"ฃ" ที่ไม่ใช่ ขวด "ฅ" ที่ไม่ใช่ คน (หน้า2)
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด

สนใจโฆษณาติดต่อ laopedcenter[at]hotmail.com คลิ๊กรายละเอียดที่ตำแหน่งว่างเลยครับ

สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด

ผู้เขียน หัวข้อ: "ฃ" ที่ไม่ใช่ ขวด "ฅ" ที่ไม่ใช่ คน (หน้า2)  (อ่าน 29096 ครั้ง)

ออฟไลน์ ★L'Hôpital

  • แค่เราได้พบกัน...
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดHephaestus
  • *
  • กระทู้: 1521
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +119/-18
ขอบคุณพี่ Naomi นะครับ
ไม่ค่อยได้แตะภาษาไทยมานานแล้วหลังเข้ามหาลัย -_-"
ตอนนี้ให้กลับไปร่าง (ใช้ ร หรือเปล่าครับ) หนังสือหรือแบบฟอร์มต่างๆเป็นภาษาไทย
นี่ทำแทบจะไม่ได้เลยครับ

ตอนนี้เวลาจดโน้ตหรือเขียนเมล์ให้เพื่อนนี่ มีแต่ภาษาอังกฤษกับญี่ปุ่นเต็มไปหมด
แบบบางทีมันนึกคำภาษาไทยไม่ออก หรือไม่ทัน

ส่วนเรื่อง คะ กับ ค่ะ นี่ถ้าจำไม่ผิด
เพราะ คะ เป็นคำตายหรือเปล่าครับ วรรณยุกต์เลยล่นมาตกที่ ไม้ตรีแทน

คำว่าละมุนภัณฑ์กับกระด้างภัณฑ์นี่
ผมเข้าใจถูกมาตลอด...แต่โดนเพื่อนไซโคให้เข้าใจผิดหรือฟระนิ - -"
ยังคิดอยู่เลย ใครจะมาบ้าจี้แปลออกมาเป็นคำตรงๆ

ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
Re: คำง่ายที่มักเŦ
«ตอบ #31 เมื่อ07-08-2010 00:47:26 »

ตอบคุณโชกุน ร่างหนังสือ ใช้ ร เรือ ถูกต้องแล้วค่ะ ถ้า ล่าง หมายถึง อยู่ในฐานะที่ต่ำกว่า ถัดลงไป

คะ เป็นคำตายอย่างที่คุณเข้าใจถูกต้องแล้วค่ะ คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำประสมด้วยสระเสียงสั้น ตามด้วยพยัญชนะท้ายเสียงกัก (ก บ ด) เวลาจะผันเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงตรีไม่ต้องเติมรูปวรรณยุกต์ใดๆ ทั้งสิ้น เช่น คะ เงอะงะ คด งบ ครก เป็นต้น

จริงๆ คำในภาษาไทยแต่เดิมไม่มีรูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวาหรอกค่ะ มีแต่เสียงเฉยๆ รูปวรรณยุกต์สองรูปนี้คิดขึ้นสำหรับเขียนคำยืมภาษาต่างประเทศ  ลองสังเกตสิคะคำไทยแท้จะไม่ใช้รูปวรรณยุกต์ตรีกับจัตวาเลย คำไทยแท้ที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางก็ไม่ปรากฏเสียงวรรณยุกต์ตรีและจัตวาเลย ที่ปรากฏก็เป็นคำยืมจากภาษาต่างประเทศทั้งนั้น เช่น ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ (คำนี้ราชบัณฑิตฯ กำหนดให้พยางค์แรกออกเสียงเป็นเสียงสามัญนะคะ หลายคนชอบเขียนเป็น ก๋วยจั๊บ) ถึงแม้เราจะไม่มีรูปวรรรยุกต์สองรูปนี้มาแต่เดิม แต่เราก็มีเสียงวรรณยุกต์ทั้งสองนี้อยู่ก่อนแล้ว โดยปรากฏในกลุ่มอักษรสูงและอักษรต่ำที่มีเสียงคู่กับเสียงอักษรสูง ดังตัวอย่าง คา (เสียงสามัญ) ข่า(เสียงเอก) ข้า(เสียงโท) ค้า(เสียงตรี) ขา(เสียงจัตวา) 

ปล. ที่จริงแล้ว Naomi ยังไม่แก่นะคะ อายุยังไม่ครบสองรอบเลยนะ  :m13:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07-08-2010 01:00:46 โดย Naomi »

ออฟไลน์ ★L'Hôpital

  • แค่เราได้พบกัน...
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดHephaestus
  • *
  • กระทู้: 1521
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +119/-18
ขอบคุณพี่ Naomi สำหรับคำอธิบายนะครับ  :pig4:

ปล. ผมก็ยังไม่อายุครบสองรอบเหมือนกันนะ  :-[

ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
ผู้ชายพายเรือแล้วเหตุใดผู้หญิงต้องยิงเรือ

          ขออนุญาตใช้ภาษากึ่งทางการนะคะ เพราะจะนำบทความนี้ไปพิมพ์ลงในบล็อกให้เด็กๆ อ่านด้วย บทความนี้อาจจะพิมพ์แล้วย่อหน้าวรรคตอนต่างๆ เสียไปหมด ยังไงก็ทนอ่านหน่อยนะคะ น้องมิพยายามจัดรูปหน้าที่สุดแล้ว

          หลายๆ คนคงเคยได้ยินสำนวน “ผู้ชายพายเรือ” และ “ผู้หญิงยิงเรือ” ซึ่งในปัจจุบันหมายความว่า “ผู้ชายทั่วไป” และ “ผู้หญิงทั่วไป” ปัจจุบันนี้เราพูดสำนวนทั้งสองนี้แยกกันแต่ทราบหรือไม่ว่าในอดีตสองสำนวนนี้เป็นสำนวนเดียวกันคือ “ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ” หรือ “ผู้ชายรายเรือ ผู้หญิงริงเรือ” หลายๆ คนคงมีความสงสัยเหมือนผู้เขียนว่าเหตุใดในเมื่อผู้ชายพายเรือแล้วผู้หญิงต้องมายิงเรือ
   จากการเรียนวิชาสัมนาภาษาไทยปัจจุบันของผู้เขียนทำให้ผู้เขียนได้คำตอบของที่มาของสำนวนดังกล่าวโดยอาจารย์ของผู้เขียนได้ให้อ่านบทความเรื่อง “ผู้ชายพายเรือ-ผู้หญิงยิงเรือ” ซึ่งเขียนโดยอาจารย์มัณฑนา เกียรติพงษ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งท่านได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับที่มาของสำนวนนี้ไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอสรุปความของบทความดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ทุกๆ คนได้อ่านไว้เป็นความรู้

   สำนวนนี้พบครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์โดยปรากฏในวรรณคดีเรื่องต่างๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังนี้
   
          รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
         “เหวายมนุษย์องอาจประหลาดเหลือ   พาผู้หญิงริงเรือมาแต่ไหน
      ทำฮึกฮักข่มเหงไม่เกรงใจ         เข้าหักโค้นต้นไม้ในอุทยาน”
   
          ไชยเชษฐ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   
         “เอออะไรไม่พอที่พอทาง      มึงช่างชั่วชาติประหลาดเหลือ
      ไม่รู้เท่าผู้หญิงริงเรือ               ซานซมงมเชื่อนางเมียงาม”

   พระอภัยมณี ของสุนทรภู่         
                            “เห็นผู้หญิงริงเรือที่เนื้อเหลือง       อย่ายักเยื้องเกี้ยวพานะหลานขวัญ
      ล้วนนางในไม่ชั่วตัวสำคัญ                        จะเสียสันเสียเปล่าไม่เข้าการ”

   กลอนเสภาขุนช้างขุนแผน
         “ฝ่ายข้างพวกผู้หญิงริงเรือ       บ่นว่าเบื่อรบพุ่งยุ่งหนักหนา
      ให้เสียวไส้ไม่ดูได้เต็มตา                     เวทนาแต่เจ้าพลายชุมพล”
                                          ฯลฯ
         “ผู้ชายพายเรืออยู่เต็มไป       จะดูเล่นหรือไรไฉนนี่
      ช่างกระไรรั้ววังดังไม่มี                     อีพวกนนี้น่าเฆี่ยนให้เจียนตาย”

   จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในอดีตเราไม่พูดว่า “ผู้หญิงยิงเรือ” แต่เราพูด “ผู้หญิงริงเรือ” ดังนั้นจึงทำให้สรุปว่า สำนวนผู้หญิงยิงเรือนั้นไม่ได้หมายความถึงผู้หญิงคอยดักยิงเรือของผู้ชายเป็นแน่นอนแต่เป็นเรื่องของการเพี้ยนเสียงคำว่า “ริง” มาเป็น “ยิง” ในปัจจุบัน แล้วถ้าเป็นเรื่องของการเพี้ยนเสียงดังนี้แล้ว “ผู้หญิงริงเรือ” จะหมายความว่าอย่างไร

           เรามีสำนวนไทยที่เกี่ยวกับ “เรือ” อยู่อีกสำนวนหนึ่งคือ “ลงเรือลำเดียวกัน” และสำนวนที่เกี่ยวกับการเดินทางทางเรือคือ “ล่มหัวจมท้าย” (โปรดสังเกตว่าสำนวนนี้ปัจจุบันเราก็เพี้ยนเป็น  “ร่วมหัวจมท้าย” เสียแล้ว-ผู้เขียน) ซึ่งใช้เปรียบเทียบหรือสั่งสอนว่าเมื่อแต่งงานกันก็เปรียบเสมือน ลงเรือลำเดียวกันจะสุขหรือทุกข์ก็ร่วมกัน ถ้าคนใดคนหนึ่งทำไม่ดีก็จพาอีกคนล่มจมตามไป เหมือนหัวเรือล่มไปแล้วท้ายเรือก็ต้องจมตามหัวเรือไปเป็นธรรมดา
   
         ในเมื่อชายหญิงลงเรือลำเดียวกันแล้ว การจะพานาวาชีวิตไปถึงฝั่งใครเล่าเป็นผู้นำไปก็ต้องผู้ชายซึ่งในสังคมโบราณถือว่าเป็น “ช้างเท้าหน้า”  จึงต้องทำหน้าที่ “พายเรือ” นำเรือชีวิตไปให้ตลอดรอดฝั่ง แล้วผู้หญิงล่ะจะทำหน้าที่อะไร หญิงไทยโบราณได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็นกุลสตรี เป็นแม่บ้านแม่เรือน มีหน้าที่ดูแลรักษาบ้านช่องให้ทุกคนในบ้านมีความสุข

   ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าผูหญิงมีหน้าที่ “ดูแล”  บ้านเรือน มีคำศัพท์คำว่า “หลิง” ซึ่งแปลว่า ดู เล็ง (แต่ยังไม่สามารถระบุที่มาของคำได้แน่ชัดว่ามาจากภาษาใด-ผู้เขียน) จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่า “ผู้หญิงริงเรือ” มาจาก “ผู้หญิงหลิงเรือ” ซึ่งแปลว่าผู้หญิงดูเรือ นั่นเอง

   ดังนั้นสำนวน “ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงริงเรือ” อาจารย์มัณฑนาจึงสรุปว่าเป็นการกำหนดหน้าที่ของสามีภรรยาซึ่งลงเรือลำเดียวกันว่าให้ฝ่ายชายเป็นผู้ออกแรงพายเรือ ซึ่งหมายถึงการทำมาหากินประกอบอาชีพ ส่วนฝ่ายหญิงก็มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรือ หรือดูแลทุกข์สุขของครอบครัว

   ความเห็นดังกล่าวของอาจารย์มัณฑนาข้างต้นก็ยังไม่เป็นข้อยุติถึงที่มาของสำนวน “ผู้ชายรายเรือ ผู้หญิงริงเรือ” หรือ “ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ” แต่ที่สรุปได้ชัดเจนก็คือสำนวน “ผู้หญิงยิงเรือ” นั้นเพี้ยนมาจาก “ผู้หญิงริงเรือ” แน่นอน จึงทำให้คิดต่อไปได้ว่าถ้าเช่นนั้น ผู้ชายพายเรือจะเป็นสำนวนที่เพี้ยนมาจาก “ผู้ชายรายเรือ” ด้วยหรือไม่ เพราะสำนวนไทยมีลักษณะเป็นคำชุดคล้องจองกัน ถ้าเช่นนั้นก็เป็นที่น่าศึกษา ค้นคว้ากันต่อไปว่าแล้ว “ผู้ชายรายเรือ” นั้นแปลว่าอะไร ถ้าทราบความหมายของผู้ชายรายเรือก็น่าจะเป็นกุญแจไขไปสู่ที่มาและความหมายที่แท้จริงของ “ผู้หญิงริงเรือ” ได้  
   

   ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องสำนวนไทยจึ่งขอยกตัวอย่างสำนวนที่ไม่ค่อยคุ้นหูในปัจจุบัน และสำนวนที่มักมีผู้ใช้หรือพูดกันผิดๆ ไว้ให้ได้สังเกตกัน โดยผู้เขียนนำข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากบทออกอากาศทางสถานีวิทยุการศึกษา และบทความที่อาจารย์ของผู้เขียนนำมาให้อ่านในชั้นเรียนซึ่งบางส่วนไม่ได้ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไว้ ทำให้ไม่สามารถระบุการอ้างอิงในบรรณานุกรมได้ครบถ้วน
   ได้แกงเทน้ำพริก               หมายถึง ได้ใหม่ลืมเก่า
   เงื้อง่าราคาแพง      หมายถึง ทำอะไรไม่กล้าตัดสินใจลงไป ตีแต่วางท่าหรือทำท่าว่าจะทำเท่านั้น
   ไฟสุมขอน         หมายถึง อารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ในใจ
   ซื้อวัวหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว,
   ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ
   หมายถึง ซื้อของไม่คำนึงถึงกาลเวลาย่อมได้ของแพง ทำอะไรไม่เหมาะสมกับ  
                                                                            กาลเวลาย่อมได้รับความเดือดร้อน
   เถรส่องบาตร         หมายถึง คนที่ทำอะไรตามเขา ทั้งๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว
   กินแกลบกินรำ       หมายถึง คนโง่ เช่น ฉันไม่ใช่พวกกินแกลบกินรำอย่ามาหลอกเสียให้ยาก ปัจจุบันสำนวนนี้ดูจะตัดสั้นลงเหลือแต่เพียง “กินแกลบ” และความหมายก็ผิดเพี้ยนไปกลายเป็น อดอยาก ไม่มีจะกินกิน ไปเสีย  เช่น เพิ่งต้นเดือนเงินเดือนก็หมดแล้วคงต้องกินแกลบไปทั้งเดือน
   กงเกวียนกำเกวียน มักพูดกันเป็น กงกำกงเกวียน บางคนเขียนเป็น กงกรรมกงเกวียน เสียด้วยซ้ำ สำนวนนี้แปลว่าทำกรรมเช่นใดย่อมได้รับผลกรรมนั้นตอบสนอง มีที่มาจากล้อของเกวียนที่ประกอบด้วย กง คือ วงล้อที่อยู่ด้านนอก และ กำ คือ ซี่ล้อ เมื่อกงหมุนไปที่ใด เปรียบกับคนที่ทำกรรมอะไรไว้ ซี่ล้อหรือกำซึ่งเปรียบกับผลกรรมหรือผลแห่งการกระทำก็จะหมุนตามกงหรือการกระทำนั้นไปเสมอ
   ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม ที่แปลว่าค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำแล้วจะสำเร็จผล ปัจจุบันมักเหลือพร้าแค่เล่มเดียว เป็นช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม
   สองแง่สองง่าม บางคนพูดเป็น สองแง่สามง่าม ซึ่งไม่ถูก ของเดิมมีแค่สองเท่านั้น
   ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คนสมัยนี้แลดูจะ ”โลภ” มากขึ้นยิงปืนนัดเดียวจึงหวังนกหลายตัว ขอให้จำไว้ว่าแต่เดิมยิงปืนนัดเดียวหวังได้นกเพียงหนึ่ง ถ้าโชคดีได้นกเพิ่มมาอีกตัวเป็นสองตัวก็นับว่าโชคดีแล้ว
   ไก่เห็นนมไก่ งูเห็นตีนงู แปลว่าผู้ที่เป็นพวกเดียวกันย่อมมองเห็นเล่ห์เพทุบายหรือเข้าใจในการปฏิบัติของกันและกันได้ดี แต่ปัจจุบันเรามักพูดสำนวนนี้ ”ผิดเพี้ยน สลับกัน” เป็น “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” ความหมายก็เพี้ยนไปจากเดิมคือกลายเป็น ต่างฝ่ายต่างล่วงรู้ความรับของอีกฝ่ายไปเสีย
   เพื่อยืนยันความถูกต้องของสำนวน “ไก่เห็นนมไก่ งูเห็นตีนงู”  จึงขอยกโคลงโลกนิติ พระนิพน์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ความว่า
            “ตีนงูงูไซร้หาก   เห็นกัน
         นมไก่ไก่สำคัญ         ไก่รู้

         หมู่โจรต่อโจรหัน         เห็นเล่ห์ กันนา
         เชิงปราชญ์ฉลาดกล่าวผู้      ต่างรู้เชิงกัน”
      
   ขายผ้าเอาหน้ารอด แปลว่ายอมสละแม้ของที่จำเป็นเพื่อรักษาชื่อเสียงที่มีอยู่ คนปัจจุบันแค่ขายผ้าคงไม่หนำใจหรือคงไม่พอจะรักษาชื่อเสียงที่มีอยู่เลยต้องถึงกับ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” เลยทีเดียว มิหนำซ้ำความหมายก็ดูจะ “ผิดเพี้ยน” ไปคือหมายถึงทำสิ่งใดพอให้พ้นตัวไป
   ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน หมายความว่า จะทำอะไรให้ใครต้องถามความพอใจของผู้ได้รับ เหมือนปลูกบ้านเรือนก็ต้องถามความพอใจของผู้อยู่อาศัย ผูกอู่ หรือผูกเปล ก็ต้องถามผู้นอนว่าพอใจหรือยัง คนในปัจจุบันคงไม่ค่อยได้นอนเปลแล้วจึงไม่ค่อยรู้จักกริยา ผูก มิหนำซ้ำยังไม่รู้ด้วยว่า อู่ แปลว่า เปล รู้จักก็แต่อู่รถ จึงหันไป “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอน” กันเป็นแถว สงสัยคนปัจจุบันคงจะย้ายที่นอนไปนอนในอู่รถด้วย
   ตื่นก่อนไก่, หัวไก่โห่ ปัจจุบันเรามักพูด ”ผิดเพี้ยน” โดยเอาสองสำนวนนี้มารวมกันเป็น “ตื่นแต่ไก่โห่”
   ไม่แน่ไม่แช่แป้ง หมายถึงถ้าไม่มั่นใจย่อมไม่ลงมือกระทำ สำนวนนี้เกี่ยวข้องกับการทำอาหารขนมโบราณซึ่งมีแป้ง กะทิ และน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก และการที่จะแปรรูปข้าวให้เป็นแป้งก็ต้องเอาข้าวสารมาแช่น้ำแล้วจึงนำมาโม่ให้เป็นแป้งสำหรับเป็นวัตถุดิบในการทำขนม หากแช่ข้าวสารแล้วไม่โม่ข้าวนั้นก็จะเสียไปไม่สามารถนำมาหุงได้เนื่องจากข้าวสารจะบานหมด  ปัจจุบันเราก็มักพูดเพี้ยนไปเป็น “แน่เหมือนแช่แป้ง” ซึ่งไม่สื่อความหมายเอาเสียเลยว่าการแช่แป้งนี่แสดงความแน่นอนอย่างไร
   จากตัวอย่างการใช้สำนวนผิดข้างต้นอาจจะเพราะความไม่รู้ และความไม่เข้าใจสังคมตลอดจนวัฒนธรรมโบราณ อีกทั้งสังคมปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก หลายๆ สิ่งก็เปลี่ยนไป เลือนหายไป คนปัจจุบันที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นสังคมวัฒนธรรมโบราณจึงดัดแปลงสำนวนที่มีมาซึ่งฟังแล้วไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจ ไปตามความรู้สึกส่วนตัว
   เจตนาที่ยกเอาสำนวนต่างๆ เหล่านี้มากล่าวไม่ได้ต้องการ “จับผิด” หรือว่าไม่ควรจะคิดสำนวนใหม่ๆ ใช้ในภาษาไทย อันที่จริงการคิดสำนวนใหม่ใช้ในภาษาเป็นสิ่งที่ดีแสดงให้เห็นความงอกงามของภาษา แต่ในเมื่อเรามีสำนวนที่เป็นของเก่าใช้สื่อความกันมาก่อนอยู่แล้วก็ควรจะช่วยกันรักษาไว้เป็นมรดกทางภูมิปัญญา ไม่จะควรทำลายให้มรดกที่ได้รับสืบทอดนี้สูญหายไป


บรรณานุกรม
จิตรลดา สุวัตถิกุล และ วัลยา ช้างขวัญยืน. บทวิทยุออกอากาศรายการ “อยู่อย่างไทย” ครั้งที่ ๒ ทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขต      
         พระราชวังสนามจันทร์
เดชาดิศร, สมเด็จฯ กรมพระยา. โคลงโลกนิติ. พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๘
ปรีชา ช้างขวัญยืน. “สำนวนไทยใช้ผิดกันมากขึ้น”
มัณฑนา เกียรติพงษ์.  บทวิทยุออกอากาศรายการ “มนุษย์” ทางสถานีวิทยุสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาย, ๒๕๕๑.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ภาษาไทย ๔. นนทบุรี : มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖
 

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13-09-2010 11:55:16 โดย Naomi »

ออฟไลน์ ★L'Hôpital

  • แค่เราได้พบกัน...
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดHephaestus
  • *
  • กระทู้: 1521
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +119/-18
ขอบคุณพี่มิมากเลยครับ  สำหรับความรู้ดีๆ :pig4:

หลายๆสำนวน ผมก็เพิ่งได้รู้ที่มาและที่ไปจากบทความนี้
แต่ขอแสดงความคิดเห็นนิดนึงครับ
สำนวนเก่าแต่โบราณที่ถูกปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา ผมเห็นด้วยครับที่เราควรจะรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ความหมายดั้งเดิม
แต่ไม่เห็นด้วยที่บอกว่าต้องใช้ตามความหมายอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่บรรพบุรุษเราใช้กันมา (อาจจะระบุไว้เป็น ภาษาพูดหรือภาษาไม่เป็นทางการก็ได้ครับ)

อย่างไรก็ตาม ภาษาที่ถูกต้องตามหลักทั้งโครงสร้างและไวยากรณ์ในยุคสมัยหนึ่ง อาจจะเป็นภาษาที่ผิด(อาจจะไม่ผิด แต่เป็นเชิงแปลก)ในอีกยุคหนึ่งก็เป็นได้
ส่วนภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย คงจัดได้ว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว (ซึ่งทางวิทยาศาสตร์นิยม ใช้ภาษาประเภทนี้มากครับ)
ไม่ใช่แค่ภาษาไทย แต่ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (แต่ไม่เคยเห็นเค้าหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นกันนะครับ ในเรื่องการอนุรักษ์)
เช่น cool ความหมายดั้งเดิมคือ
1. อุณหภูมิ(เย็น)
2. สี(ช่วงเขียวถึงน้ำเงิน)
3. อารมณ์(สงบ ไม่ตื่นเต้น/ตื่นกลัว)
4. ลักษณะนิสัย(ไม่เป็นมิตร)
แต่ในปัจจุบันคำนี้ถูกใช้ในความหมาย ทันสมัย น่าดึงดูด และยังใช้บ่งบอกอารมณ์ว่ามันเยี่ยม เจ๋ง(ตอนนี้ใช้คำว่า เมพ น่าจะเข้าใจได้ชัดในกลุ่มวัยรุ่น)

ผมว่าประเด็นหลักที่สำคัญที่สุดของการสื่อสารคือ ผู้ส่งสารกับผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ถูกต้อง ชันเจน และเข้าใจตรงกันมากกว่านะครับ
คือผมจะบอกว่า ของเดิมที่มีอยู่เราก็ควรใช้ให้ถูกต้องครับ แต่คำใหม่ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา และถ้าหากว่าสามารถใช้สื่อสารได้ชัดเจน เข้าใจตรงกัน
ผมว่ามันก็ไม่ผิดอะไรที่เราจะใช้คำใหม่นั้นแทนคำหรือสำนวนเดิมครับ อยากให้อยู่ตรงกลางระหว่าง 'conservative' กับ 'liberal' ครับ
(ขอโทษด้วยครับที่ใช้คำภาษาอังกฤษ จะใช้คำว่า 'อนุรักษ์นิยม' กับ 'เสรีนิยม' ก็ดูความหมายจะไม่ครอบคลุม)

บางทีการใช้คำหรือสำนวนไทยเดิมอาจทำให้เกิดความเข้าใจกันผิดได้ โดยเฉพาะคำไทยบางคำที่ความหมายในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป
ผมขอยกตัวอย่างคำว่า "สำเหนียก" ละกันครับ
ตามราชบัณฑิตฯ สำเหนียก [สำเหฺนียก] ก. ฟัง, คอยเอาใจใส่, กําหนดจดจํา, เช่น ผู้ใหญ่ สอนอะไรก็ให้สำเหนียกไว้ให้ดี.
แต่ถ้าปัจจุบันอยู่ๆ เราไปใช้คำนี้พูดกับเพื่อนหรือคนที่เราไม่ได้สนิทด้วย อาจโดนค้อนกลับมาก็เป็นได้ครับ

ท้ายนี้ผมคิดว่านอกจากจะต้องใช้คำให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบริบทแล้ว ควรใช้ให้ถูกต้องตามกาลเวลาด้วยครับ o13


ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
Re: คำง่ายที่มักเŦ
«ตอบ #35 เมื่อ27-08-2010 12:35:53 »

ดีใจจังค่ะที่คุณโชกุนสนใจกระทู้ของน้องมิเสมอๆ

ใช่ค่ะ คำบางคำความมายมันเปลี่ยนเมื่อเวลาเปลี่ยน จากที่เคยมีความหมายทั่วไป กลายเป็นคำด่าไป จากที่มีความหมายไม่ดี หยาบคาย กลายเป็นคำธรรมดา เช่น "โกหก" คำๆ นี้สมัยก่อนถือเป็นคำที่หยาบคายมากนะคะ จะไม่ใช้พูดกับผู้ใหญ่เลย จะใช้คำว่า "พูดปด" แทน แต่สมัยนี้เราก็ใช้พูดกันเป็นเรื่องปกติ น้องมิเองก็พูด

เวลาเปลี่ยน ทัศนคติของคนก็เปลี่ยน ย่อมทำให้เรื่องต่างๆ ที่คนเราผลิตขึ้นรวมไปถึงภาษาเปลี่ยนแปลงไปค่ะ ถ้าเรามัวแต่ไปใช้ภาษาในความหมายแบบเมื่อสองร้อยปีที่แล้วคงสื่อความกับใครไม่รู้เรื่อง จุดประสงค์ที่ยกสำนวนเหล่านี้ขึ้นมาก็อย่างที่บอกนั่นแหละค่ะ ยกเอามา "ไว้ให้ได้สังเกตกัน" ว่าสำนวนที่เราใช้อยู่มันเปลี่ยนแปลงมาจากสำนวนเดิมว่าอย่างไร คำบางคำ สำนวนบางสำนวนไม่สื่อความหมายแล้วในปัจจุบันถ้าขืนเราเอาไปพูดเราก็จะสื่อความไปยังผู้ฟังไม่ได้ ที่ยกสำนวนเหล่านี้มาเพื่อให้คนสมัยนี้เข้าใจและรับรู้ที่มาของสำนวนไทย โดยเฉพาะ ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ มีคนเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนเรื่องที่มาของสำนวนนี้เยอะมาก เช่นเข้าใจว่ามีที่มาเกี่ยวกับการเล่นเพลงเรือเกี้ยวพาราศี หรือบางคนอธิบายว่าเพราะผู้หญิงมีศรเนตร ศรโฉม ฯลฯ (ตามที่มีกวีชมความงามของผู้หญิงไว้ในวรรณคดี) จึงยิงเรือได้ ซึ่งเป็นการตีความแบบไม่ดูประวัติ ที่มาของคำเอาเสียเลย ซึ่งถ้าเราทราบที่มาของสำนวนเราก็คงไม่เดาสุ่มกันไปต่างๆ นานาแบบนี้

สุดท้ายน้องมิก็แอบหวังว่าสำนวนอะไรที่มันยังสื่อความหมายเข้าใจกันได้ดี ก็ขอให้อนุรักษ์ หยิบขึ้นมาพูดกันในชีวิตประจำวันบ้าง อย่าให้มันตายไปกับกาลเวลา  "กินแกลบกินรำ" ที่แปลว่าโง่ อาจจะไม่พูดแล้ว อาจจะพูด "กินแกลบ" ที่แปลว่าอดอยาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่อะไรที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น "กงเกวียนกำเกวียน" ก็อยากให้ใช้ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13-09-2010 11:52:05 โดย Naomi »

ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
Re: คำง่ายที่มักเŦ
«ตอบ #36 เมื่อ13-09-2010 07:16:29 »

        ช่วงนี้อ่านบทความเกี่ยวกับภาษาไทยบ่อย เพราะต้องหาข้อมูลไปเขียนบทความส่งอาจารย์ เลยทำให้เจอประเด็นเกี่ยวกับภาษาไทยที่น่าสนใจหลายๆ ประเด็น เลยอยากจะเอามาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ชาวเล้าได้อ่านกันเพลินๆ บ้างค่ะ

       เรื่องการเลิกใช้พยัญชนะ ฃ และ ฅ ก็เช่นกัน เป็นเรื่องที่น้องมิสงสัยมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้รับความกระจ่าง จนโตมาก็เห็นคำอธิบายเกี่ยวกับการเลิกใช้พยัญชนะสองตัวนี้เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต แต่คำอธิบายเหล่านั้นยังไม่ได้ตอบข้อสงสัยบางประเด็นที่น้องมิสงสัย พอได้ค้นคว้ามากขึ้นก็เจอข้อมูลเพิ่มเติมที่ตอบข้อสงสัยให้กระจ่าง เลยเอามาเขียนมาเป็นบทความสั้นๆ ให้เพื่อนๆ ที่สงสัยเหมือนน้องมิและยังไม่ได้คำตอบได้อ่านกัน หลายคนอาจจะทราบที่ไปที่มาของการเลิกใช้พยัญชนะสองตัวนี้อยู่แล้ว น้องมิก็ต้องขออภัยด้วยนะคะที่เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน

ฃ ที่ไม่ใช่ ขวด ฅ ที่ไม่ใช่ คน


          “ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่ในเล้า ฃ ขวด ของเรา ค ควายเข้านา ฅ คนขึงขัง...” เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าทำไมเวลาเราท่องจำพยัญชนะ ก ไก่ ข ไข่ พอมาถึงพยัญชนะ ฃ กลับกลายเป็น ขวด ฅ กลับกลายมาเป็น คน แล้วเหตุใดจึงไม่เขียนรูปคำให้ตรงกับตัวพยัญชนะที่ท่อง หรือเพราะเหตุใดจึงไม่ใช้พยัญชนะสองตัวนี้เขียนสะกดคำในภาษาไทยปัจจุบันเลย พยัญชนะสองตัวนี้ไม่มีความสำคัญหรือ และถ้าไม่สำคัญ ไม่มีการใช้พยัญชนะสองตัวนี้เขียนสะกดคำภาษาไทยในปัจจุบันแล้วเหตุใดยังคงต้องรักษารูปพยัญชนะทั้งสองตัวนี้ไว้ในระบบพยัญชนะไทย

   ลำดับแรกต้องทำความเข้าใจความหมายของ “พยัญชนะ” ก่อนว่าหมายถึง เสียงที่เปล่งออกมาโดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ในปากและคอ  เมื่อพยัญชนะคือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งโดยใช้อวัยวะต่างๆ ในปากและลำคอเป็นตัวกล่อมเกลาทำให้เสียงที่เปล่งออกมามีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการถ่ายทอดสัญญาณเสียงให้เป็นลายลักษณ์นั้นจึงต้องประดิษฐ์หรือสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาสำหรับแทนเสียงนั้น รูปพยัญชนะจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นสำหรับใช้สื่อสารแทนเสียงที่เปล่งออกมา พยัญชนะหนึ่งตัวมีหน้าที่แทนเสียงหนึ่งเสียง ในภาษาไทยเรามีรูปพยัญชนะ ๔๔ รูป จึงอนุมานได้ว่าในสมัยเมื่อครั้งที่ประดิษฐ์ตัวอักษรไทยนั้นต้องมีเสียงพยัญชนะที่ออกเสียงต่างกันถึง ๔๔ เสียงจึงต้องประดิษฐ์รูปพยัญชนะถึง ๔๔ รูป เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงทั้ง ๔๔ เสียงนั้น ด้วยหลักการนี้จึงอธิบายได้ว่า ในอดีตเสียงของพยัญชนะ ฃ ต้องไม่เหมือนกับเสียงพยัญชนะ ข และเสียงพยัญชนะ ฅ ต้องไม่เหมือนกับเสียงพยัญชนะ ค อย่างในปัจจุบันแน่นอน

   เมื่อศึกษาลักษณะทางสัทศาสตร์หรือลักษณะการออกเสียงของพยัญชนะ ข ฃ ค และ ฅ พบว่ามีความแต่งต่างกันดังนี้ พยัญชนะ ข และ ค เป็นเสียงกัก ไม่ก้อง มีลม เวลาออกเสียงพยัญชนะสองตัวนี้ โคนลิ้นจะยกตัวขึ้นติดเพดานอ่อนในช่องปาก แต่มีความแตกต่างกันตรงที่เวาลาออกสียงพยัญชนะ ค เราจะออกเสียงเป็นเสียงต่ำ แต่เวลาออกเสียงพยัญชนะ ข เราจะออกเสียงเป็นเสียงสูง ในทางภาษาศาสตร์ใช้สัญลักษณ์ /k/ แทนเสียงของพยัญชนะสองตัวนี้

   ลักษณะทางสัทศาสตร์หรือลักษณะการออกเสียงพยัญชนะ ฃ และ ฅ นั้น เนื่องจากปัจจุบันไม่มีตัวอย่างเสียงพยัญชนะสองเสียงนี้แล้ว เสียงพยัญชนะทั้งสองตัวนี้ได้แปรไปเป็นเสียงเดียวกับพยัญชนะ ข และ ค ตามลำดับ ต้องอาศัยการศึกษาเชิงประวัติจึงจะทำให้ทราบลักษณะเสียงเดิมของพยัญชนะทั้งสองตัวนี้ ซึ่งพบว่าพยัญชนะทั้งสองตัวนี้ออกเสียงแตกต่างกับพยัญชนะ ข และ ค ตรงที่เสียงพยัญชนะ ฃ และ ฅ นั้นออกเสียงลึกกว่าเสียงพยัญชนะ ข และ ค คือ เวลาออกเสียงพยัญชนะ ฃ และ ฅ นั้นโคนลิ้นจะแตะกับส่วนที่อยู่ลึกถัดจากเพดานอ่อนเข้าไปในช่องปากอีก ซึ่งเป็นเสียงที่ออกยาก และไม่มีเสียงพยัญชนะตัวอื่นๆ ในภาษาไทยที่มีฐานกรณ์ลึก หรือออกเสียงลึกใกล้เคียงกับพยัญชนะสองตัวนี้มาช่วยยึดเหนี่ยวเสียงเอาไว้ จึงเป็นผลให้เสียงพยัญชนะสองตัวนี้แปรสภาพไปตามธรรมชาติของการออกเสียง โดยขยับฐานกรณ์หรืออวัยวะที่ใช้การการออกเสียงสองเสียงนี้ให้มาอยู่ในตำแหน่งที่ตื้นขึ้นมาซึ่งตรงกับตำแหน่งเพดานอ่อน ทำให้เสียงสองเสียงนี้แปรไปเป็นเสียงเดียวกับเสียงพยัญชนะ ข และ ค ในที่สุด   สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสาเหตุเดียวกับการเปลี่ยนแปลงเสียงพยัญชนะตัวอื่นๆ ในภาษาไทยปัจจุบันที่มีเสียงซ้ำกัน แต่กลับมีรูปเขียนที่แตกต่างกัน เช่น ชุดพยัญชนะเสียง /th/ ได้แก่ ฑ ฒ ท ธ ชุดพยัญชนะเสียง /n/ ได้แก่ ณ น เป็นต้น
 
   เมื่อเสียงของพยัญชนะ ฃ และ ฅ ได้กลายเป็นเสียงเดียวกับเสียงพยัญชนะตัว ข และ ค ไปแล้ว จึงเป็นเหตุให้รูปคำที่เขียนด้วยพยัญชนะฃ และ ฅ เปลี่ยนไปใช้รูปพยัญชนะที่เป็นเสียงแปรตามไปด้วย โดยปรากฏหลักฐานการเลิกใช้พยัญชนะ ฃ และ ฅ อย่างชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ในพจนานุกรมฉบับพระยาปริยัติธรรมาดา (แพ ตาละลักษณ์) ร.ศ.๑๒๐ ว่าไม่มีการใช้พยัญชนะสองตัวนี้ในการเขียนสะกดคำแล้ว

   เมื่อทราบแล้วว่าเสียงพยัญชนะ ฃ และ ฅ แต่เดิมเป็นคนละเสียงกับพยัญชนะ ข และ ค ดังนั้นต้องปรากฏรูปคำที่ใช้พยัญชนะ ฃ และ ฅ ในอตีตอย่างแน่นอน หากศึกษาศิลาจารึกหลักต่างๆ ในสมัยสุโขทัยจะพบว่า มีการใช้ ฃ สะกดคำทั้งหมด ๑๑ คำ และมีการใช้ ฅ สะกดคำทั้งหมด ๑๑ คำ เช่นกัน ดังนี้

   คำที่ใช้พยัญชนะ ฃ สะกด
   ฃับ (ขับร้อง)      ฃ้า (ฆ่า)      ฃาม (มะขาม)      ฃาย (ขาย)   เฃา (ภูเขา)   เฃ้า (เข้า)      ฃึ้น (ขึ้น)              ฃอ (ตะขอ)      ฃุน (ขุน)              ฃวา (ขวา)        
           แฃวน (แขวน)               
    คำที่ใช้พยัญชนะ ฅ สะกด
   ฅอ (คอ)      ฅ้อน (ค้อน)              ฅา (คา – ขวางทางอยู่)   ฅาบ (คาบ-ครั้ง)   ฅำ (ค่ำ)          
           ฅีน (คืน)      แฅน (ดูแคลน)              แฅ่ง (หน้าแข้ง)      แฅว (แคฺว)   ฅวาม (ความ)      
           ฅวาง (คว้าง)
   
   จะสังเกตเห็นว่าในจำนวน ๒๒ คำที่ใช้พยัญชนะ ฃ และ ฅ สะกดนั้นไม่ปรากฏคำว่า ฃวด ที่เป็นภาชนะบรรจุน้ำ และคำว่า ฅน หรือมนุษย์ อย่างที่สำนักพิมพ์บางแห่งพยามใช้ และรณรงค์ให้หันมาเขียนสะกดคำสองคำนี้ด้วยพยัญชนะ ฃ และ ฅ รวมอยู่ใน ๒๒ คำนั้นเลย  จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าสูตรการท่องจำพยัญชนะที่นักการศึกษากำหนดให้เด็กฝึกท่องจำว่า “ฃ ขวด ของเรา” และ “ฅ คนขึงขัง” นั้น ไปได้แนวเทียบคำมาจากที่ไหน และด้วยสูตรการท่องจำพยัญชนะสูตรนี้เองที่ทำให้เกิดความสับสนว่าในเมื่อเวลาท่องจำท่องเป็น ฃ ขวด และ ฅ คน แล้ว เหตุใดจึงไม่ใช้พยัญชนะทั้งสองตัวนี้ในการเขียนสะกดคำสองคำนี้ คำตอบก็คือเราไม่เคยใช้รูปพยัญชนะนี้เขียนสะกดคำสองคำนี้มาแต่เดิมอยู่แล้วดังที่ปรากฏหลักฐานในข้างต้น

   กระนั้นแล้วเมื่อเสียงพยัญชนะทั้งสองตัวนี้ได้แปรไปเป็นเสียงเดียวกับเสียงพยัญชนะ ข และ ค โดยสมบูรณ์ในปัจจุบัน ไม่ปรากฏรูปคำที่ใช้พยัญชนะ ฃ และ ฅ สะกดอีกต่อไปแล้ว เหตุใดยังคงต้องรักษารูปพยัญชนะ ฃ และ ฅ ไว้ในระบบพยัญชนะภาษาไทยปัจจุบันอีก นั่นเป็นเพราะว่าการที่เรายังคงรูปพยัญชนะ ฃ และ ฅ ไว้ในระบบพยัญชนะไทยนั้นเป็นการรักษาสัญลักษณ์เชิงประวัติของระบบเสียงภาษาไทยไว้ เป็นการบอกให้คนยุคถัดไปได้รู้ว่า ครั้งหนึ่งระบบเสียงพยัญชนะไทยมีเสียงที่แตกต่างกัน ถึง ๔๔ เสียง เราเคยมีเสียงพยัญชนะที่คล้ายคลึงกับเสียง ข และ ค คือเสียงพยัญชนะที่เขียนแทนด้วย ฃ และ ฅ นั่นเอง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าความรู้พื้นฐานเหล่านี้ไม่เป็นที่แพร่หลายหลาย ผู้สอนวิชาภาษาไทยในระดับเบื้องต้นบางคนยังไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้  จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดคนในสังคมจึงยังคงมีคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับพยัญชนะ ฃ และ ฅ อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน

   กล่าวโดยสรุปในอดีตเสียงของพยัญชนะ ฃ และ ฅ เป็นคนละเสียงกับเสียงพยัญชนะ ข และ ค แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องความลำบากในการออกเสียง และเหตุที่ไม่มีพยัญชนะตัวอื่นๆ ในภาษาไทยที่ออกเสียงคล้ายกับพยัญชนะสองเสียงนี้เป็นตัวยึดเสียงของพยัญชนะ ฃ และ ฅ ไว้ ทำให้เสียงของพยัญชนะสองตัวนี้แปรไปเป็นเสียงเดียวกับเสียงของพยัญชนะ ข และ ค ซึ่งออกเสียงคล้ายกัน แต่ทว่าง่ายออกเสียงง่ายกว่าในที่สุด ส่งผลให้การเขียนสะกดคำที่เคยใช้รูปพยัญชนะ ฃ และ ฅ เปลี่ยนไปใช้รูปพยัญชนะของเสียงแปรแทน แต่ถึงไม่ปรากฏรูปคำที่เขียนด้วยพยัญชนะทั้งสองตัวดังกล่าวในปัจจุบันแล้ว แต่เรายังคงรักษารูปพยัญชนะ ฃ และ ฅ ไว้ในระบบพยัญชนะไทยเพื่อเป็นการรักษาสัญลักษณ์เชิงประวัติของระบบเสียงพยัญชนะไทย

บรรณานุกรม
กาญจนา นาคสกุล และคณะ. บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๕.
นิตยา กาญจนะวรรณ. ฃ (ฃวด) ฅ(ฅน) หายไปไหน ใน ภาษาไทยไนส์ตี้ส์. เชียงใหม่: สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, ๒๕๔๒.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ: นามีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖.   
   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16-09-2010 16:12:00 โดย Naomi »

ออฟไลน์ Cha Ris Ma

  • สาระไม่ค่อยมี...หน้าตาดีไปวันๆ
  • เป็ดEros
  • *
  • กระทู้: 3302
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +670/-0
 :m4:
ว้าววววววว ชอบ
ได้ความรู้ใหม่เยอะเลยครับ
 :o8: บางสำนวนใช้ผิดมานาน
ได้แก้ไขก็วันนี้นี่เอง

+1 ให้น้องมิ และคุณ★ShouguN☆

........................................
วิธีลงคลิป ก็อป Embed
<object width="500" height="405"><param name="movie" value="http://www.youtube.com/v/1SW6hCSdKlI&hl=en_US&fs=1&border=1"></param><param name="allowFullScreen" value="true"></param><param name="allowscriptaccess" value="always"></param><embed src="" type="application/x-shockwave-flash" allowscriptaccess="always" allowfullscreen="true" width="500" height="405"></embed></object>

ลบตรงอื่นให้หมด เอาแค่ตรงที่สีฟ้ามาว่าง ลากครอบ แล้วตรงเครื่องหมาย ใส่แฟลช (ตัวแรกที่เป็นกลมๆสี่แดงนะครับ)


ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
ขอบคุณ คุณCha Ris Ma มากนะคะที่สนใจคลิกเข้ามาอ่านกระทู้ของน้องมิ แล้วยังคลิกบวกให้อีก ขอบคุณจริงๆ ค่ะ  :pig4:

จริงๆ แค่คลิกเข้ามาอ่าน อ่านแล้วโพสความคิดเห็น จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อมูลที่น้องมินำเสนอก็ไม่เป็นไรค่ะ แค่นี้น้องมิก็ดีใจมากแล้ว

ขอบคุณอีกเรื่องค่ะ คือเรื่องที่สอนวิธีการโพสไฟล์คลิป ไว้สบโอกาสเจอคลิปดีๆ จะทดลองวิชานะคะ  :กอด1:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13-09-2010 16:53:46 โดย Naomi »

ออฟไลน์ Goodfellas

  • magKapleVE
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1828
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +384/-2
    • Adult games: dating for spicy meetups
ต้องขอขอบคุณน้องมิมากๆเลยนะครับ   ที่ช่วยเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์มาให้ได้อ่านกัน  เพราะอะไรเหล่านี้่พวกเราจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ในการเขียนผลงานกันอยู่แล้ว   ภาษาไทยเรานั้นเป็นอีกภาษาหนึ่งที่มีความเฉพาะตัวสูง ต่างจากภาษาอื่นๆและมีความพิเศษในตัวมากมาย  เช่น  สามารถเขียนแทนเสียงสะกดคำจากภาษาอื่นๆได้แทบทุกภาษา   เพราะเรามีระบบเสียงวรรณยุกต์ที่สมบูรณ์มาก  จึงสามารถที่จะสะกดคำจากภาษาอื่นๆได้ครบทุกคำ  อย่างเช่นในภาษาอังกฤษ คำว่า ช๊อคโกแลต  เราก็สะกดให้อ่านออกเสียงกันได้โดยตรงเลย     ไม่เหมือนบางภาษาอย่างญี่ปุ่น จะสะกดภาษาอื่นแต่ละทีก็ยากเย็น  เพราะพยัญชนะและวรรณยุกต์เค้ามีแค่นั้นจริงๆ  ต้องอาศัยให้ออกเสียงคล้ายๆ  เสียงพยัญชนะบางตัวอย่าง  ฟ.ฟัน    ก็จะไม่มี ต้องใช้อย่างอื่นมาแทน       สังเกตได้ว่านี่ก็คงเป็นอีกสาเหตุที่คนญี่ปุ่นมักไม่ชอบเรียนภาษาอังกฤษกัน   เพราะว่าการเรียนการสอนถูกจำกัดลงจากการที่ไม่สามารถสื่อให้ผู้ที่เรียนเข้าใจได้ง่ายๆ     ต้องเน้นแต่การจดจำอย่างเดียว     ไม่สามารถอ่านออกเสียงได้โดยตรงอย่างถูกต้องนี่เองครับ     
     
        ที่จริงผมอยากรบกวนน้องมินำเรื่องเกี่ยวกับหลักการใช้ย่อหน้า และการใช้เว้นวรรคในการเขียนผลงานวรรณกรรมมาลงให้่หน่อยนะครับ        เพราะตัวผมเองเดี๋ยวนี้ลืมหลักมันไปซะแล้ว    สงสัยคืนอาจารย์ไปหมด อิอิ    ทุกวันนี้เลยเขียนงานแล้วบางทีมันก็ลังเลว่าจะเว้นวรรคตรงไหนยังไงดีถึงจะถูกตามหลัก     อ่านแล้วไม่รู้สึกขัดๆน่ะครับ    แล้วก็จะได้เป็นประโยชน์กับเพื่อนๆน้องๆที่จะเขียนงานมาให้อ่านกันด้วยครับ       และสุดท้ายนี้ก็ต้องขอบคุณอาจารย์น้องมิอีกทีนะครับผมที่เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างนี้มาให้อ่านกันครับ

CoMMuNiTY Of ThAiBoYsLoVE

ประกาศที่สำคัญ


ตั้งบอร์ดเรื่องสั้น ขึ้นมาใครจะโพสเรื่องสั้นให้มาโพสที่บอร์ดนี้ ถ้าเรื่องไหนไม่จบนานเกิน 3 เดือน จะทำการลบทิ้งทันที
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=2160.msg2894432#msg2894432



รวบรวมปรับปรุงกฏของเล้าและการลงนิยาย กรุณาเข้ามาอ่านก่อนลงนิยายนะครับ
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=459.0



สิ่งที่ "นักเขียน" ควรตรวจสอบเมื่อรวมเล่มกับสำนักพิมพ์
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=37631.0






ออฟไลน์ philophobia

  • เป็ดHera
  • *
  • กระทู้: 945
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +426/-5
เคยเห็น พิธีกรรายการหนึ่ง พูดด้วยความมั่นอกมั่นใจ เรื่อง กระด้างภัณฑ์ ละมุนภัณฑ์ มาจากราชบัณฑิตยสถาน

ก็เลยทำให้ระลึกได้ว่า ความเข้าใจผิดเรื่องภาษาไทยในปัจจุบันมีอยู่มากทีเดียว

ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
Re: "ฃ" ที่ไม่ใช่ ขŪ
«ตอบ #41 เมื่อ13-09-2010 14:46:51 »

ขอบคุณ philophobia นะคะที่คลิกเข้ามาอ่านกระทู้นี้

   
        ที่จริงผมอยากรบกวนน้องมินำเรื่องเกี่ยวกับหลักการใช้ย่อหน้า และการใช้เว้นวรรคในการเขียนผลงานวรรณกรรมมาลงให้่หน่อยนะครับ        เพราะตัวผมเองเดี๋ยวนี้ลืมหลักมันไปซะแล้ว    สงสัยคืนอาจารย์ไปหมด อิอิ    ทุกวันนี้เลยเขียนงานแล้วบางทีมันก็ลังเลว่าจะเว้นวรรคตรงไหนยังไงดีถึงจะถูกตามหลัก     อ่านแล้วไม่รู้สึกขัดๆน่ะครับ    แล้วก็จะได้เป็นประโยชน์กับเพื่อนๆน้องๆที่จะเขียนงานมาให้อ่านกันด้วยครับ       และสุดท้ายนี้ก็ต้องขอบคุณอาจารย์น้องมิอีกทีนะครับผมที่เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างนี้มาให้อ่านกันครับ

 

         ตอบคุณ Goodfellas ค่ะ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณก่อนนะคะที่สนใจคลิกเข้ามาอ่านกระทู้นี้ อันนที่จริงเรื่องการเขียนวรรคตอนน้องมิเคยเห็นมีคนโพสไว้แล้วนะคะ แต่จำไม่ได้ว่าเป็นกระทู้ไหน และเป็นกระทู้ของใคร

         อีกอย่างน้องมิเองก็ไม่เคยเขียนงานวรรณกรรมที่เป็นบันเทิงคดีเลยสักเรื่อง แต่โดยส่วนตัวเวลาเขียนเว้นวรรคแต่ละครั้งยึดหลักที่ว่าจบประโยคหนึ่งประโยคเว้นหนึ่งครั้ง และ เว้นวรรคทุกครั้งที่เขียนเครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ ในประโยค (เช่นในกรณีนี้)

         ในส่วนของการขึ้นย่อหน้าใหม่นั้นจะขึ้นเมื่อจบประเด็นหนึ่งๆ คือในแต่ละย่อหน้าจะมีประเด็นที่เป็นใจความหลักหนึ่งใจความ แต่ขอบ่นนิดหนึ่งค่ะว่าระบบการพิมพ์ตอบกระทู้นั้นจัดหน้าลำบากมากโดยเฉพาะเวลาพิมพ์เว้นวรรคคำประพันธ์ บางครั้งตอนพิมพ์ในช่องพิมพ์ข้อความก็ดูว่าจัดหน้าดีแล้ว แต่พอคลิก Post ผลปรากฏออกมาว่าข้อความที่พิมพ์ไปเลื่อนหมดเลย   :เฮ้อ:

ปล. แก้ความเข้าใจผิดก่อนค่ะ ตอนนี้น้องมิไม่ได้เป็นอาจารย์นะคะ ยังเป็นนักศึกษาอยู่ค่ะ  

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13-09-2010 15:36:12 โดย Naomi »

ออฟไลน์ philophobia

  • เป็ดHera
  • *
  • กระทู้: 945
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +426/-5
จัดย่อหน้าลำบากจริง ๆ ครับ ทำให้บางทีก็ต้องละเลยการจัดย่อหน้าไปบ้าง

ออฟไลน์ PHUCK™

  • เป็ดHephaestus
  • *
  • กระทู้: 1500
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +625/-31
.
.
.




เมื่อคืนเพิ่งได้คุยกับน้องคนหนึ่งที่เรียนอักษรศาสตร์ ศิลปากร แล้วก็เลยคุยถึงน้องมิด้วย ...
น้องคนนั้นบอกว่าน่าจะอยู่รุ่นเดียวกัน ... แต่ไม่รู้ว่าเก็บขาเอกอะไร ..
ผมเลยบอก เดาจากกระทู้ที่ตั้งๆ น่าจะไม่เอกไทย ก็ ประวัติฯ ไม่รู้ถูกรึเปล่า ก็เดาไป ...

 :laugh: :laugh:


ความจริงแล้วผมเป็นเด็กช่างสงสัยมาตั้งแต่เด็ก แต่มีหนึ่งคำถามที่อาจารย์ตอบไม่ได้ และเพื่อนก็ไม่ตอบ เพราะมันหาว่าผมกวนตีนมัน
เห็นน้องมิสนใจด้านภาษาศาสตร์เลยว่าจะถามสักหน่อย ..
คือผมสงสัยมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าไอ้ที่เราเรียกๆ ใช้ๆกันอยู่ในปัจจุบันเนี่ย แต่ละคำมันมีที่มาอย่างไรเหรอครับ
เข้าใจว่าภาษาไทยอ้างอิงและผันมาจากหลากหลายภาษา ได้รับอิทธิพลมาจากหลายเมือง หลายถิ่น

ยกตัวอย่างเช่นคำว่า "ตู้เย็น" ทำไมถึงต้องเป็น "ตู้เย็น" ด้วยล่ะ
เพื่อนหลายๆคนก็บอกว่าก็มันเป็นคำประสม เอาคำว่า "ตู้" มารวมกับคำว่า "เย็น" เพราะมันมีลักษณะเป็นตู้ แล้วให้ความเย็น
ไอ้นั่นน่ะผมก็รู้อยู่แล้ว ... แต่ที่อยากรู้ก็คือ ทำไมไอ้สิ่งแบบนี้ลักษณะแบบนี้ถึงต้องเรียกว่า "ตู้"
ไอ้อาการ ความรู้สึกแบบนี้ เรียกว่า "เย็น" มันอ้างอิงหรือเพี้ยนมาจากคำว่าอะไร เลียนเสียงสัตว์ หรือ ธรรมชาติ หรือว่ายังไง

น้องมิพอจะอธิบายได้รึเปล่าครับ ไม่ก็แนะนำหนังสือมาให้ผมอ่านก็ได้ T___________T''

ปล. ถ้าน้องมิจะเขียนอธิบายขอแบบเข้าใจง่ายๆๆนะครับ อย่าใช้ภาษาเชิงวิชาการมากนัก ผมปวดหัว อิอิ
ขอบคุณน้องมิมากกกกค้าบบ บ  :'))


ออฟไลน์ Cha Ris Ma

  • สาระไม่ค่อยมี...หน้าตาดีไปวันๆ
  • เป็ดEros
  • *
  • กระทู้: 3302
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +670/-0
^
^
 :-[ เคยแอบสงสัยเหมือนรีบนครับ
แต่ไม่เคยถามใคร


เคยสงสัยเหมือนกันว่า "โต๊ะ" ทำไมต้องเรียกโต๊ะ
แต่เมื่อนานมาแล้ว 555+

ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
Re: "ฃ" ที่ไม่ใช่ ขŪ
«ตอบ #45 เมื่อ13-09-2010 18:17:34 »

.
ความจริงแล้วผมเป็นเด็กช่างสงสัยมาตั้งแต่เด็ก แต่มีหนึ่งคำถามที่อาจารย์ตอบไม่ได้ และเพื่อนก็ไม่ตอบ เพราะมันหาว่าผมกวนตีนมัน
เห็นน้องมิสนใจด้านภาษาศาสตร์เลยว่าจะถามสักหน่อย ..
คือผมสงสัยมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าไอ้ที่เราเรียกๆ ใช้ๆกันอยู่ในปัจจุบันเนี่ย แต่ละคำมันมีที่มาอย่างไรเหรอครับ
เข้าใจว่าภาษาไทยอ้างอิงและผันมาจากหลากหลายภาษา ได้รับอิทธิพลมาจากหลายเมือง หลายถิ่น

ยกตัวอย่างเช่นคำว่า "ตู้เย็น" ทำไมถึงต้องเป็น "ตู้เย็น" ด้วยล่ะ
เพื่อนหลายๆคนก็บอกว่าก็มันเป็นคำประสม เอาคำว่า "ตู้" มารวมกับคำว่า "เย็น" เพราะมันมีลักษณะเป็นตู้ แล้วให้ความเย็น
ไอ้นั่นน่ะผมก็รู้อยู่แล้ว ... แต่ที่อยากรู้ก็คือ ทำไมไอ้สิ่งแบบนี้ลักษณะแบบนี้ถึงต้องเรียกว่า "ตู้"
ไอ้อาการ ความรู้สึกแบบนี้ เรียกว่า "เย็น" มันอ้างอิงหรือเพี้ยนมาจากคำว่าอะไร เลียนเสียงสัตว์ หรือ ธรรมชาติ หรือว่ายังไง

น้องมิพอจะอธิบายได้รึเปล่าครับ ไม่ก็แนะนำหนังสือมาให้ผมอ่านก็ได้ T___________T''

ปล. ถ้าน้องมิจะเขียนอธิบายขอแบบเข้าใจง่ายๆๆนะครับ อย่าใช้ภาษาเชิงวิชาการมากนัก ผมปวดหัว อิอิ
ขอบคุณน้องมิมากกกกค้าบบ บ  :'))


จากคำถามที่ถามว่าทำไมจึงเรียกสิ่งนี้ว่าตู้ ทำไมจึงเรียกคำนี้ว่าอย่างนี้ ทำไมจึงเรียกสิ่งนั้นว่าอย่างนั้น คำตอบก็คือ ไม่มีคำตอบ ค่ะ ไม่มีใครตอบได้ว่าทำไมสมมติเสียงนี้แทนสิ่งนี้  เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของภาษาชัดเจนขึ้น น้องมิขออธิบายลักษณะโดยทั่วไปของภาษาให้ฟังก่อนนะคะ ลักษณะทั่วไปของภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาใดๆ ในโลกนักภาษาศาสตร์สรุปไว้ดังนี้ค่ะ
1. ภาษาเป็นเสียงที่มีความหมาย
2. ภาษาทุกภาษามีระบบ กฎเกณฑ์ (ไวยากรณ์)
3. ภาษาเป็นสิ่งสมมติ
4. ภาษามีความสมบูรณ์ในตัวเอง
5. ภาษามีพลังงอกงามไม่รู้จบ
6. ภาษามีลักษณะทางสังคม

       จากข้อสงสัยของคุณ ณ กาลครั้งหนึ่งนั้น ตรงกับหลักในข้อ 3 และ 6 โดยตรง ดังนั้นจึงขออนุญาตขยายความเพิ่มเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสองข้อดังกล่าวนี้เท่านั้นนะคะ

              การกำหนดเสียงให้แทนความหมายนั้น เป็นเรื่องสมมติที่คนในแต่ละกลุ่มตกลงกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลหรือความถูกต้องตามหลักธรรมชาติ สิ่งที่คนไทยเรียกว่าข้าว เรียกอย่างอื่นก็ได้ในกรณีอยู่อีกสังคมหนึ่ง เช่นคนจีนเรียกฝั้น คนญี่ปุ่นเรียก gohan คนเขมรเรียกบาย คนมอญเรียกเปิง คนอังกฤษเรียก rice แต่ข้าวก็คือข้าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามเสียงที่เรียกกัน ไม่มีส่วนไหนของข้าวที่จะบอกว่าคำใดถูกคำใดผิด คนในแต่ละกลุ่มแต่ละชาติจะเข้าใจตรงกันในกลุ่มของตน การกำหนดเสียงให้แทนความหมายจึงเป็นสิ่งสมมติ ซึ่งเมื่อครั้งที่คนในสังคมกำหนดเสียงแทนคำพื้นฐานต่างๆ ว่าจะใช้เสียงนี้แทนสิ่งนี้ จะใช้เสียงนั้นแทนสิ่งนั้น ก็เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานเกินกว่าจะสืบสร้างขึ้นไปเพื่อหาเหตุผลได้ และเมื่อครั้งที่คนในสังคมตกลงกันก็ไม่ได้มีการบันทึกเหตุผลไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีเหตุผลใดจึงสมมติแบบนั้น (เพราะตัวอักษรหรือภาษาเขียนเกิดหลังภาษาพูดตั้งนาน อย่างตัวอักษรไทยของเราก็เชื่อกันว่าเพิ่งเกิดมาได้แค่ 700 กว่าปีเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้า 700 ปีขึ้นไปนั้นเราก็ต้องมีภาษาพูดกันอยู่ก่อนแล้ว)

                แล้วอย่างนั้นวิชาภาษาศาสตร์เชิงประวัติให้คำตอบของข้อสงสัยนี้ไม่ได้หรือ ก่อนอื่นต้องเข้าใจขอบเขตของภาษาศาสตร์เชิงประวัติก่อนว่าเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการแปรของภาษาจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน โดยศึกษาจากหลักฐานลายลักษณ์ต่างๆ ที่ยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ว่าในอดีตคำๆ นี้เคยออกเสียงว่าอย่างไร ตัวอักษรตัวนี้มีรูปเขียนอย่างไร และคำๆ นี้เปลี่ยนแปลงความหมายไปจากเดิมอย่างไร จะเห็นได้ว่าขอบเขตของภาษาศาสตร์เชิงประวัติมุ่งศึกษาเฉพาะกลวิธีการเปลี่ยนแปลงเป็นสำคัญ

             แต่ถึงอย่างนั้นก็มีบางคนเสนอว่าคำบางคำเราสามารถบอกที่มาได้ว่าทำไมจึงสมมติให้ออกเสียงอย่างนั้น คำเหล่านั้นคือคำที่เกิดจากการเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เรียกนกตัวที่มีขนสีดำทั้งตัว ปากยาวเป็นสีดำว่า กา เนื่องจากมันร้อง กากา เรียกสัตว์สี่ขา เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะคล้ายเสือ แต่ตัวเล็กกว่าว่า แมว เนื่องจากมันร้อง แมว แมว แต่แนวความคิดนี้น้องมิไม่ค่อยเห็นด้วยค่ะ เนื่องจากถ้าคำเหล่านั้นเกิดจากการเลียนเสียงธรรมชาติจริง มนุษย์ทั่วโลกก็น่าจะมีประสาทหูที่รับฟังเสียงได้เหมือนๆ กัน แล้วสมมติให้สัตว์เหล่านั้นมีชื่อเรียกที่เหมือนกันไม่ว่าจะอยู่ในสังคมที่พูดภาษาใด แต่ทำไมสัตว์เหล่านั้นยังมีคำสมมติที่เกิดจากเสียงร้องที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสังคม ทำไมคนแต่ละสังคมถึงฟังเสียงธรรมชาตินั้นได้ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคำเรียกสัตว์ที่บอกว่ามาจากการเลียนเสียงธรรมชาตินั้นเป็นการเลียนเสียงธรรมชาติจริงหรือ

           ส่วนเรื่องที่เพื่อนคุณ ณ กาลครั้งหนึ่งบอกว่า "ที่เรียกตู้เย็นเพราะมันเป็นคำประสมไง เกิดจากนำคำนี้มาประสมกับคำนี้" อันนี้เป็นเรื่องของกลวิธีการสร้างคำใหม่ขึ้นใช้ในภาษาไทย เพื่อให้ภาษาไทยมีคำสำหรับรองรับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

          ที่น้องมิพิมพ์ตอบไปเป็นการสรุปจากที่จดตอนอาจารย์บรรยายในชั้นเรียน รวมกับข้อมูลจากหนังสือบรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม 1 ไม่รู้ว่าคำตอบของน้องมิจะเหมือนกับที่คุณครู และ เพื่อน บอกไว้ หรือเหมือนกับที่คุณ ณ กาลครั้งหนึ่งทราบอยู่แล้วรึเปล่านะคะ หรือว่าคำตอบของน้องมิจะทำให้คุณงงเข้าไปใหญ่ก็ไม่รู้นะคะ ถ้าไม่กระจ่างหรือยังมีข้อสงสัยก็หาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือภาษาศาสตร์เบื่องต้นของสำนักพิมพ์ไหนก็ได้ค่ะ มีตอนที่อธิบายลักษณะธรรมชาติของภาษาเหมือนกันค่ะ  :m23:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01-10-2010 02:21:07 โดย なおみ™ »

b27072010

  • บุคคลทั่วไป
ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเลยแหละนะ

ออฟไลน์ Goodfellas

  • magKapleVE
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1828
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +384/-2
    • Adult games: dating for spicy meetups
ขอบคุณครับ
«ตอบ #47 เมื่อ13-09-2010 19:52:59 »



ปล. แก้ความเข้าใจผิดก่อนค่ะ ตอนนี้น้องมิไม่ได้เป็นอาจารย์นะคะ ยังเป็นนักศึกษาอยู่ค่ะ  


อืม  ไม่ได้เข้าใจผิดหรอกครับผม  แบบว่าผมนับถือให้เป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์ของผมไง อิอิ

       สำหรับเรื่องที่แต่ละภาษานั้นเรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของต่างๆกันไปตาเหตุผลเนี่ยนะ  ผมว่าถกกันไปอีกร้อยปีก็ไม่จบ   เพราะมันเยอะเหลือเกิน   แต่อย่างนึงที่ผมก็เคยสงสัยเหมือนกันครับน้องมิ  ก็คือคำว่า "แม่" ของหลายๆภาษาจะออกเสียงคล้ายกันอยู่คือ เป็นเสียงพยัญชนะ ม.ม้า  อย่างภาษาจีนก็ หม่าม๊า  ภาษาอังกฤษก็ mother Mama   หรือว่าภาษาเหล่านี้มีการใช้คล้ายกันเพราะรับวัฒนธรรมมาหรือเปล่า   หรือเพราะว่าทารกออกเสียงเรียกแม่ครั้งแรกก็เป็นเสียงแบบ"ม.ม้า"แบบนี้   ก็น่าคิดดีนะครับ

       ส่วนที่น้องมิอธิบายเรื่องการเว้นวรรคนั้น  ก็พอเข้าอยู่นะครับ  แต่บางทีมันก็สงสัยไง  หากว่าถ้าเราเว้นเฉพาะเมื่อจบ 1 ประโยคมันก็โอเคนะครับ   แต่การเขียนงานวรรณกรรมนี่บางทีมันจะไปยึดหลักแบบนี้สงสัยว่าคงไม่ได้ทั้งหมด   เพราะบางที่มันไม่เป็นประโยคก็มีครับ  หรือเป็นส่วนต่างๆของวลีอีกที  มันก็มีหลายอย่างน่ะครับ  บางทีเราก็จะสับสนได้   แต่ไม่เป็นไรครับ  ผมแค่ลองรบกวนถามน้องมิไปเฉยๆน่ะ  ไว้จะลองไปค้นๆกระทู้เก่าหาอ่านเรื่องนี้ที่เคยโพสไว้ก็ได้ครับผม  ขอบคุณมากนะครับ      
        


ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
Re: ขอบคุณครับ
«ตอบ #48 เมื่อ13-09-2010 20:48:43 »


แต่อย่างนึงที่ผมก็เคยสงสัยเหมือนกันครับน้องมิ  ก็คือคำว่า "แม่" ของหลายๆภาษาจะออกเสียงคล้ายกันอยู่คือ เป็นเสียงพยัญชนะ ม.ม้า  อย่างภาษาจีนก็ หม่าม๊า  ภาษาอังกฤษก็ mother Mama   หรือว่าภาษาเหล่านี้มีการใช้คล้ายกันเพราะรับวัฒนธรรมมาหรือเปล่า   หรือเพราะว่าทารกออกเสียงเรียกแม่ครั้งแรกก็เป็นเสียงแบบ"ม.ม้า"แบบนี้   ก็น่าคิดดีนะครับ


       เท่าที่เคยอ่านเจอแต่จำไม่ได้แล้วว่ามากหนังสือเล่มไหนนะคะ น่าเสียดาย เขาอธิบายประมาณว่าคำเรียกพ่อ และ แม่ ของเกือบทุกภาษาฐานกรณ์จะอยู่ที่ริมฝีปาก ซึ่งเป็นเสียงที่ออกง่ายที่สุด และเป็นเสียงแรกที่มนุษย์ออกได้  มนุษย์จึงใช้เสียงนี้เรียกบุคคลแรกที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์ที่สุด ประมาณนี้น่ะค่ะ แต่รายละเอียดจำไม่ได้แล้ว ใครทราบช่วยเพิ่มเติมหน่อยนะคะ หรือใครที่มีข้อมูลอย่างอื่นแย้งได้เลยค่ะ น้องมิจะได้เข้าใจถูกต้อง 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13-09-2010 20:51:58 โดย Naomi »

ออฟไลน์ Goodfellas

  • magKapleVE
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1828
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +384/-2
    • Adult games: dating for spicy meetups
อ๋อ  มันเป็นอย่างนี้นี่เอง  ขอบคุณคร้าบ น้องมิ :pig4:

CoMMuNiTY Of ThAiBoYsLoVE






anajulia

  • บุคคลทั่วไป
เข้ามาขอบคุณคุณน้องมิเรื่องของ ฃ และ ฅ ค่ะ
เคยเรียนเมื่อตอนเด็กๆว่าเพราะออกเสียงไม่เหมือนกันกับ ข และ ค
แต่พอถามคุณครูว่าแล้วมันออกเสียงต่างกันอย่างไร ก็ยังไม่เคยมีคุณครูท่านไหนออกเสียงให้เรารู้สึกต่างกันได้สักที

สำหรับคำว่าพ่อและแม่ในภาษาต่างๆ เท่าที่เรียนมาก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่คุณน้องมิอธิบายไปค่ะ
เสียง พ เสียง ม เสียง ป ต่างก็เป็นเสียงที่ใช้ริมฝีปากซึ่งง่ายที่สุดจริงๆค่ะ

Bench

  • บุคคลทั่วไป
ชอบกระทู้นี้จังเลยครับ
บางทีมีข้อสงสัย  อาจจะมาขอถาม จขกท. บ้าง  จะรังเกียจไหมครับ???

เอาไปก่อนเลยแล้วกันครับ +1
 :m4:

ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
ชอบกระทู้นี้จังเลยครับ
บางทีมีข้อสงสัย  อาจจะมาขอถาม จขกท. บ้าง  จะรังเกียจไหมครับ???

เอาไปก่อนเลยแล้วกันครับ +1
 :m4:


ขอบคุณนะคะที่คลิกเข้ามาอ่านแล้วกดบวกให้ ไม่รังเกียจหรอกค่ะ จริงๆ น้องมิก็ไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไรหรอกค่ะ อาศัยว่าอ่านเจอมา เลยสรุปเอามาแบ่งกันอ่าน แต่ถ้ามีคำถามอะไรที่น้องมิรู้ ก็ยินดีตอบค่ะ  :กอด1:

ออฟไลน์ drasil

  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1691
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +95/-1
กระทู้ดี มีสาระค่ะ

Abracadabra

  • บุคคลทั่วไป
ขออภัยครับที่แอบขุดกระทู้คุณมิขึ้นมาอีก

เพราะว่าเดี๋ยวนี้เห็น  ข๊  อ๊  ค๊

เห็นทีไรแล้วปวดหัว  :serius2:

ออฟไลน์ nookik

  • ลั้นลาบางเวลาเจ้าค่ะ
  • เป็ดมหาวิทยาลัย
  • *
  • กระทู้: 564
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +39/-1
ขออภัยครับที่แอบขุดกระทู้คุณมิขึ้นมาอีก

เพราะว่าเดี๋ยวนี้เห็น  ข๊  อ๊  ค๊

เห็นทีไรแล้วปวดหัว  :serius2:


เห็นด้วยยยย


ปวดหัวมากมาย ตอนแรกเห็นแล้ว แบบ อารายเนี๊ยยย

ออฟไลน์ なおみ™

  • เดียวดาย...ในโลกกว้าง
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1892
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +162/-6
ขออภัยครับที่แอบขุดกระทู้คุณมิขึ้นมาอีก

เพราะว่าเดี๋ยวนี้เห็น  ข๊  อ๊  ค๊

เห็นทีไรแล้วปวดหัว  :serius2:

เห็นด้วยยยย

ปวดหัวมากมาย ตอนแรกเห็นแล้ว แบบ อารายเนี๊ยยย

ดีใจนะคะที่เห็นคนรักภาษาไทย

น้องมิเห็นคุณหนูกิ๊กห่วงใยปัญหาการเขียนสะกดคำ ไม่อยากเห็นคนเขียนสะกดคำผิด ดังนั้นจึงอยากให้คุณหนูกิ๊กสังเกตคำว่า เนี๊ยยย ที่เขียนหน่อยนะคะ

"เนี๊ยยย" คุณหนูกิ๊กตั้งใจจะให้ออกเสียงเป็นเสียงตรีใช่ไหมคะถึงได้ใส่รูปวรรณยุกต์ตรีที่คำนี้ ไม่ทราบว่าคุณหนูกิ๊กทราบรึเปล่าว่า คำที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำตามกฎไตรยางศ์จะไม่เขียนประสมรูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวาเป็นอันขาด แต่แม้ว่าจะไม่ใช้รูปวรรณยุกต์ตรีแต่ก็ทำให้คำนั้นออกเสียงเป็นเสียงตรีได้ด้วยการเติมรูปวรรณยุกต์โทค่ะ ดังนั้นอารายเนี๊ยยย ต้องเขียนว่า อะไรเนี้ย หรือ อะไรเนี่ย นะคะ

ด้วยความปรารถนาดี  :กอด1:  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06-10-2010 21:51:29 โดย なおみ™ »

ไอ้ตัวป่วน

  • บุคคลทั่วไป
ดัน ดัน ดัน
เพราะอยากจะ
ดัน ดัน ดัน
 :z2:

shunsuke15

  • บุคคลทั่วไป
สาระ !!!! o13

BalTaZA

  • บุคคลทั่วไป
ทำไมระบบโพสข้อความไม่มีเช็คคำผิดเหมือนใน Wordนะ     :เฮ้อ:

 

สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด


สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด