิดเป็นคำว่า “เท่ห์” ติดมาจากคำว่า “สนเท่ห์” หรือไงนะ?

4.โล่ แปลว่า เครื่องปิดป้องศาสตราวุธ มักเขียนผิดเป็นคำว่า “โล่ห์” สงสัยอยู่ในกรณีเดียวกับคำว่า “เท่”

5.ผูกพัน แปลว่า ติดพัน เอาใจใส่ รักใคร่ มักเขียนผิดเป็นคำว่า “ผูกพันธ์” ไม่ใช่คำว่า “สัมพันธ์” นะ

6.ลายเซ็น แปลว่า ลายมือชื่อ มักเขียนผิดเป็นคำว่า “ลายเซ็นต์” ติดมาจาก “เปอร์เซ็นต์” หรือเปล่า?

7.อีเมล แปลว่า จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ มักเขียนผิดเป็นคำว่า “อีเมล์” คำนี้เขียนกันผิดบ่อยๆ

8.แก๊ง แปลว่า กลุ่มคนที่ตั้งเป็นพวก(ในทางไม่ดี) มักเขียนผิดเป็นคำว่า “แก๊งค์” เอ่อ...มันมาจากคำภาษาอังกฤษว่า gang นะ การันต์มาจากไหน?

9.อนุญาต แปลว่า ยินยอม ยอมให้ ตกลง มักเขียนผิดเป็นคำว่า “อนุญาติ” ผิดกันเยอะจริงๆ สับสนกับคำว่า “ญาติ” หรือไง?

10.สังเกต แปลว่า กำหนดไว้ หมายไว้ ดูอย่างถ้วยถี่ มักเขียนผิดเป็นคำว่า “สังเกตุ” นี่ก็ผิดเยอะ คงติดมาจากคำว่า “สาเหตุ” ล่ะมั้ง?

11.ออฟฟิศ แปลว่า สำนักงาน ที่ทำงาน คำนี้มาจากภาษาอังกฤษว่า “office” มักเขียนผิดเป็นคำว่า “ออฟฟิต”

 

12.โคตร แปลว่า วงศ์สกุล เผ่าพันธุ์ ต้นตระกูล มักเขียนผิดเป็นคำว่า “โครต” คำยอดฮิตของวัยรุ่น ไม่รู้เพราะสับสนกับคำว่า “เปรต” หรือเพราะในเกมออนไลน์บางเกมเขาดซ็นเซอร์คำนี้ก็ไม่รู้ เลยดัดแปลงคำซะเลยจะได้พิมพ์ได้ แล้วก็ติดนิสัยเขียนผิดเป็น “โครต” เรื่อยมา

13.ค่ะ แปลว่า คำรับที่ผู้หญิงใช้ มักเขียนผิดเป็นคำว่า “คะ” ที่จริงคำนี้ไม่ได้เขียนผิดอะไรหรอก แต่ใช้เสียงสูงเสียงต่ำผิด ท้ายประโยคคำถามต้องใช้ “คะ” ก็เป็นใช้ “ค่ะ” ผิดที่ผิดทาง

14.เว็บไซต์ มาจากภาษาอังกฤษคำว่า “wab” แปลว่า ใยแมงมุม ตาข่าย และ “site” แปลว่า กำหนดสถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ มักเขียนผิดเป็นคำว่า “เว็ปไซด์” คำว่า “เวป” อาจติดมาจาก “WAP” ซึ่งแปลว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่คำว่า “ไซด์” ที่เขียนผิดอาจมาจากคำว่า “side” ที่แปลว่า ด้านข้าง เห็นด้วย (อันนี้ จขกท. ยอมรับว่าเขียนผิดเหมือนกัน)

15.เกม แปลว่า การแข่งขัน การละเล่นเพื่อความสนุก ลักษณะนามเรียกการแข่งขันจบลงคราวหนึ่งๆ มักเขียนผิดเป็นคำว่า “เกมส์” อันนี้เราไม่แน่ใจนะ แต่ถ้าจะให้มีความหมายในภาษาไทยต้องใช้ “เกม” เพราะมันมาจากคำว่า “game” ในภาษาอังกฤษ

16.ไหม แปลว่า ชื่อแมลงชนิดหนึ่งมีใยใช้ทอผ้า ในประโยคคำถาม มักเขียนผิดเป็นคำว่า “มั้ย” ที่เปลี่ยนไปอาจเป็นเพราะเพื่อให้เสียงสูงขึ้น แต่ก็ผิดนะขอบอก (คำว่า มั้ย จขกท. ยอมรับเลยว่าเขียนผิดจนติดนิสัยไปแล้ว)

17.ค้อน เขียนผิดเป็น “ฆ้อน” อาจสับสนกับ “ฆ้อง” ที่เป็นเครื่องดนตรี

การ เขียนภาษาไทยผิดๆ ถือเป็นคนละประเด็นกับการ ตั้งใจใช้ภาษาไทยแบบวิบัติ เพราะการเขียนคำผิดนี่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือรับรู้มาผิดๆ เท่านั้นเอง แก้ไขได้ไม่ยาก วิธีแก้ก็แค่หัดเขียนบ่อยๆ ให้มั้ยถูก เดี๋ยวก็หาย ส่วนการใช้ภาษาวิบัติที่ใช้กันมากในหมู่วันรุ่น เช่น
            หรอ     มาจากคำว่า     เหรอ
            อารัย    มาจากคำว่า     อะไร
            แร้ว      มาจากคำว่า     แล้ว
            ครัย      มาจากคำว่า     ใคร
            สาด     มาจากคำว่า     สัตว์
ที่มา:http://dek-d.com/board/view.php?id=1375536
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09-09-2009 23:08:19 โดย [N]€ẃÿ{k}uñĢ »

ออฟไลน์ Ak@tsuKII

  • Honeymoon
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดAphrodite
  • *
  • กระทู้: 3845
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +685/-3
 :pig4: :pig4:

ขอบคุณมากค่ะ

แต่ก่อนก็ใช่ เท่ห์ แบบนี้เหมือนกัน
แล้วมีวันนึงสงสัยงว่าเท่สะกดแบบไหนถึงจะถูก เลยเสิร์ชเปิด พจนานุกรม
จริงๆเลยรู้ว่า ที่ถูกคือ เท่   :z2:   




CoMMuNiTY Of ThAiBoYsLoVE

ประกาศที่สำคัญ


ตั้งบอร์ดเรื่องสั้น ขึ้นมาใครจะโพสเรื่องสั้นให้มาโพสที่บอร์ดนี้ ถ้าเรื่องไหนไม่จบนานเกิน 3 เดือน จะทำการลบทิ้งทันที
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=2160.msg2894432#msg2894432



รวบรวมปรับปรุงกฏของเล้าและการลงนิยาย กรุณาเข้ามาอ่านก่อนลงนิยายนะครับ
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=459.0



สิ่งที่ "นักเขียน" ควรตรวจสอบเมื่อรวมเล่มกับสำนักพิมพ์
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=37631.0






ออฟไลน์ M@nfaNG

  • ชีวิตคือการตรวจสอบ...
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดAphrodite
  • *
  • กระทู้: 4453
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +847/-18
ขอบคุณน้องนิวค่ะ สำหรับความรู้เพิ่มเติม
พี่ยอมรับเลยว่าบางคำใช้ผิดมาตลอด
อย่างเช่นคำว่า ไหม ในนิยายจะชอบเขียนไม๊ เพราะติดจากเสียงพูด แต่ก็ยังมีคนบอกว่าให้ใช้ 'มั้ย' ก็พออนุโลมให้ใช้ได้ในช่วงที่เป็นคำพูด
อย่างคำว่า 'ออฟฟิศ'  ก็ใช้ผิดมาตลอด เป็นออฟฟิซ :z3:

สำหรับคำถามของการใช้ นี่ นี้ ไม่กล้าตอบค่ะ กลัวตอบผิด แต่ถ้าใครรู้จะช่วยหามาตอบก็คงจะดี  :pig4:เพราะตัวเองก็ยัง ใช้คำว่า ล่ะ หละ หล่ะ นี่ เนี่ย อย่างไม่มั่นใจ
ตอนนี้ต้องใช้วิธีอ่านหนังสือแล้วคอยสังเกตและจดจำไว้

นิยายในเล้าหลายๆเรื่อง ก็ยังสับสนกับคำว่า หน้าตา ไปใช้เป็น น่าตา
หรือคำว่า ให้ ใช้เป็น หั้ย และอีกหลายๆคำ  ไม่รู้ว่าไม่รู้จริงๆหรือว่าเป็นภาษาวัยรุ่นก็ไม่แน่ใจ
อยากให้ปรับปรุงกันไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นภาษาของเราเอง  ถ้าเราใช้ภาษาที่ถูกต้องคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือตัวเราเองค่ะ

ถ้าใครไปเจอที่ไหนมาเพิ่มก็ช่วยกันมาลงนะคะ เพื่อให้คนอื่นได้ความรู้ไปด้วย :pig4:

ออฟไลน์ [N]€ẃÿ{k}uñĢ

  • ~ῲเจ้าแม่Dramaῴ~
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดArtemis
  • *
  • กระทู้: 5186
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +740/-5
นิยายในเล้ายังมีคำที่ใช้ผิดอยู่หลายคำจริงๆครับพี่ฟางจากที่นิวอ่านๆดู
เช่น   เครียด หลายเรื่องเขียนเป็น เคลียด
       โอกาส เขียนเป็น โอกาศ              
ที่ยกมานี่ คือ ที่เห็นแล้วรู้สึกว่าไม่น่าผิดเลย
จุดผิดอื่นๆดูเหมือนจะเป็นเรื่องของพิมพ์ผิด และความเคยชินจากเอ็ม

การใช้คำว่า นี่ กับ นี้
สองคำนี้จะออกแนวใช้เพื่อชี้เฉพาะ
"นี่"
เราสามารถใช้ได้หลายๆแบบ
ใช้แทนคำเพื่อสื่อว่าอยู่ใกล้ๆน่ะ: นี่หมายความว่าอะไร  นี่ใครกัน นี่คืออะไร
ใช้ขยายคำอื่นๆ: แมวนี่สวยดีครับ  ไข่ไก่นี่ดูสด  อยู่นี่ไง  มานี่เดี๋ยวนี้
ใช้ท้ายคำ(อันนี้น่าสนใจดีชอบๆเปิดเจอในพจนานุกรม): เดี๋ยวเฆี่ยนเสียนี่

นอกจากนี้ยังเห็นใช้อีกหลายคำนะครับไม่ได้ตายตัว เช่น นี่แน่ะ นี่แหละ นี่เอง นี่นั่น
เลยแอบลองเปิดพจนานุกรมดู ปรากฏว่ามีที่น่าสนใจอยู่คำ คือ นี่นัน
นี่นัน ใช้ในความหมายว่า อึกทึก (จริงๆยังไม่เคยเห็นมีใช้ที่ไหนมาก่อนเลย)

"นี้"
นี้เป็นคำที่ใช้ง่าย เท่าที่เห็นคือแบบใช้บอกเล่า กับ ในลักษณะเชิงคำถาม
เช่น ทุกวันนี้ ณ เวลานี้ ผู้หญิงคนนี้ (ลักษณะดูจะชี้เฉพาะ)
      การ์ตูนเล่มนี้วางอยู่ตรงไหน (สังเกตว่าแสดงความเจาะจงแต่ในลักษณะคำถาม)

ล่ะ หล่ะ และ หละ
"ล่ะ"
ใช้เพื่อเน้นเสียงให้ฟังแล้วแบบเหมือนเราจะต้องตอบรับว่างั้น
เช่น จริงหรือเปล่าล่ะ  ตรงนี้ใช่ไหมล่ะ

"หล่ะ"
ไม่รู้วิธีใช้ ลองเปิดพจนานุกรมดูไม่มีความหมายงั้นหมายความว่าอย่าใช้เลยครับ 555+

"หละ"
คำนี้ถ้าในทำนองของการออกเสียง ดูเหมือนกับว่าจะถูกแต่เอาเข้าจริง
หละ เป็น ชื่อโรคอย่างหนึ่งพบในเด็กเล็กเท่านั้น
แต่ก็เห็นมีใช้ แต่คำว่า หละหลวม เท่านั้นครับ

นิว(LOVEis)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10-09-2009 00:51:07 โดย [N]€ẃÿ{k}uñĢ »

mecon

  • บุคคลทั่วไป
^
^
เก่งที่ซู้ด น้องนิว :จุ๊บๆ: ขอบคุณนะคะ

อ่านแล้วสะท้อนใจติดภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน
ภาษาวิบัติหมด  ข้าน้อยแย่จริงๆ


crazykung

  • บุคคลทั่วไป
น้องๆอ่านทีอาจจะทำคะแนนสอบ แอดมินภาษาไทยได้เต็ม

แต่ข้าพเจ้าเกินเยียวยาแล้ว

ภาษาไทยไม่เข้าหัวเลยแงๆๆๆ

ออฟไลน์ [N]€ẃÿ{k}uñĢ

  • ~ῲเจ้าแม่Dramaῴ~
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดArtemis
  • *
  • กระทู้: 5186
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +740/-5
 :z2: :z2: :z2:
เรื่องของคำผิดยิ่งอ่านยิ่งได้ความรู้ บางอย่างที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้มากขึ้น
มีคำอีกจำนวนหนึ่งที่ไปอ่านเจอแล้วคิดว่าน่าสนใจเลยนำมาแปะให้อ่าน
"ราด" กับ "ลาด"
          เคยเห็นป้ายว่า “ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า” บ้าง “ลาดหน้า” บ้าง  ร้านขายก๋วยเตี๋ยวมักจะเห็นเขียนไว้อย่างนั้นจริง ๆ  สิ่งที่จะช่วยให้เราเกิดความมั่นใจได้ ก็คือพจนานุกรม  เพราะเป็นหนังสือที่อ้างอิงที่ถูกต้องที่สุดที่จะอธิบายความหมายของคำได้ ในพจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า “ราด” ว่า ถ้าเป็นคำกริยา มีความหมายว่า “เทของเหลว ๆ  เช่นน้ำให้กระจายแผ่ไป หรือเพรื่อเรี่ยรายไปทั่ว"    
          ส่วนคำว่า “ลาด” ถ้าเป็นคำกริยามีความหมายว่า  “ปูแผ่ออกไป เช่น ลาดพรม,  ถนนลาดยาง, เดินตรวจ (ลาดตระเวณ)  ถ้าเป็นคำวิเศษณ์ มีความหมายว่า  “แผ่แบนลงไป ต่ำลงทีละน้อย ไม่ชัน”  เพราะฉะนั้นการใช้คำนี้กับก๋วยเตี๋ยวจึงต้องใช้ว่า  “ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า” แน่นอน ตัวอย่างข้อความที่ใช้คำว่า  “ราด และ  “ลาด

การใช้คำว่า "เผอเรอ"  ไม่ใช่ "เผลอเรอ"
          ก็มักเป็นคำที่ใช้กันผิด และเวลาเราใช้คำนี้ มักจะมีคนทักท้วงเสมอว่า “เอ๊ะ เราใช้ผิดหรือเปล่า” ตามความหมายในพจนานุกรม  "เผอเรอ" มีความหมายว่า เลินเล่อ ไม่รอบคอบ สุรุ่ยสุร่าย เช่น  "การทำงานที่เกี่ยวกับการเงินต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบมาก จะทำเผอเรอ  ให้ผิดพลาดไม่ได้" หรือตัวอย่างประโยค  "คนทุกคนไม่ควรใช้จ่ายให้เผอเรอ ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องประหยัด"        
          ส่วนคำว่า "เผลอ" มีความหมายว่า หลงลืม ไม่ระวังตัว  คำ  "เผอเรอ"  บ่งบอกถึงความหลงลืมหรือไม่ระมัดระวังตัวอย่างมาก จนถึงขั้นเลินเล่อ ไม่รอบคอบ หรือขาดความระมัดระวังตัวไปเลย จึงควรใช้คำนี้อย่างระมัดระวัง  อย่าใช้ เผลอ แทน เผอเรอ หรือ ใช้ เผอเรอ แทน เผลอ หรือไปใช้ผิดเป็น เผอเรอ (ออกมาเพราะกิน,  อิ่มมาก)
        
"เผยแพร่" กับ "เผยแผ่"
          "เผยแพร่"เป็นอีกคำที่มักจะใช้กันผิดอยู่เสมอ เช่น ใช้ว่า "เผยแพร่ศาสนา" ที่ถูกต้อง ต้องใช้ว่า  "เผยแผ่ศาสนา" มักใช้สับสนกับคำว่า "เผยแพร่" มีความหมายว่า การโฆษณาให้แพร่หลาย สิ่งที่โฆษณานั้นจะดี  หรือไม่ดีก็ได้ ผู้เผยแพร่ไม่ได้คำนึงถึงผู้รับ  หวังผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว เช่น การโฆษณาเผยแพร่สินค้าต่าง ๆ การเผยแพร่ชื่อเสียงของบริษัท การเผยแพร่ชื่อเสียงของโรงเรียน การเผยแพร่กิจกรรมการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  เหล่านี้ใช้ เผยแพร่
           ส่วนคำว่า "เผยแผ่" คือการทำให้ขยายออกไป  หรือ การขยายออกไปด้วยการยกเอาความดีเด่นของสิ่งที่จะเผยแผ่มาทำให้ปรากฎแก่ผู้รับ ทำให้ผู้รับได้รู้ ได้ทราบในสิ่งที่ยังไม่รู้ไม่ทราบ  หรือทราบอยู่บ้างแล้ว หรือรู้อยู่บ้างแล้วจะได้รู้และทราบแจ่มแจ้งขึ้น แต่ไม่มีการบังคับให้เชื่อ หรือจำต้องรับเอาแต่ประการใด เป็นการยกเอาความดีเด่นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในตัวมาตีแผ่ให้ปรากฎ  เช่น  “การเผยแผ่ศาสนา” ได้แก่การเสนอความดีของศาสนาให้ปรากฏแก่ผู้รับ หรือการเผยแผ่ลัทธิ  ก็คือการเสนอให้เห็นว่าลัทธิดังกล่าวนั้นมีดีอย่างไร  

ที่มา:http://poobpab.com/content/lakpasa/wrong_word.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10-09-2009 01:44:08 โดย [N]€ẃÿ{k}uñĢ »

imageriz

  • บุคคลทั่วไป
^
^
 :z13: น้องนิว

 :pig4: ค่ะ รู้สึกว่าตัวเองก็ใช้หลายคำผิดเหมือนกัน
อย่างคำว่า เกม เมื่อก่อนก็ใช้ เกม แต่ไป ๆ มา ๆ ไม่รู้ไปเห็นจากไหน เลยใช้ เกมส์
 :pig4:

ออฟไลน์ M@nfaNG

  • ชีวิตคือการตรวจสอบ...
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดAphrodite
  • *
  • กระทู้: 4453
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +847/-18
ขอบคุณน้องนิวค่ะ ที่ช่วยให้ความกระจ่าง คาดว่าต้องกลับไปแก้ที่ตัวเองเขียนผิดมากมาย :z10:

วันนี้มีมาฝากอีก  ที่มาจากเวบนี้ http://www.oknation.net/blog/nana/2007/11/08/entry-1


พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำเหล่านี้เอาไว้ดังนี้


" พันธุ์   น.พวกพ้อง, พี่น้อง, วงศ์วาน. (ป., ส.) ; เทือกเถา, เหล่ากอ ; พืช. "


" พรรณ์   น.สีของผิว ; ชนิด. "


" พรรค์   น.หมู่คนที่เข้ารวมกันเป็นพวกเป็นฝ่าย. "


ดังนั้น เมื่อเราพูดว่า " คนพันธุ์นั้น " ก็ต้องหมายความว่า คนพวกนั้น


ถ้าเราพูดว่า " ของพรรณ์นี้ " ก็ต้องหมายความว่า ของชนิดนี้


ถ้าบอกว่า " ไอ้พวกพรรค์นี้ " ก็ต้องหมายถึง คนหมู่นี้ หรือฝ่ายนี้


ทั้งสามคำเป็นคำนามเหมือนกัน แต่ต้องใช้ให้ถูกชนิดในความหมายของคำ
................ ไม่อย่างนั้น ก็ถือว่าเขียนผิด ..................
เช่น ถ้าพูดว่า " ของพันธุ์นี้ " อย่างนี้ถือว่าผิด
หรือ " คนพรรณ์นี้ " นี่ก็ผิดอีกเหมือนกัน.

ซักไซ้ กับคำว่า ซักไซร้ คำไหนที่ควรใช้...............

ดูจากรูปคำทั้งสองนี้แล้ว น่าจะนิยมเขียนคำว่า " ซักไซร้ " กันมากกว่า
เพราะความน่าจะเหมาะน่าจะควรกว่ากัน แต่แม้จะรูปสวยก็ถือว่าเขียนผิด


คำว่า " ไซร้ " คำเดียว เป็นคำวิเศษณ์ใช้เป็นคำสำหรับเน้นความหมายของคำหน้า
มีความหมายไปในทางว่า อย่างนั้น เช่นนั้น ทีเดียว


แต่คำว่า " ซักไซ้ " เป็นคำกริยา หมายถึง การไต่ถามไล่เลียงให้ถี่ถ้วน
เป็นลูกคำของคำว่า " ซัก " อีกทีหนึ่ง


" ซัก " เป็นคำกริยา คือ อาการที่ทำให้สะอาดด้วยน้ำ หรือไล่เลียงให้กระจ่างแจ้ง
มีลูกคำ เช่น " ซักซ้อม " เป็นคำกริยาเช่นกัน หมายถึง สอบให้แม่นยำ หรือ
สอบให้คล่อง หรือแนะกันเอาไว้ล่วงหน้า บางทีก็ใช้คำว่า " ซ้อมซัก " กลับกันก็ได้
ลูกคำอีกคำหนึ่ง คือ " ซักฟอก " ใช้เป็นคำกริยา คือ การชำระให้หมดมลทิน
หรือ ซักถามให้ได้ความจะแจ้ง บางทีก็ใช้กลับคำเป็น " ฟอกซัก " ก็มี
ลูกคำอีกคำคือ " ซักแห้ง " เป็นคำกริยาด้วย คือ การทำความสะอาดเสื้อผ้า
หรือสิ่งทอต่างๆด้วยวิธีพิเศษ เช่น ใช้สารเคมีโรยบนรอยเปื้อนแล้วปัดออก
หรือแช่ลงในสารละลายเคมี


และลูกคำสุดท้าย ก็คือ  " ซักไซ้ " ใช้ ซ.โซ่สองตัวและไม่มี ร.เรือ

ฉับพลัน กับคำว่า เฉียบพลัน ต่างกันอย่างไร

คำว่า " เฉียบพลัน" เดิมเป็นคำที่ใช้ในวงการแพทย์ มีความหมายว่า แรงมาก
ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Acute มีความรุนแรงยิ่งกว่าฉับพลัน
เนื่องจากเป็นคำใหม่และใช้กันในวงจำกัด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2493 จึงยังไม่มีการเก็บคำนี้ไว้ ภายหลังเมื่อมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย
จึงได้เก็บคำนี้ไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ดังนี้


เฉียบ ว.ยิ่งนัก, จัด เช่น เย็นเฉียบ, คมเฉียบ. เฉียบขาด  ว.เด็ดขาด.
เฉียบพลัน ว.รุนแรงมาก. เฉียบแหลม ก.ฉลาดหลักแหลม.


ส่วนคำว่า " ฉับพลัน " พจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า
ฉับ, ฉับๆ ว.อาการที่พูดหรือฟันอย่างรวดเร็ว เช่น ฟันฉับๆ ; เสียงดัง
เช่นนั้น. ฉับพลันทันทีทันใด ทันทีทันควัน ฉับไว ว.รวดเร็ว

บัณฑิต กับคำว่า บัณฑิตย์
ต่างกันตรง ย.ยักษ์การันต์เท่านั้น และคำทั้งสองก็ใช้เป็นคำนาม
เหมือนกันทั้งสองคำ แต่จะใช้ในความหมายที่ต่างกัน...


"บัณฑิต" อ่านว่า  บัน-ดิด  เป็นคำนามหมายถึง ผู้ทรงความรู้
ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ เรียกผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี 3 ขั้น คือ
ปริญญาตรี  ว่า  บัณฑิต
ปริญญาโท  ว่า  มหาบัณฑิต
ปริญญาเอก  ว่า  ดุษฎีบัณฑิต
หรือเรียกผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกำเนิด
เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี...


ส่วนคำว่า "บัณฑิตย์" ซึ่งก็อ่านว่า  บัน-ดิด  เหมือนกัน
เป็นคำนาม หมายถึง ความรอบรู้ การเรียน และความเป็นบัณฑิต...


สังเกตให้ดีว่า ความหมายไม่เหมือนกัน
อันหนึ่งหมายถึง ตัวคน
แต่อีกอันหนึ่งหมายถึง ตัวองค์ความรู้ การเรียนรู้...




 ขอบคุณที่ติดตาม ภาษาไทยวันละนิด ค่ะ :pig4:



SuMoDevil

  • บุคคลทั่วไป

เห็นกระทู้แบบนี้แล้วดีใจจังเลยครับ  อย่างน้อยก็ได้รู้ว่ายังมีคนที่อนุรักษ์ภาษาไทยอยู่เหมือนกัน  ขอบคุณ จขกท. และคนที่เอาความรู้มาให้อ่านกันด้วยครับ

มีคนถามถึงคำว่า เกม หรือ เกมส์  จริงๆแล้วใช้ได้ทั้งคู่นะครับ  แต่ความหมายจะไม่เหมือนกัน  เป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษตรงตัวเลยครับ นั่นคือ game และ games

เกม จะใช้กับ การเล่นที่มีประเภทของการแข่งขันแบบเดียวตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ
เช่น  เล่นวินนิ่ง  เล่นดอทเอ  เล่นฟุตบอล  เล่นบาสเกตบอล  ถึงแม้จะเป็นทัวร์นาเม้นท์  ก็เรียก เกม  เพราะมีเฉพาะบอลหรือบาส อย่างเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ


เกมส์  จะใช้กับ  การเล่นที่มีประเภทของการแข่งขันหลายรายการ
ที่ใกล้ตัวเราที่สุดและทุกคนเคยผ่านมาแล้วคือ กีฬาสี  เพราะประกอบไปด้วยกีฬาหลายประเภท เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล ปิงปอง อะไรก็ว่าไป
สังเกตได้ง่ายๆจากชื่อของงานนั่นละครับ  เช่น นิลุบลเกมส์  ราชพฤกษ์เกมส์  จามจุรีเกมส์  เป็นต้น

รวมทั้ง กีฬาระดับชาติ  ที่มีการแข่งขันหลายประเภทก็เช่นเดียวกัน  บางกอกเกมส์  ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ โอลิมปิกเกมส์
o13
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10-09-2009 11:31:56 โดย SuMoDevil »

ออฟไลน์ manami1155

  • ~I Still Love You~
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1749
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +99/-1
ขอบคุณสำหรับการตอบคำถามค่า
+1 ให้คุณ [N]€ẃÿ{k}uñĢ
ขอบคุณมากๆค่ะ

ต่อไปก็จะพยายามใช้ นี่ กับ นี้ให้ถูกต้องมากขึ้น

วันนี้ก็ขอถามอีกค่ะว่าคำว่าเขินที่ถูกต้อง ต้องเป็น "เขิน" หรือ "เขิล" ค่ะ
โดยปกติแล้วเราใช้เขิน แต่เห็นคนอื่นใช้เขิลกันเลยชักไม่มั่นใจในตัวเอง แหะๆ ><"

ออฟไลน์ [N]€ẃÿ{k}uñĢ

  • ~ῲเจ้าแม่Dramaῴ~
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดArtemis
  • *
  • กระทู้: 5186
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +740/-5
+1 ให้พี่ฟาง และรีบน เลยครับ
คำเหล่านี้ใช้ยากทั้งสิ้น
ขอบอกเลยว่า พันธุ์ พรรณ์ และ พรรค์ เกิดมายังไม่เคยใช้ถูกเลยเป็นอะไรที่แปลกดี
คำว่า เกม และ เกมส์ ก็ใช้กันจนติดว่าต้อง เกมส์ ขอบคุณ สำหรับความรู้

“ฉับพลัน” และ “เฉียบพลัน”
นิว ขอพูดตามที่เข้าใจเพิ่มเติมนะครับ
ฉับพลัน หมายถึง ทันทีทันใด หรือ ทันทีทันควัน
ตัวอย่างเช่น
น้ำป่า และน้ำหลาก มีมากกว่าปีก่อนๆ อาจเป็นเหตุให้เกิด น้ำท่วมโดยฉับพลันได้
ผู้ที่จะมาบริหารประเทศ ต้องมีความเข้าใจ ในปัญหา
ตัดสินใจอย่างฉลาด และ ฉับพลัน จึงจะช่วยพยุงประเทศให้ก้าวต่อไปได้

เฉียบพลัน หมายถึง เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงมาก มักใช้กับ “โรค” หรือ “อาการเจ็บป่วย”
ลักษณะการใช้มีตัวอย่างที่ใกล้ตัว นิว มาก 555+
คือ นิวมีอาการของโรค ลมพิษ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เด็กเรียกได้ว่า
มีอาการลมพิษแบบเรื้อรัง (ซึ่งคำว่าเรื้อรัง มีความหมายตรงกันข้ามกับ เฉียบพลัน)
เรื้อรัง หมายถึง ช้านาน หรือ นานหาย (ใช้สำหรับโรค)
ในขณะที่บางคนเป็นลมพิษแบบอยู่ๆก็เป็นขึ้นมา ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้อาหาร หรือ อื่นใด เรียกว่ามีอาการลมพิษแบบเฉียบพลัน

ขอเพิ่มคำให้ได้อ่านกัน
“ปกติ” และ “ปรกติ”
สองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน คือ ธรรมดา เป็นไปตามเคย  ไม่ต่างจากธรรมดา  
ต่างเพียงแต่ที่มา
“ปกติ” มีที่มาจากภาษาบาลี และ
"ปรกติ" มีที่มาจาก ภาษาสันสกฤต
เช่น เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นไปโดยปกติ ไม่มีเรื่องให้น่าวิตก
      วันนี้อากาศกำลังดี ฟังข่าวว่า อากาศแบบนี้น่านอนอบู่บ้าน มันก็เป็นเรื่องปรกติ
นิว(LOVEis)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20-09-2009 04:19:40 โดย [N]€ẃÿ{k}uñĢ »

CoMMuNiTY Of ThAiBoYsLoVE






ออฟไลน์ dahlia

  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดAphrodite
  • *
  • กระทู้: 4239
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +695/-4
ที่ผ่านมา ผิดเพียบ อ่านแล้วรู้สึกเหมือนตัวจบภาษาไทยแค่ป. 4  อนาถ....จริงๆ :z3:
ขอบคุณทุกท่านมากนะคะ

ออฟไลน์ [N]€ẃÿ{k}uñĢ

  • ~ῲเจ้าแม่Dramaῴ~
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดArtemis
  • *
  • กระทู้: 5186
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +740/-5
ขอบคุณสำหรับการตอบคำถามค่า
+1 ให้คุณ [N]€ẃÿ{k}uñĢ
ขอบคุณมากๆค่ะ

ต่อไปก็จะพยายามใช้ นี่ กับ นี้ให้ถูกต้องมากขึ้น

วันนี้ก็ขอถามอีกค่ะว่าคำว่าเขินที่ถูกต้อง ต้องเป็น "เขิน" หรือ "เขิล" ค่ะ
โดยปกติแล้วเราใช้เขิน แต่เห็นคนอื่นใช้เขิลกันเลยชักไม่มั่นใจในตัวเอง แหะๆ ><"

มาตอบให้จ้ะ คำว่า
"เขิน" และ "เขิล"
คำที่เขียนถูก คือ เขิน หมายถึง รู้สึกกระดากอาย
เวลาใช้ในส่วนของการบรรยายเรื่อง หรือ เขียนตามหลักภาษาก็ควรใช้ เขิน
แต่หากนึกถึงเวลาใช้ภาษาพูด เขิล ก็จัดว่าใช้ได้
นั้นเวลาใช้ เขิล ใช้ใน บทสนทนา ภายใต้ " " ก็ไม่ผิด
เพื่อความสมจริงของการออกเสียง  เช่น "บ้าๆๆๆ เขิลอะอย่าพูดสิ"
เช่นเดียวกับคำว่า
งอน และ งอล ในเวลาใช้พูดจริงๆเราจะพูดด้วยเสียงคล้าย งอล
เช่น "เค้างอลล่ะ ไปไกลๆเลย"
นิว(LOVEis)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20-09-2009 04:21:16 โดย [N]€ẃÿ{k}uñĢ »

imageriz

  • บุคคลทั่วไป
ตามมา +1 ให้คุณฟาง น้องนิว และคุณSuMoDevil
อ่านแล้วรู้สึก ว่ามีหลายคำเขียนผิดบ่อยมาก อย่างคำว่า พันธุ์ บางครั้งจะสับสนกับคำว่า พันธ์
ซึ่งความหมายมันต่างกัน  
ถ้าจะพูดตรง ๆ นอกจากคำทั่วไปแล้ว
ยังมีคำราชาศัทพ์ที่เราไม่ค่อยได้ใช้กัน ทำให้ลืมกันไป
ง่าย ๆ เลย อย่างคำว่า "ถวายพระพร" กลายมาเป็น "อวยพร" เฉย ๆ อย่างงั้น
ฟังแล้วมันทำให้รู้สึกไม่ดีเท่าไรเลยค่ะ
 :pig4:ที่มาให้ความรู้ค่ะ

ออฟไลน์ manami1155

  • ~I Still Love You~
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1749
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +99/-1
ขอบคุณสำหรับการตอบคำถามค่า
+1 ให้คุณ [N]€ẃÿ{k}uñĢ
ขอบคุณมากๆค่ะ

ต่อไปก็จะพยายามใช้ นี่ กับ นี้ให้ถูกต้องมากขึ้น

วันนี้ก็ขอถามอีกค่ะว่าคำว่าเขินที่ถูกต้อง ต้องเป็น "เขิน" หรือ "เขิล" ค่ะ
โดยปกติแล้วเราใช้เขิน แต่เห็นคนอื่นใช้เขิลกันเลยชักไม่มั่นใจในตัวเอง แหะๆ ><"

มาตอบให้ครับ คำว่า
"เขิน" และ "เขิล"
คำที่เขียนถูก คือ เขิน หมายถึง รู้สึกกระดากอาย
เวลาใช้ในส่วนของการบรรยายเรื่อง หรือ เขียนตามหลักภาษาก็ควรใช้ เขิน
แต่หากนึกถึงเวลาใช้ภาษาพูด เขิล ก็จัดว่าใช้ได้
นั้นเวลาใช้ เขิล ใช้ใน บทสนทนา ภายใต้ "" ก็ไม่ผิด
เพื่อความสมจริงของการออกเสียง  เช่น "บ้าๆๆๆ เขิลอะอย่าพูดสิ"
เช่นเดียวกับคำว่า
งอน และ งอล ในเวลาใช้พูดจริงๆเราจะพูดด้วยเสียงคล้าย งอล
เช่น "เค้างอลล่ะ ไปไกลๆเลย"
นิว(LOVEis)

^
^
กระจ่างแจ่มแจ้งเลยทีนี้
ขอบคุณมากๆนะคะ :pig4:[/size]

ออฟไลน์ [N]€ẃÿ{k}uñĢ

  • ~ῲเจ้าแม่Dramaῴ~
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดArtemis
  • *
  • กระทู้: 5186
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +740/-5
ขอเพิ่มเองสักสามคำ
“โครต” และ “โคตร”
โคตร เป็นอีกคำหนึ่งที่พึ่งจะรู้ว่าเขียนผิดมาตลอด ปกติแล้วจะเขียนเป็นคำว่า โครต
วันนี้เลยได้ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำนี้เพิ่มเติมดู
เพราะลองแอบเปิดพจนานุกรมแล้วผิด ทั้งที่คิดว่าถูก 555+
โคตร มีแม่ตัวสะกดเป็น แม่ กด ซึ่งพิจารณาได้จากเสียง โคด หมายความว่า เสียง /ด/ มาจาก ตร นั่นเอง อิๆ

“ประณีต” และ “ปราณีต”
ประณีต  เขียนผิดเป็น ปราณีต
ประณีต  หมายถึง ละเอียดลออ(มักทำด้วยมือ)
ซึ่ง ปราณีต ไม่มีความหมาย เราจะพบแต่คำว่า ปราษณี แปลว่า ส้นเท้า 555+

“ขยักขย่อน” และ “ขยักขย้อน”
ขยักขย่อน (~ขะหย่อน) หมายถึง ทำ ๆ หยุด ๆ ไม่ให้เสร็จในรวดเดียว
ขยักขย้อน (~ขะย้อน) หมายถึง มีอาการพะอืดพะอมจวนจะอาเจียน

หาแหล่งข้อมูลมาเพิ่มเติมให้ครับเพราะเป็นเรื่องน่ารู้ทั้งสิ้น

คะยั้นคะยอ
หมายถึง ชักชวนให้ตกลงใจด้วยการรบเร้า เห็นชอบเขียนเป็น ขยั้นขยอ

หยากไย่ หยักไย่ หมายถึง ใยแมงมุมที่ติดค้างอยู่ในที่ต่าง ๆ
มักเขียนผิดเป็น หยากใย่

มนเทียร, มณเฑียร เขียนได้ 2 แบบ
แต่บางคนสะกดผิดเป็น มณเทียร หรือ มนเฑียร

ล่ำลา, ร่ำลา(แต่เดิมใช้คำนี้จึงยังอนุโลมให้ใช้ต่อ) ที่ถูกจริงๆควรใช้คำว่า ล่ำลา

เดียดฉันท์ บางคนสะกดผิดเป็น เดียจฉันท์

เบญจเพส หมายถึง ยี่สิบห้า (เพสหมายถึงยี่สิบ) บางคนสะกดผิดเป็น เบญจเพศ

อุทธรณ์ หมายถึง ศาลชั้นกลาง บางคนสะกดผิดเป็น อุธรณ์

บังสุกุล เห็นหลายๆวัดเขียนว่า"บังสกุล" จริงๆคือ บังสุกุล แปลว่า เปื้อนฝุ่น ผ้า

ปีติ ที่ส่วนใหญ่มักจะเขียนผิดกันเป็น ปิติ

ธนาคารเลือด
เป็นคำที่ใช้ผิดความหมายมาก ธนาคาร = ธน + อาคาร (ธน แปลว่า เงิน)
ต้องใช้คำว่า “คลังเลือด” ถึงจะถูกต้อง

ที่มา:http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/02/K5110885/K5110885.html

อันสุดท้ายเป็นเรื่องของวิธีการจำคำที่ถูก
คำที่มี  ญ  สะกด  มี  ๔๖ คำ

                      ลำเค็ญครวญเข็ญใจ                    ควาญช้างไปหานงคราญ
             เชิญขวัญเพ็ญสำราญ                            ผลาญรำคาญลาญระทม
                      เผอิญเผชิญหาญ                        เหรียญรำบาญอัญขยม
             รบราญสราญชม                                  ดอกอัญชันอัญเชิญเทอญ  
                      ประจญประจัญบาน                      ผจญการกิจบังเอิญ
             สำคัญหมั่นเจริญ                                  ถือกุญแจรัญจวนใจ
                      รามัญมอญจำเริญ                       เขาสรรเสริญไม่จัญไ-
             ชำนาญชาญเกรียงไกร                           เร่งผจัญตามบัญชา
                      จรูญบำเพ็ญยิ่ง                           บำนาญสิ่งสะคราญตา
             ประมวญชวนกันมา                               สูบกัญชาไม่ดีเลย    

การเขียน  บัน  และ  บรร

              คำไทยที่ใช้  บัน  นำหน้า  คำไทยที่ปรากฏนอกจากกลอนนี้ให้ใช้  บรร

                        บันดาลลงบันได                       บันทึกให้ดูจงดี
               รื่นเริงบันเทิงมี                                  เสียงบันลือสนั่นดัง
                        บันโดย บันโหยให้                    บันเหินไปจากรวงรัง
               บันทึงถึงความหลัง                             บันเดินนั่งนอนบันดล  
                        บันกวดเอาลวดรัด                     บันจวบจัดตกแต่งตน
               คำ  บัน  นั้น ฉงน                               ระวังปน  กับ  ร - หัน
              
ตัว  ทร  ที่  ออกเสียง  ซ    มีใช้อยู่  ๑๗  คำ
                      
                        ทรวดทรงทราบทรามทราย          ทรุดโทรมหมายนกอินทรี
               มัทรี  อินทรีย์มี                                 เทริด  นนทรี  พุทราเพรา
                        ทรวงไทรทรัพย์แทรกวัด             โทรมนัสฉะเชิงเทรา
               ตัว  ทร  เหล่านี้เรา                            ออกสำเนียงเป็นเสียง  ซ  

คำที่ใช้  จ  สะกด

                         ตำรวจตรวจคนเท็จ                  เสร็จสำเร็จระเห็จไป
               สมเด็จเสด็จไหน                              ตรวจตราไวดุจนายงาน
                         อำนาจอาจบำเหน็จ                 จรวดระเห็จเผด็จการ
               ฉกาจรังเกียจวาน                              คนเกียจคร้านไม่สู้ดี
                         แก้วเก็จทำเก่งกาจ                  ประดุจชาติทรพี
               โสรจสรงลงวารี                                กำเหน็จนี้ใช้ตัว  จ

คำไทยที่ใช้  ตัว  ล  สะกด  

                            ตำบลยุบลสรวล                  ยลสำรวลนวลกำนล
                   บันดาลในบันดล                          ค่ากำนลของกำนัล
                            ระบิลกบิลแบบ                   กลทางแคบเข้าเคียมคัล
                   ดลใจให้รางวัล                            ปีขาลบันเดินเมิลมอง      

ที่มา:
จากหนังสือหลักภาษาไทย ของอาจารย์กำชัย ทองหล่อ กรุงเทพ:อมรการพิมพ์ ๒๕๔๕
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20-09-2009 04:21:48 โดย [N]€ẃÿ{k}uñĢ »

Abracadabra

  • บุคคลทั่วไป
 :z13: จิ้มบวกให้พี่ฟาง

ขอบคุณมากๆนะครับ

บางที บางคำก็พอรู้บ้าง แต่ติดที่ภาษาแชทมันเข้ามามีอิทธิพลมากกว่าอ่ะครับ

แต่หลายคำก็เริ่มไม่แน่ใจว่าว่า เอ๊ะ ! ตกลงคำนี้สะกดยังไง

ออฟไลน์ M@nfaNG

  • ชีวิตคือการตรวจสอบ...
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดAphrodite
  • *
  • กระทู้: 4453
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +847/-18
  o13  กลอนที่น้องนิวเอามาลง ดีมากๆเลยวันหลังคำไหนไม่แน่ใจต้องลองมาอ่านดู ขอบคุณนะคะที่ช่วยหามาลง
พี่ก็งูๆปลาๆ  :laugh:ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
แค่อยากเอามาลงไว้เผื่อเวลาสงสัยจะได้มาหาดูง่ายๆ
วันนี้ไปหาคำว่าซีฟู้ดส์ แต่ไม่เจอ ไปได้พวกนี้มา รู้ไว้ใช่ว่าค่ะ ใช้กันบ่อยๆ

รายการคำทับศัพท์รวบรวมจากการสะกดตามราชบัณฑิตยสถาน

address = แอดเดรส
air = แอร์
alcohol = แอลกอฮอล์
arabic = อารบิก
art = อาร์ต
board = บอร์ด
band = แบนด์
brake = เบรก
bar = บาร์
bank = แบงก์
cake = เค้ก
calorie = แคลอรี
card = การ์ด
catalog = แค็ตตาล็อก
charge = ชาร์จ
chocolate = ช็อกโกแลต, ช็อกโกเลต
concert = คอนเสิร์ต
copy = ก๊อปปี้
counter = เคาน์เตอร์
cookie = คุกกี้
click = คลิก
check = เช็ก
classic = คลาสสิก
disc = ดิสก์
download = ดาวน์โหลด
drive = ไดร์ฟ
down = ดาวน์
email = อีเมล
film = ฟิล์ม
gas = แก๊ส
internet = อินเทอร์เน็ต
jeans = ยีนส์
jackpot = แจ็กพอต
knock = น็อก
lift = ลิฟต์
microphone = ไมโครโฟน
note = โน้ต
notebook = โน้ตบุ๊ก
picnic = ปิกนิก
plug = ปลั๊ก
postcard = โปสต์การ์ด
pump = ปั๊ม
quota = โควตา
shirt = เชิ้ต
shock = ช็อก
script = สคริปต์
software = ซอฟต์แวร์
switch = สวิตช์
steak = สเต๊ก
technique = เทคนิค
vaccine = วัคซีน
vitamin = วิตามิน
web site = เว็บไซต์
x-ray = เอกซเรย์
zigzag = ซิกแซ็ก
 :L2:

ที่มา http://www.oknation.net/blog/prapun12/2009/08/03/entry-1/comment

ออฟไลน์ oaw_eang

  • Global Moderator
  • เป็ดHades
  • *
  • กระทู้: 8418
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +2122/-586
ว้าก  มีเขียนผิดอยู่หลายตัวเลยอะ


**********************

กฎ - รวมไปถึงคำอื่น ๆ เช่น กฎเกณฑ์ กฎหมู่ (ผู้คุมกฎ ก็ใช้แบบนี้ครับ) มักสะกดผิดเป็น “ฏ” คงไปนึกเทียบกับคำว่า ปรากฏ กบฏ  *ข้อสังเกต : ถ้าคำพยางค์เดียว ใช้ ฎ ชฎา แต่ถ้าคำสองพยางค์ ลงด้วย ฏ ปฏัก = อันนี้เข้าใจถูกอยู่แล้ว  :เฮ้อ:

กะพริบ - เช่น กะพริบตา มักเขียนผิดเป็น “กระพริบ” กันมากด้วย  = เหมือนกับ กะเพรา เลย

ช็อก - สภาพที่ร่างกายเสียเลือดมาก , สะเทือนใจรุนแรง , ถูกกระแสไฟฟ้า เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า shock  = ชอบสะกดด้วย ค ตลอดเลย

เช็ก - ตรวจสิ่งต่าง ๆ เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า check (ส่วน “เช็ค” หมายความถึงพวกเช็คที่เป็นสมุดครับ อย่างเช่นเขียนเช็คจ่ายสด มาจากคำอังกฤษว่า cheque)

ตงิด - เช่น หิวตงิด ๆ ออกเสียงว่า “ตะหงิด” จึงมักเขียนผิดไปตามเสียงอ่าน = เขียนผิดเหมือนกัน อิอิ

เท่ - มักเขียนผิดเป็น “เท่ห์” (อย่างหลังนี่จะเขียนเป็น “สนเท่ห์” ที่แปลว่า สงสัย ครับ) = ชอบใส่ ห์ ด้วยอะ แงๆ

นัยน์ตา - (เจอบางคนใช้ นัยตา , นัยย์ตา หรือแม้แต่ นัยต์ตา ก็มี) = ชอบเขียนเป็น นัยตา อยุ๋เรื่อย

ปาฏิหาริย์ - (บางคนใช้ ปาฏิหาร แบบหารเลขมาเลย) = ชอบลืม สระอิ ตลอดเลย

มนตร์ - เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์ แต่คำว่า “มนต์” จะใช้เกี่ยวกับพิธีการทางศาสนา เช่น สวดมนต์ = ความรู้ใหม่

โลกันตร์ - ชื่อขุมนรกที่มีการลงโทษหนักที่สุด ไม่ผุดไม่เกิด มักเขียนผิดเป็น “โลกันต์”  = ชอบเขียนผิดเหมือนกัน

หลับใหล - เช่น ในบทโคลงลิลิตพระลอว่า “สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่” = ยี่สิบไม้ม้วนก็บอกไว้แล้วนิ


ต่ออีกหน่อยค่ะ

ทโมน – เช่น ลิงทโมนป้อมอัศวิน
พิสมัย – (ความรัก , ความชื่นชม) มักใช้ผิดเป็น “พิศมัย” แต่ชื่อเฉพาะต้องคงไว้ (เช่น ชื่อคนครับ)

ไย – ในคำที่ใช้ว่า จะช้าอยู่ไย ไยจึงไม่มา อย่าไปไยดี มักเขียนผิดเป็น “ใย”

ลออ – (งาม) เช่น นวลลออ , (ถี่ถ้วน , รอบคอบ) เช่น ละเอียดลออ มักใช้ผิดเป็น “ละออ”

ละลวย – (งงงวย , ทำให้หลง) เช่น คาถามหาละลวย เทียบกับ ระรวย (แผ่ว ๆ เบา ๆ) เช่น หายใจระรวย หอมระรวย

เหลอหลา – (มีหน้าตาเซ่อ) เช่น ทำหน้าเหลอหลา

แหยม – (ปอยผมที่เอาไว้เป็นกระจุกหรือหนวดไว้สองข้างริมฝีปาก) เช่น หนวดแหยม (เห็นคำนี้แล้วนึกถึงท่านอาเธอร์เลยนะครับ ^^)

แหย็ม – เป็นภาษาปากหมายถึง เข้าไปยุ่ง เช่น อย่าไปแหย็ม

อิริยาบถ – มักใช้ผิดเป็น “อิริยาบท”  =อันนี้ก็ผิดบ่อย


namtaan

  • บุคคลทั่วไป
ขอบคุณนะคะที่นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากๆ มาแบ่งปันกัน
บวก 1 แต้มให้คุณฟาง และน้องนิวจ้า


ออฟไลน์ [N]€ẃÿ{k}uñĢ

  • ~ῲเจ้าแม่Dramaῴ~
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดArtemis
  • *
  • กระทู้: 5186
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +740/-5
วันนี้มีคำที่น่าสนใจมาเพิ่มให้คนที่ต้องการเพิ่มพูนคำให้หัวนะจ๊ะ 555+
บางคำจะเป็นคำที่เคยอ่านเจอในกระทู้นี้ไปแล้วเพียงจะมีวิธีการอธิบายที่ต่างไป
เพื่อความหลายในมุมมองที่ต่างๆกันลองอ่านดูนะ

"กงสุล" กับ "กงศุล"
.....คำนี้มีคนเขียนผิดเป็น "กงศุล" อยู่เสมอ ขณะที่ใช้ไปในความหมายที่เป็นตำแหน่งตัวแทนของประเทศหนึ่งที่ไปอยู่ในอีก ประเทศหนึ่ง หรือสถานที่อันเป็นที่อยู่ของพวกเขา ซึ่งมีเอกสิทธิ์ทางการทูต(ระวังนะครับคำนี้ก็ชอบผิดกัน เขียนเป็น ฑูต) ไม่ต้องขึ้นต่ออำนาจศาลของประเทศนั้นๆ
.....ที่เขียนผิด เข้าใจว่าน่าจะไปหลงติดกับคำว่า "ศุลกากร" ที่เป็นเรื่องของการจัดเก็บภาษี เพราะ "ศุล" ที่มี "ศ ศาลา" ทำให้คุ้นตานั่นเอง ทั้งที่มีความหมายต่างกัน
.....พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำว่า "กงสุล"ไว้ว่า
.....(กฎ) น.ชื่อตำแหน่งของบุคคลซึ่งรัฐบาลของประเทศหนึ่งแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประจำ อยู่ในเมืองต่างๆ ของอีกประเทศหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือคนชาติของประเทศผู้แต่งตั้งกงสุลที่ไปอยู่ในเมือง นั้นๆ และเพือดูแลผลประโยชน์ทั่วไปของประเทศผู้แต่งตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพานิชย์
.....กงสุลมี ๒ ประเภท คือ
(๑) กงสุลโดยอาชีพ ได้แก่ ผู้ที่เป็นข้าราชการของประเทศผู้แต่งตั้ง และ
(๒) กงสุลกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ได้รับแต่งตั้งซึ่งไม่ใช่ข้าราชการและไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งอาจเป็นคนชาติของประเทศผู้แต่งตั้งหรือคนชาติอื่นก็ได้
.....กงสุลที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานกงสุลมี ๔ ระดับ คือ กงสุลใหญ่ กงสุล รองกงสุล และตัวแทนฝ่ายกงสุล
.....ว.เกี่ยวกับกงสุล เช่น สถานกงสุล พนักงานกงสุล
.....ส่วนคำว่า"ศุลกากร"นั้น ในพจนานุกรมเก็บคำนี้ไว้ในลูกคำของคำว่า "ศุลก-(สุนละกะ) ว.เนื่องด้วยการเก็บอากรจากสินค้าขาเข้าและขาออก ได้แก่ อากรขาเข้า และอากรขาออก ศุลการักษ์ น.เจ้าหน้าที่รักษาศุลกากร"

.....จะ เห็นว่าความหมายของคำว่า "กงสุล" และ "ศุลกากร" นั้นต่างกันและต้องจำไว้ว่า คำว่า "กงศุล" ไม่มีในพจนานุกรม คือเป็นคำที่เขียนผิดและหาความหมายอะไรไม่ได้นั่นเอง

กฎ กับคำว่า กฏ
.....ส่วนใหญ่จะใช้กันผิด บางท่านมีวิธีการจำที่ผิดๆ ยิ่งทำให้เกิดความสับสนเช่น คำว่า "กฎ" ใช้กับคำพวง กฎหมาย กฎกระทรวง หรือกฎอะไรต่างๆที่ออกโดยราชการ ส่วยคำว่า "กฏ" ใช้กับคำประเภท กฏเกณฑ์ กฏกระทรวง ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด
.....ความจริงแล้ว ๒ คำนี้มีวิธีจำที่ง่ายๆคือ คำที่ขึ้นต้นด้วยกฎทั้งหมดใช้ กฎ (ฎ ชฎา)
สะกดทั้งสิ้น ส่วน กฏ(ฏ ปฏัก) มีใช้อยู่คำเดียวคือ หลังคำว่า ปรา เช่น ปรากฏ เป็นต้น
.....กฎ ตามพจนานุกรมบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายว่า เป็นกริยา หมายถึง จดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง กฎหมาย กฎกระทรวง ซึ่งเขาทำเอาไว้แล้ว เป็นระเบียบแบบแผน

"เกม" vs "เกมส์"
      คำนี้เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ (GAMES) เมื่อเห็นภาษาอังกฤษมีตัว "S" อยู่ด้วย ภาษาไทยก็เลยใส่ "ส" การันต์เข้าไปเพื่อแสดงความเป็นพหูพจน์ตาม อย่างนี้ถือว่าเข้าใจผิด เนื่อจากภาษาไทยเมื่อยืมคำมาจากต่างประเทศ จะใช้ในรูปเอกพจน์(คำที่กล่าวถึงสิ่งเดียว) เพราะภาษาไทยมีรูปเอกพจน์และพหูพจน์(คำที่กล่าวถึงสิ่งที่มากกว่าสิ่งเดียว )เขียนอย่างเดียวกัน หากต้องการให้คำนั้นเป็นพหูพจน์ต้องใช้คำบริบท(คำแวดล้อม)อื่นเข้าช่วย เพราะเราคงไม่เขียน เด็กส์ แต่เราเขียนเป็น เด็กเหล่านั้น
      เพราะเหตุนี้ ทำให้เกิดคำไทยผิดๆมากมาย เช่น มันส์ ซ่าส์ ยากส์ ฯลฯ หากต้องการให้คนอ่านเห็นว่าสิ่งนั้นมันมีมาก คำไทยที่ถูกก็มี มันมาก มันมากที่สุด มันเหลือเกิน มิหนำซ้ำยังมีคนเขียน มันส์ส์ส์ส์ เพื่อให้เห็นถึงความมันเหลือเกิน

"กรณี" และ "กรณีย์"
เป็นคำที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายของทั้งสองคำไว้ว่า
กรณี น.คดี, เรื่อง, เหตุ เช่น ในกรณีนี้ = ในเรื่องนี้ ตรงกับคำบาลีและสันสกฤตว่า
กรณี หมายถึง ที่เป็นเหตุกระทำ
กรณีย์ น.กิจ ว.อันควรทำ, อันพึงทำ เช่น กรณียกิจ = หน้าที่อันพึงกระทำ

ดังนั้น ในการใช้ถ้าเรามุ่งไปที่เรื่อง ก็ต้องเขียนว่า "ในกรณีนี้" แต่ถ้ามุ่งไปที่ "กิจธุระนี้" หรือ "กิจอันนี้" ต้องเขียนว่า "ในกรณีย์นี้"

"กรีธา" vs "กรีฑา"
      มีการใช้คำเหล่านี้ผิดอยู่บ่อยๆ ถึงแม้จะเป็นคำพ้องเสียง แต่ความหมายแตกต่างกันมาก
      สรุปง่ายๆ กรีธามีความหมายว่า การยก, เคลื่อน, เดินทางเป็นหมู่เป็นกระบวน
ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงกรีธาทัพหลวงเข้าทำการศึก
ไม่ใช่ พระองค์ทรงกรีฑาทัพหลวงเข้าทำการศึก!
      กรีฑา เป็นภาษาสันสกฤต ภาษาบาลีใช้ว่า กีฬา กรีฑามีความหมายว่ากีฬาประเภทหนึ่ง แบ่งออกเป็นแผนกลู่และแผนกลาน, การเล่นสนุก, การประลองยุทธ
      ดังนั้นกรีธาใช้กับการเคลื่อนย้าย ส่วน กรีฑาใช้กับการแข่งขัน

กระบวนการ (กรรมวิธี) vs ขบวนการ
คำสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่บางครั้งยังใช้กันผิด หากจะอธิบายความหมายของ"กระบวนการ" คงต้องยกคำว่า"กรรมวิธี" มาอธิบายประกอบ

"กระบวนการ" นั้นเป็นศัพท์บัญญัติ ที่บัญญัติขึ้นใช้แทนคำว่า "PROCESS" และต่อมามีการบัญญัติศัพท์แทน "PROCESS" นี้อีกคำหนึ่งคือ "กรรมวิธี"

อาจารย์ เจริญ อินทรเกษตร ราชบัณฑิตคนสำคัญซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการบัญญัติศัพท์มาตั้งแต่ต้นให้คำ อธิบายไว้ว่า "กระบวนการ"เป็นคำที่ใช้กว้างกว่า "กรรมวิธี" คือหมายถึงกระบวนการตามธรรมชาติที่หมายถึงการผุพังอยู่กับที่ โดยแร่ดูดน้ำไปแล้วขยายตัวทำให้แร่เดิมเปลี่ยนเป็นแร่ชนิดอื่น ลักษณะนี้ใช้คำว่า "กระบวนการ"

ส่วน PROCESS ที่ใช้ศัพท์บัญญัติว่า "กรรมวิธี" นั้น หมายถึงกรรมวิธีที่มนุษย์เข้าไปมีบทบาทเป็นส่วนใหญ่ เช่น หมายถึงกรรมวิธีทางเคมีที่เกี่ยวกับน้ำหรือสารประกอบที่มีน้ำรวมตัวกัน ถ้าอย่างนี้ไม่ควรใช้คำว่า "กระบวนการทางเคมี" แต่ใช้เป็น "กรรมวิธี" แต่กรรมวิธีบางครั้งใช้ในความหมายที่เป็นไปโดยธรรมชาติเหมือนกันเพียงแต่ใช้ กับเรื่องที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องมากกว่า

พจนานุกรม ฉ.บัณฑิตย์ฯ เก็บคำ "กรรมวิธี" เอาไว้เป็นลูกคำของ "กรรม" โดยอธิบายว่า กรรมวิธี (น.)ลักษณะอาการหรือวิธีการที่ผันแปรหรือเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติหรือที่ มนุษย์ทำขึ้น อันดำเนินติดต่อกันเรื่อไปเป็นลำดับ, กระบวนวิธีดำเนินการในประดิษฐกรรม

ส่วน "กระบวนการ" มีความหมายว่า (น.)ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงอย่างมีระเบียบ ไปสู่ผลอย่างหนึ่ง, กรรมวิธีหรือลำดับการกระทำซึ่งดำเนินต่อเนื่องกันไปจนสำเร็จลง ณ ระดับหนึ่ง เช่น กระบวนการเคมีเพื่อผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (อ. Process)

ขบวนการ: (น.)กลุ่มบุคคลที่รวมกันเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง (ขอเสริม ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Movement)

ดังนั้นหากเราจะแปลคำว่า PROCESS เป็นไทยก็ควรใช้คำว่า "กระบวนการ" หรือ "กรรมวิธี" (Process ที่เป็นไปตามธรรมชาติควรใช้คำว่า "กระบวนการ" ส่วน Process ที่มนุษย์ทำขึ้นควรใช้คำว่า "กรรมวิธี" แต่ทั้งนี้มิได้ถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัว ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า "จะต้องดำเนินติดต่อกันเรื่อยไปเป็นลำดับ)
แต่หากจะแปลคำว่า MOVEMENT เป็นภาษาไทยควรใช้ "ขบวนการ" ไม่ใช่ "กระบวนการ"

"ประดิดประดอย" กับคำว่า "ประดิษฐ์ประดอย"
มีคนใช้ผิดๆเป็น "ประดิษฐ์ประดอย" แล้วอ้างว่า ในพจนานุกรม ฉ.ราชบัณฑิตย์ฯ พ.ศ.๒๔๙๓ ได้อธิบายความหมายของคำว่า "แกล้งเกลา" ซึ่งเป็นลูกคำของ "แกล้ง" โดยเขียนว่า "ว.ประณีต, ประดิษฐ์ประดอย" คือใช้ -ษฐ์

ทั้งที่ตรงคำว่า "ประดิด" พจนานุกรม ฉบับเดียวกันนี้ กลับเก็บเป็น "ประดิดประดอย"

ก็ต้องชี้แจงว่า คำอธิบายความของ "แกล้งเกลา" ที่เขียนเป็นประดิษฐ์ประดอย นั้นผิด ซึ่งทางราชบัณฑิตท่านก็ได้ตรวจพบเมื่อมีการยกร่างพจนานุกรมเล่มเล็ก และมีการแก้ไขจนเมื่อเป็นฉบับปี พ.ศ.๒๕๒๕ คำอธิบายตรงที่เดิมจึงกลับเป็น "ประดิดประดอย"

พจนานุกรม ฉ.ราชบัณฑิตย์ฯ พ.ศ.๒๕๔๒ ให้มีความหมายว่า
"ประดิดประดอย ก.บรรจงทำให้งามและละเอียดลออยิ่งขึ้น, ใช้ว่าประดอย ก็ได้"

ต้องจำเอาไว้ว่า ถ้าใช้คำเดียวไม่เกี่ยวข้องกับใคร ใช้ "ประดิษฐ์" ได้ แต่ถ้าใช้นำคำอื่นหรือมีสร้อยต่อท้าย จะต้องเป็น "ประดิด" เสมอ

เพิ่มเติมเรื่องการออกเสียง
        ประวัติศาสตร์ [ปฺระหวัด, ปฺระหวัดติ-] ได้มีการจัดเสวนาสารพัดเรื่อง "ประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย" วิทยากรทุกท่านออกเสียงว่า "ประ-หวัด-สาด" ทั้งหมด แต่ทางจอทีวี ผู้อ่านข่าวส่วนมากจะออกเสียคำนี้ว่า "ประ-หวัด-ติ-สาด" ควรจะมีคำชี้แจ้งทางสื่อสาธารณะว่า คำนี้ออกเสียงอ่านและพูดได้ทั้ง ๒ แบบ
        คำว่า "ประวัติศาสตร์นี้" เมื่อประมาณ ๔ ปีที่แล้ว นักร้องหญิงไทย คริสติน่า อากิล่า ได้ร้องเพลงเพลงหนึ่งที่มีคำว่า ประวัติศาสตร์ แต่เธอออกเสียงว่า "ประ-หวัด-สาด"..ผลปรากฎว่า มีคนบางกลุ่ม "ติ" เธอว่าเป็นผู้ที่ทำลายภาษาไทย...ดิฉันคิดว่า ทางค่ายเพลงคงจะมีการค้นคว้าจากพจนานุกรม ฉบับฯ แล้วว่าสามารถออกเสียงได้ทั้ง ๒ แบบ เธอจึงร้องเพลงนี้อย่างองอาจและไม่มีคำแก้ตัวจากค่ายเพลงใดๆทั้งสิ้น (อยากให้พวกนักร้องเพลงค่ายออกเสียง "คำควบกล้ำ"และตัว "ร และ ล" ให้ถูกต้องกว่านี้ ถ้าคิดว่าจะยึด "พจนานุกรม ฯ เป็นหลัก วันนี้มันมีอาการ "รกหู" จริงๆ )
       ดังนั้น วันนี้เราต้องยึดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับล่าสุดคือ ฉบับพ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นหลัก ก่อนที่จะวิพากย์วิจารณ์ใคร มิฉะนั้นมันจะเป็นการสับสนของผู้ชม ผู้ฟังและผุ้อ่านทั่วไป
คำว่า "มนุษยศาสตร์ [มะนุดสะยะ-,มะนุด] คำนี้ก็เช่นกันอ่าน พูดออกเสียงได้ทั้ง ๒ แบบ
คำว่า "มกุฎ" [มะกุด] จะได้ยินคนออกเสียงว่า "มงกุด" และ "มกุฎราชกุมาร"[มะกุดราดชะ-]

ที่มา:http://x.thaikids.com/phpBB2/viewtopic.php?t=1252&postdays=0&postorder=asc&start=15&sid=6187b1b97f09bebfd2594b1bef89f520
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20-09-2009 04:23:00 โดย [N]€ẃÿ{k}uñĢ »

 

สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด


สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด