ฝากไว้ในมือเธอ [บทที่ 11] 22 ก.ย. 58 หน้า 6
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด

สนใจโฆษณาติดต่อ laopedcenter[at]hotmail.com คลิ๊กรายละเอียดที่ตำแหน่งว่างเลยครับ

สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด

ผู้เขียน หัวข้อ: ฝากไว้ในมือเธอ [บทที่ 11] 22 ก.ย. 58 หน้า 6  (อ่าน 43354 ครั้ง)

ออฟไลน์ ohuii

  • Why I cannot upload profile picture?
  • เป็ดเด็กช่าง
  • *
  • กระทู้: 347
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +25/-4
Re: ฝากไว้ในมือเธอ [บทที่ 2] 17 พ.ค. 57
«ตอบ #30 เมื่อ21-05-2014 13:18:46 »

ภาษาเรียบลื่นมากๆเลยค่ะ อ่านเพลินแต่ต้องตั้งใจอ่านเพราะศัพท์คุณหมอคนอ่านไม่คุ้นเท่าไหร่ 55
 คนเขียนเป็นคุณหมอหรือเปล่าคะเขียนได้ลื่นมากเลย

ออฟไลน์ SenzaAmore

  • Where troubles melt like lemon drops....
  • เป็ดHestia
  • *
  • กระทู้: 713
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +79/-0
Re: ฝากไว้ในมือเธอ [บทที่ 2] 17 พ.ค. 57
«ตอบ #31 เมื่อ23-05-2014 11:39:34 »

 o13 สนุกค่ะ พอดีเรียนในวิชาชีพสายนี้พอดีเลยรู้สึกอ่านแล้วเห็นภาพเลยค่ะ 555

รอตอนต่อไปน้า +1ให้กำลังใจ :กอด1:

ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
Re: ฝากไว้ในมือเธอ [บทที่ 3] 31 พ.ค. 57
«ตอบ #32 เมื่อ31-05-2014 03:28:25 »

บทที่ 3

“เป็นไรวะหน้าตาไม่ค่อยเสบย”

คำทักทายประโยคแรกที่ศิวัชเอ่ยเมื่อเห็นหน้าเพื่อนในเช้าวันรุ่งขึ้นได้รับเพียงการสั่นศีรษะตอบกลับมา เมื่อคืนหลังจากพยายามกินข้าวเย็นไปแล้ว รักษิตก็นั่งอยู่ที่โต๊ะอีกพักอย่างไม่รู้จะทำอะไรดี อ่านหนังสือก็ยังไม่มีสมาธิพอ รอแม่ก็ไม่ทราบเมื่อไรถึงจะกลับ เพราะบางครั้งเมื่อออกงานค่ำซึ่งไม่พ้นเพื่อเป็นการหาลู่ทางธุรกิจเสร็จสิ้น คุณตรีรัตน์มักวกกลับไปที่บริษัท ติดต่อกับหุ้นส่วนในอีกทวีป บางครั้งก็ค้างที่นั่นเลย

เขาจึงตัดสินใจกลับมานอนหอเหมือนเดิมดีกว่า

... แต่พอได้ยินรูมเมตคุยกันเรื่องคนไข้ที่รับไว้ซึ่งเพิ่งเสียชีวิต ก็อดหดหู่ตามไปด้วยไม่ได้ แม้ความตายจะเป็นสิ่งที่ต้องพบเจออยู่เสมอตราบใดที่ยังทำงานแบบนี้ และนักศึกษาแพทย์ถูกอบรมให้เตรียมรับมือไว้บ้างแล้วก็ตาม

รักษิตถามถึงเพื่อนร่วมห้องของอีกฝ่ายซึ่งมักจะลงมาพร้อมกันเนื่องจากขึ้นวอร์ดเดียวกันอยู่แล้ว ศิวัชตอบว่า

“เมื่อคืนไม่มีเวร เอ้อ้วนเลยนอนบ้านที่ปทุม กลับมาทีไรค่อยเบิกบานหน่อยเพราะได้เจอแม่ เจอน้อง”

เขานี่... เจอคนในครอบครัวก็เหมือนไม่เจอ แต่รักษิตหยุดความสงสารตัวเองไว้เพราะ... ทุกคนต่างมีปัญหากันทั้งนั้น ศิวัชเองกลับบ้านนับครั้งได้ เขาพอรู้เลาๆ แต่เรื่องค่อยชัดเจนขึ้นเมื่อศิวัชโทรศัพท์หาเขาวันก่อนจะไปลงพื้นที่เวชศาสตร์ชุมชนด้วยกันก่อนขึ้นปีสี่

‘ถึงหอแล้วใช่มั้ยษิต’

เขาตอบว่าเพิ่งเอาของเก็บเมื่อสักครู่นี้เอง ได้ยินเสียงในสายพูดต่อ ‘เออดี ลงมาช่วยถือของหน่อยเถอะ พอม้ารู้ว่าจะไปลงชุมชนต่างจังหวัดก่อนเปิดเทอมกลัวไม่มีกินเลยทำมาให้เยอะเลย’ ตามด้วยเสียงถอนใจหนึ่งเฮือก

‘ไม่ได้กันดารขนาดนั้น’ รักษิตจำได้ว่าตอบไป ส่วนเพื่อนพูดเสียงหน่าย

‘รู้ แต่ไม่เอามาก็เฮิร์ตอีกป่ะ เท่านี้ก็บ่นว่ามีลูกเหมือนไม่มี ไม่ค่อยอยู่บ้านแล้ว เอาเหอะจะได้แบ่งคนอื่นกินด้วย นี่มารึยังษิต’

เขาจึงรีบลงจากหอ เห็นศิวัชยืนอยู่ข้างรถคันหนึ่งกำลังลำเลียงข้าวของวางบนพื้น กระจกด้านคนขับถูกลดลง ได้ยินเสียงพูดลอดออกมาชัด

‘นี่เฮียลื้อจะจบปีหน้านี้แล้ว ได้มาทำมาหากินช่วยพ่อช่วยแม่ ลื้อเท่าไหร่นะ อีกสามปี? เสร็จแล้วก็ไม่ได้มาช่วยที่บ้านอยู่ดี’

รักษิตเห็นเพื่อนยืดตัวขึ้น ตอบด้วยเสียงค่อนข้างดัง

‘อากงครับ! อย่างน้อยมันก็มีประโยชน์ตอนป่วยไข้ขึ้นมาก็แล้วกัน ผมไม่ได้แช่งใครทั้งสิ้นนะอย่าเข้าใจผิด แต่ต้องมีบ้างล่ะที่คนเราจะป่วย’

‘กว่าลื้อจะเรียนจบ กงแก่กว่านี้อีก ลื้อไปใช้ทุนต่างจังหวัดงกๆ ไม่ได้มารักษาหรอก กงซี้ก่อน!’

... ศิวัชเถียงไม่ออกเรื่องต้องใช้ทุนตามหน้าที่ ได้แต่พนมมือไหว้บอกว่า ‘ผมไปละ ขอให้อากงสุขภาพแข็งแรง’

เพื่อนยืนรีรออยู่ทันได้ไหว้ตาม จากนั้นช่วยโกยที่เหลือขึ้นมาถือ ส่วนศิวัชสะพายเป้มือหิ้วของเดินดุ่มๆ นำหน้ากลับเข้าหอ

ลูกพี่ลูกน้องของศิวัชเรียนเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจจะดูใช้ช่วยงานการได้มากกว่าในครอบครัวที่เน้นเรื่องค้าขายแต่รุ่นบรรพบุรุษอย่างบ้านของเพื่อน แต่รักษิตคิดว่าอากงของศิวัชรักหลานคนเล็กไม่น้อยไปกว่าตัวญาติผู้พี่ ไม่อย่างนั้นคงไม่ขับรถมาส่งถึงคณะเพื่อให้มาเรียนต่อ

แต่นั่นแหละ ยังต้องเป็นไม้เบื่อไม้เมากันอยู่ดี... และอาจเป็นต่อไปอีกนาน เนื่องด้วยหลานไม่อยากฟังปู่บ่นเชิงเปรียบเทียบเพราะทำอย่างไรก็คงไม่สามารถจบ ‘เร็วๆ’ ภายในสี่ปีพร้อมลูกพี่ลูกน้อง และมาช่วยงานที่บ้านได้ทันทีแน่ๆ ส่วนแม่ออกแนวห่วงลูกชายคนเดียว คอยซักคอยถามอยู่บ่อยๆ ถึงความกันดารอันคิดไปก่อนล่วงหน้าของพื้นที่ใช้ทุน แม้ตอนนี้จะไม่รู้ว่าต้องลงเอยที่ไหน แต่ ‘ม้า’ ก็คาดว่าต้องห่างไกลความเจริญทุกที่ไป

เมื่อบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ค่อนข้างวุ่นวาย เพื่อนเลยได้ข้ออ้างบอกพ่อแม่ แม้จะไม่มีเวรก็... อยู่หออ่านหนังสือ

ถ้าศิวัชไม่ค่อยอยากจะกลับบ้านเพราะเหตุคนอยู่เยอะ เขาก็คง... ไม่อยากกลับเพราะไม่มีใครอยู่เลยละมัง

“ไปหาอะไรกินกันก่อน” ศิวัชตบบ่าเขา “กองทัพเดินได้ด้วยท้อง วอร์ดเดินได้ด้วยมดงานอย่างเรา นี่ตั้งแต่ขึ้นวอร์ดศัลย์มาตีห้าตื่นเองเลย หิวว่ะ ท้องร้อง”

รักษิตเดินตามเพื่อนไปโดยดีแม้ยังไม่รู้สึกอยากกินอะไร หวังว่าเมื่อเห็นอาหารจริงๆ แล้วจะหิวขึ้นมาได้บ้าง ศิวัชเล่าว่าเมื่อวานเจอเกตุวดีตอนลงจากเวร หวิดโดนกัดเสียอีกแล้ว

"... ตอนพี่เกี้ยวขึ้นจิตเวชก็เคยโดนกัดเหมือนกัน” รักษิตพูด จำได้จากที่เกตุวดีเคยบอก

"สงสัยถ่ายทอดในยีน ยีนแนวโน้มว่าจะถูกกัด" ศิวัชว่าไปเรื่อยพลางหัวเราะ "ดีนะ เกดไม่มีน้องอีก...”

บ้านนั้นน่าจะมีกันแค่สองคนพี่น้อง กรองพรกับเกตุวดี... รักษิตไม่ค่อยรู้ละเอียดนักเนื่องจากเพื่อนไม่ขยายความเรื่องส่วนตัวสักเท่าไร แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกห่างเหิน เพราะแต่ละคนมีนิสัยเรื่องนี้ต่างกันอยู่แล้ว กับญาดาเขาแทบจะรู้หมดตั้งแต่ปีหนึ่งว่าอีกฝ่ายภูมิลำเนาจากไหนมีญาติพี่น้องกี่คน และถึงแม้ญาดากับเกตุวดีจะนิสัยไม่เหมือนกัน ก็ยังเป็นเพื่อนรักเพื่อนสนิทแน่นแฟ้นกลมเกลียวดี

เดินมาจนถึงโรงอาหาร ได้ข้าวเรียบร้อยศิวัชก็ต่อที่ร้านข้างๆ

“โอเลี้ยง... เอ๊ะ น้ำเปล่าดีกว่า” ก่อนหันมาพูดกับเขา “ถ้าติดกาแฟตั้งแต่ยังเรียนไม่จบชีวิตภายภาคหน้าจะเป็นไงวะ”

รักษิตมองเพื่อน วีรเวรสมัยปีสามของศิวัชก่อนการสอบใหญ่นั้นคืออ่านหนังสือพร้อมกระปุกกาแฟผงและช้อนหนึ่งคัน ฝืดคอเข้าก็ซดน้ำตาม มิไยที่เพื่อนร่วมห้องจะพยายามยื้อออกเนื่องจากกลัวเจ้าตัวหัวใจวายตายก่อนได้เข้าห้องสอบ สุดท้ายอนันต์ต้องโทรหาเขา ขึ้นไปเคาะห้องลากกันลงมาอ่านพร้อมหน้ากับรูมเมตของรักษิตเองที่ยังไม่นอนทั้งสองคน โต้รุ่งยาวไป

“ไม่ติดอะไรก็ดีแล้ว” เขาตอบขำๆ ไม่ได้รื้อฟื้นเรื่องกระปุกกาแฟ ศิวัชถามต่อเรื่องเวรที่เมื่อวันเสาร์รักษิตเพิ่งจะอยู่ไปพร้อมทัศนีย์ ซึ่งทำให้เข้าใจว่าสายตัวแทบขาดนั้นเป็นอย่างไร การอยู่เวรกับผู้ที่ทำงานไม่ค่อยจะเข้าขากันแถมยังทำหูทวนลมกับสิ่งที่เขาบอกนอกจากเหนื่อยเพิ่มกันทั้งสองฝ่ายแล้วยังหงุดหงิดใจอีก ซึ่งรักษิตรู้ว่าทัศนีย์คงนึกโทษเขาตามเคย

“เวรกว่าเดิมมั้ยล่ะ” เพื่อนถามเหมือนตาเห็น รักษิตถอนใจ ญาดาคงไปขยายให้ศิวัชฟังแล้ว แต่เขาก็ต้องอยู่วอร์ดอายุรกรรมกับนักศึกษาแพทย์ชุดเดิมไปจนครบสิบสัปดาห์อยู่ดี

“เอ้า กิน!” ศิวัชจิ้มช้อนพรวดเมื่อคนนั่งตรงข้ามชักจะรามือลง “อีกตั้งหกชั่วโมงกว่าจะเที่ยง ไม่กินจะเอาแรงที่ไหนไปสู้รบปรบมือ”

รักษิตจำได้ว่าครั้งแรกที่ศิวัชเข้าห้องผ่าตัดอีกฝ่ายบอกเขาด้วยท่าทางเพลียๆ เมื่อเจอกันเย็นวันเดียวกันนั้นที่หอ

‘นี่มันไม่ใช่โอเพอเรทิฟฟิลด์แล้ว มันคือแบทเทิลฟิลด์ชัดๆ!’

ถ้านี่เป็นสงคราม หมอก็ต้องสู้กับโรคภัยโดยมีวอร์ด โอพีดี และบริเวณผ่าตัดเป็นสนามรบ เดิมพันอยู่ที่ชีวิตของคนไข้

และกองทัพ... เดินได้ด้วยท้องจริงๆ เสียด้วย


ธีรพัทธ์กำลังมีเรื่องปวดหัวกับรุ่นน้องแพทย์ประจำบ้านปีหนึ่งที่อยู่เวรห้องฉุกเฉินและได้รับการปรึกษาหรือคอนซัลต์มาในช่วงเวลาราชการ ซึ่งหมายความว่าควรจะรายงานเขาที่เป็นคนอยู่เวรปรึกษาต่อ แต่ก็กลับไปก่อน ที่สำคัญคือรุ่นน้องบอกหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านว่าส่งเวรแล้วโดยที่เขาได้ใบคอนซัลต์ช้าไปมาก ธีรพัทธ์เคยโดย ‘โยน’ มาแล้วตอนใช้ทุนปีแรกเนื่องจากรีบไปดูคนไข้ กว่าจะเห็นว่าใบคอนซัลต์นั้นผิดเรื่องรายละเอียดเวลาไปโขก็อีกวัน กลายเป็นเขาไปดูคนไข้ล่าช้ากว่าที่ควร

... เลยต้องคอยเตือนตัวเองให้ละเอียดถี่ถ้วนในด้านเอกสารมากกว่านี้ ไม่วายเกิดเรื่องอีกจนได้ เขาไม่อยากจะโทษวัฒนธรรมฟ้องร้องหมอที่เริ่มเกิดหนักและถี่ในช่วงหลัง เพื่อนร่วมวิชาชีพบางคนจากที่ควรจะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันจึงชักเอนเอียงไปทางรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ผลักภาระความรับผิดชอบหรือความสุ่มเสี่ยงให้พ้นตัวก่อนเสียหมด

ตอนเย็นถ้าเจอหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านเขาอาจจะหาโอกาสชี้แจง ซึ่งเป็นเรื่องรองลงไป เพราะตั้งแต่เช้าถึงสายวันนี้อายุรกรรมยุ่งรุงรังไม่น้อย แก้ช็อค ความดันตก แก้ชากับตะคริว (พบว่าแคลเซียมลงฮวบฮาบ) คนไข้ดึงท่อออก ใส่กลับเข้าไปใหม่ ฯลฯ แล้วตอนนี้คนไข้ที่ซีดมาเพราะโลหิตจางจากธาลัสซีเมียและรับเข้าไว้นอนในโรงพยาบาลเพื่อให้เลือดก็...

ธีรพัทธ์ขมวดคิ้วจนรู้สึกว่าตั้งแต่มาเป็นแพทย์ประจำบ้านเขาน่าจะมีรอยย่นที่หน้าผากถาวร ถามพยาบาลว่า

“เขียนใบขอเลือดกับส่งตัวอย่างไปพักใหญ่แล้ว เจ้าหน้าที่ไปรับมาหรือยังครับ”

“ในคอมฯ มันยังไม่ขึ้นให้ไปเอาได้เลยหมอ”

“รบกวนโทรตามที” เขาบอก บางครั้งโทรไปก็ไม่ช่วยให้เร็วขึ้น เพราะถ้าไม่ใช่กรณีเร่งด่วนมากจริงๆ จะต้องรอการตรวจความเข้ากันได้หรือที่เรียกว่าครอสแมตช์ ซึ่งกินเวลาประมาณชั่วโมงกว่าเพื่อความปลอดภัย แต่อย่างน้อยจะได้รู้ว่าถึงไหนแล้ว

พอติดพยาบาลส่งโทรศัพท์ให้เขา ธีรพัทธ์รับแล้วว่า “ครับ ผมเขียนไปเอง... อ้าว รอจ่ายแล้ว แต่ยังไม่ขึ้นในคอมพิวเตอร์เลย โอเคๆ ขอบคุณครับ เดี๋ยวส่งคนไปรับ”

วางหูเหลียวหาเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยไม่พบ ต้องถามพยาบาลอีก “นี่เขาไปไหนกันหมด”

“วันนี้ลาหลายคนหมอ ที่เหลือไปส่งเอกสาร”

ธีรพัทธ์ไม่อยากวานนางพยาบาลวัยใกล้เกษียณ เดนท์หนึ่งเอ็กซ์เทิร์นทุกคนงานล้นมือ เขาเองก็ติดพันคนไข้อยู่อีกสองสามคน เที่ยงน้องปีสี่ปีห้าคงลงหมดแล้ว

เขาเห็นเสื้อกาวน์ยาวสีขาวอยู่ไวๆ เจ้าของเดินออกมาจากมุมในสุดและกำลังจะลับพ้นประตู จึงรีบเรียกไว้ “น้องๆ!”

รักษิตหันมาอย่างแปลกใจนิดๆ แต่ก็เดินมาตามที่เรียก ธีรพัทธ์คิดว่าตัวเองน่าจะเดาออกว่าเป็นใคร เพราะเจ้าตัวคงไล่ดูคนไข้จนถึงเตียงหญิงชราเมื่อคืนก่อนโน้นและหยุดอยู่เตียงนั้นนานอีกนั่นแหละถึงได้ลงช้ากว่าเพื่อน 

“โทษที กวนเวลากินข้าวนิดหนึ่ง... นี่ใบรับเลือด เอากระติกน้ำแข็งให้น้องด้วย ขอบคุณครับ” ประโยคหลังเขาบอกพยาบาลก่อนหันมาพูดต่อ “ช่วยไปรับให้พี่หน่อยนะ คนไข้รออยู่”

รักษิตรีบรับคำอย่างเต็มใจ รู้สึกว่าถึงจะเป็นงานเล็กน้อยแต่ก็นับว่าได้ช่วยคนไข้เหมือนกัน อาจจะเป็นความสำคัญของมดงานอย่างที่ศิวัชว่า


วิ่งไปรับเลือดมาส่งที่วอร์ดแล้วเลยได้ดูและช่วยเหลือการให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้นก่อนจะถูกไล่ให้ลงไปกินข้าว กินเสร็จรักษิตไปต่อแถวที่ร้านขายน้ำ แต่มีคนมาต่อหลังเขาเกือบจะทันที ต้องหันไปเมื่อได้ยินเสียงคุ้นๆ ถามขึ้น

“ร้านนี้อะไรอร่อย"

รักษิตกำลังนึกอยู่เพราะอร่อยของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน พอดีกับอีกฝ่ายเปลี่ยนคำถาม

"น้องชอบกินอะไร"

อันนี้ง่ายหน่อย “ผมกำลังจะสั่งโกโก้เย็น...”

“อ้อ ปั่นไหม”

“ปกติก็ไม่หรอกครับ ชอบกินแบบใส่น้ำแข็งธรรมดามากกว่า”

ธีรพัทธ์พยักหน้า “สมัยพี่ร้านนี้ไม่มี”

“หรือว่าจะใส่กาแฟผสม” รักษิตขยายเมนู แต่คิดว่าควรต้องเตือนคนพยายามจะสั่งตาม “ไม่รู้พี่พัทธ์จะชอบหรือเปล่า คือร้านนี้เขา... คนอะไรไม่ค่อยละลาย เพื่อนบางคนก็ชอบให้ใส่โอรีโอด้วย”

"แล้วคนทุกอย่างไม่ละลายเนี่ยนะ?"

"ละลายบ้างไม่ละลายบ้าง" คนตอบก็ดูชินเสียจนธีรพัทธ์ชักไม่แน่ใจว่าที่ใส่ๆ ในแก้วให้ซื้อกินกันทั้งคณะแพทย์ (และคณะข้างเคียงด้วย) นี่เกิดจากความขี้เกียจของคนขายหรือความชอบของลูกค้าจริงๆ กันแน่ แต่คนกำลังจะซื้อบอก “... อร่อยดี”

พอถึงคิวเขารักษิตรีบพูด “พี่พัทธ์สั่งก่อนก็ได้” คิดแต่ว่าอีกฝ่ายอาจจะต้องรีบไปทำงานต่อ

“เอางั้นเหรอ”

รุ่นน้องพยักหน้า ถอยไปข้างๆ เพื่อเว้นที่ให้ ได้ยินเสียงบอกคนขายว่าโกโก้เย็นไม่ปั่น พอเขาขยับจะไปสั่งบ้างก็พบว่าแก้วถูกยื่นมาตรงหน้าแล้ว

“ค่าวิ่ง” คนให้ว่ายิ้มๆ ก่อนจะผละไป รักษิตมัวแต่งงเสียจนยังไม่ได้ขอบคุณ

... แก้วโกโก้ในมือเขาเย็นจัดขัดกับเปลวแดดร้อนภายนอก


ดูนาฬิกายังไม่บ่ายโมง อีกทั้งอาจารย์เลื่อนบรรยายเป็นบ่ายครึ่ง รักษิตจึงขึ้นไปวอร์ดเพื่อดูว่ามีอะไรให้ช่วยบ้างหรือไม่ เอ็กซ์เทิร์นสองสามคนกับพยาบาลจับกลุ่มกันตรงโต๊ะแถวเคาน์เตอร์ เมื่อเห็นเขาก็ส่งเสียงชวน

“น้อง กินขนมไหม”

รักษิตเดินเข้าไปใกล้ เห็นถุงข้าวของวางกองอยู่ เอ็กซ์เทิร์นในสายเดียวกันพูดขึ้นว่า

“พี่พัทธ์ซื้อมาให้ รายนี้ละชอบซื้อขนมแจกคน”

“ของหมอซื้อมาเองหรือคนไข้ฝาก” พยาบาลที่ร่วมวงอยู่ด้วยกระเซ้าต่ออย่างรู้ทัน “หมอพัทธ์เขาแม่ยกแยะ”

“เอาน่า... พี่ให้แล้วก็ถือว่ากินได้หมด” เอ็กซ์เทิร์นตอบพลางยิ้ม

“หมอยังไม่แต่งงานก็เงี้ย จะซื้อของฝากที ก็เป็นรุ่นน้องเป็นเพื่อนร่วมงาน ส่วนใครเอาของมาฝาก ก็ต้องให้เรากินอีกเพราะอยู่คนเดียว เอากลับไปไม่นานก็เสีย” พยาบาลอีกคนบอก “แต่ไม่ใช่ไม่ชอบนะ ได้ของกินเนี่ย...”

“นินทาอะไรผมครับ ได้ยินนะ” เสียงกลั้วหัวเราะนำมาก่อนเจ้าของจะโผล่เข้ามาในวอร์ด เรียกเสียงทักให้แซด ธีรพัทธ์เอื้อมมือไปหยิบแฟ้มมาดู พยาบาลรีบยื่นเอกสารที่ต้องการลายเซ็นให้ แต่ยังตอบ

“เรื่องจริงทั้งนั้นหมอ ดูอย่างเดนท์คนอื่นสิแต่งงานตั้งแต่ตอนใช้ทุนแล้วค่อยมาเรียนต่อ พี่กลัวหมอจะมีลูกไม่ทันใช้”

“ผมถูกใจคนยาก” เขาว่า สุ้มเสียงไม่จริงจังนัก “หรือถูกใจแล้วเขาก็ไม่ถูกใจผม อยู่อย่างนี้ก็สบายดี เห็นเพื่อนมีลูกแล้วยังนึกภาพตัวเองไม่ออก”

จากนั้นจึงกระจายกลุ่มเอ็กซ์เทิร์นกลับไปดูคนไข้ต่อ รักษิตได้โอกาสขอบคุณเรื่องแก้วน้ำเมื่อกลางวัน... คงเป็นนิสัยของอีกฝ่ายที่ชอบซื้อของกินให้รุ่นน้องในสาย ไม่ก็พยาบาลร่วมวอร์ดเป็นประจำอยู่แล้ว ธีรพัทธ์เพียงแต่ยิ้ม

พยาบาลเรียกรุ่นพี่ให้เซ็นเอกสารอีก รักษิตจึงหันมองออกนอกหน้าต่าง ข้างล่างเป็นลานจอดรถ เขาเพ่งมองเมื่อเห็นกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เดินออกมาจากชั้นล่างของอาคาร เห็นหมอลภเข้าก็ดีใจ

เพราะผู้ที่เดินไปพลางคุยไปพลางกันอยู่นั้นล้วนเป็นอาจารย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ พี่ลภคงสมัครไว้แล้ว และมาสัมภาษณ์กับอาจารย์วันนี้เรื่องการเข้าเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอด ซึ่งรับน้อยมากเพียงปีละคนสองคนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอนุสาขาใดก็ตาม

ภาพที่อาจารย์ยังเดินออกมาส่งด้วยอาการมีเรื่องพูดติดพันนั้นบอกเขาชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องได้ยินกับหูว่าทุกอย่างราบรื่นเพียงไร รักษิตเห็นอาจารย์ท่านหนึ่งตบบ่าอดีตลูกศิษย์เมื่ออีกฝ่ายยกมือไหว้ลา

... ดีแล้ว พี่ลภจะได้มีความสุขขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

รักษิตเกือบสะดุ้งเมื่อมีมือมาโบกอยู่ตรงหน้า เขาถอนสายตากลับมา เห็นรุ่นพี่ผู้คงเสร็จงานเอกสารแล้วกำลังคล้องหูฟังเตรียม ‘ออกรอบ’ (หรือออกรบ?) ต่อ แต่ยังพูดกับเขาว่า

“เอ้า เหม่อ... พี่ถามว่าเห็นข้อสอบกันแล้วใช่ไหม เป็นไง มีตรงไหนอยากถามเพิ่มไหม”

“ข้อสอบอะไรครับ” รักษิตถามงงๆ

ธีรพัทธ์ทำหน้าแปลกใจ “ข้อสอบเก่า ปีที่แล้วกับปีก่อนหน้า น้อง... อะไรนะชื่อฝรั่งหน้าหมวยนี่ มาขอให้พี่ช่วยเฉลย”

ปกติร้านซีร็อกซ์เจ้าประจำของนักศึกษาแพทย์ที่โถงอาคารบรรยายนั้นเป็นศูนย์รวมข้อมูลประดามีไม่ว่าจะเป็นชีทเลคเชอร์วิชาต่างๆ ใส่กล่องแยกกันไว้ รายงานฉบับเก่าๆ ของรุ่นพี่ที่ถือกันว่าเขียนดีจนควรค่าแก่การยึดเป็นคัมภีร์ต่อๆ กันมา แม้เนื้อหาอาจต้องการการอัพเดตก็ยังถือว่าเป็นตัวอย่างด้านการเขียนที่มีรายละเอียดครบถ้วน ส่วนใครได้อะไรมาใหม่และอยากมีน้ำใจเผยแพร่ไม่ว่าจะเป็นโน้ตสรุปรวบยอดจากพี่รหัส หรือสไลด์ที่จดเนื้อหาเรียบร้อยก็มาฝากไว้ที่ร้านนี้เหมือนกัน

... อาจจะมีบ้างที่เก็บเอาไว้ส่วนตัวหรือเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าได้ซีร็อกซ์หนหนึ่งมักมีหนต่อๆ ไปตามมาอย่างเร็วรี่ สุดท้ายก็สะพัดอยู่ดี
 
“นี... นีน่าใช่ไหมครับที่ขอให้พี่ช่วยทำเฉลย” รักษิตถาม พอธีรพัทธ์พยักหน้าอย่างเพิ่งจะจำได้เลยพูดต่อ “งั้นเดี๋ยวผมค่อยถามหลังเลคเชอร์เสร็จ ขอบคุณพี่แทนเพื่อนๆ ด้วย คงได้ประโยชน์มาก”

เขาก้มศีรษะแล้วหันหลังจะไปเพราะใกล้เวลาเริ่มบรรยาย แต่ต้องชะงักเมื่อรุ่นพี่เอ่ยขึ้นเสียก่อน “พี่เลยไปวางที่ร้านซีร็อกซ์แล้ว”

“อ้าว”   

“จะกระจายกันอ่านอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ” อีกฝ่ายต้องถามเมื่อเห็นท่าทางรุ่นน้อง “มีอะไรหรือเปล่า”

“เปล่า... ครับ” รักษิตตอบอย่างออกจะลังเล “ผมแค่คิดว่าเขาเป็นคนไปหาข้อสอบมา เขาก็ควรรับผิดชอบจัดการว่าจะเอาไงต่อ”

นิสัยตรงๆ แบบนี้ทำให้ธีรพัทธ์ประหวัดนึกถึงพิธานขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนแทบไม่มีอะไรคล้ายคลึงกันเลย

“พี่ทำเฉลยไปเยอะอยู่ เห็นว่าน่าจะได้อ่านทั่วๆ กัน พอเสร็จ ผ่านตรงนั้นพอดีเลยแวะวางให้เลย” ธีรพัทธ์ว่า “ถ้ามันควรจะเผยแพร่อยู่แล้ว ใครวางก็คงไม่ต่างกันละมัง”

“ก็... จริงครับ” รักษิตว่า แบบรุ่นพี่อาจจะรวดเร็วดีกว่า เพราะลัดขั้นตอนไม่ต้องส่งข้อสอบที่เฉลยเสร็จแล้วให้เพื่อนร่วมวอร์ดเอาไปวางอีกที

แล้วการดูแนวข้อสอบเก่าก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจจะช่วยให้คะแนนสอบออกมาดี เพราะยังมีอะไรต่อมิอะไรอีกตั้งเยอะแยะที่ใช้ในการประเมิน ไม่ว่าจะเป็นการทำวอร์ดเวิร์ก รายงานรับคนไข้หลายต่อหลายฉบับ

หรือการประเมินการทำงานในวอร์ดจากพี่แพทย์ประจำบ้านและอาจารย์


ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
Re: ฝากไว้ในมือเธอ [บทที่ 3] 31 พ.ค. 57
«ตอบ #33 เมื่อ31-05-2014 03:38:30 »

บทที่ 3 (ต่อ)

เมื่อถึงห้องบรรยายนั้นอาจารย์ยังไม่เข้ามา เพื่อนๆ จึงจับกลุ่มคุยกันบ้าง เห็นกลุ่มหนึ่งมีหลายคนอยู่ค่อนไปทางหน้าห้อง เสียงดังเซ็งแซ่ รักษิตกำลังเหลียวซ้ายแลขวาจะหาที่สงบๆ นั่ง แต่ช่วยไม่ได้ที่หูไพล่ไปได้ยินเสียงสนทนาจากกลุ่มนั้นเข้า

“แวะร้านซีร็อกซ์มาเลยเห็นว่ามีข้อสอบเก่าชุดใหม่ไปวาง เฉลยละเอียดลองอ่านไปแล้วเข้าใจง่ายดีด้วย ขอบคุณนีน่ามากนะที่อุตส่าห์ไปหามาเผื่อเพื่อนๆ” คนพูดอยู่วอร์ดอายุรกรรมเหมือนกันแต่อีกสาย ไม่เคยต้องขึ้นวอร์ดหรือเข้าเวรพร้อมกันกับทัศนีย์หรือรักษิตทั้งสิ้น ท่าทางดีอกดีใจอย่างที่ว่า

รักษิตมองปึกกระดาษในมือเพื่อนคนนั้น แผ่นหน้าสุดยังเขียนด้วยหมึกเส้นใหญ่เป็นชื่อเล่นใหม่ของทัศนีย์ที่เจ้าตัวบอกให้เรียกทั่วกันชัดเจน พอถ่ายเอกสารเลยติดมาด้วย ยืนยันให้รู้โดยไม่ต้องหาว่า ใครเป็นเจ้าของ

ส่วนเจ้าตัวคนได้รับคำขอบคุณหน้าตาพิลึกอยู่กลางวงล้อม จะยิ้มก็ไม่ใช่จะบึ้งก็ไม่เชิง สุดท้ายเลยพูดออกมาว่า “อื้ม... เราเป็นคนหามาเองแหละ แต่นี่... พี่เดนท์ที่ไปขอให้เขาช่วยเฉลยบางส่วนคงเอาไปวางที่ร้านซีร็อกซ์ ไม่ก็... คนบางคนคงหวังดีเอาไปวางให้ เราก็เพิ่งเห็นพร้อมเธอนี่แหละว่าพี่เขาเฉลยเสร็จแล้ว”

“งั้นเธอจะเอาของเราไปก่อนไหม แต่มีรอยขีดแล้วนะ” เพื่อนผู้นั้นยังอุตส่าห์มีน้ำใจ คงเห็นแก่แรงคนหา “นิดเดียวแหละ เพิ่งพลิกอ่านไปได้ไม่มาก เดี๋ยวเราไปซีร็อกซ์ใหม่ ต้นฉบับยังอยู่ที่ร้าน”

“ไม่เป็นไร” ทัศนีย์ว่า ตวัดสายตามาทางเขา “ต้นฉบับจริงๆ ไม่รู้อยู่ไหนแน่ ถ้าไปซีร็อกซ์สำเนามาอีกก็อ่านไม่ชัด ข้อสอบมันพิมพ์ไม่ค่อยชัดอยู่แล้ว”

“ตอนเราเพิ่งมาจากร้านซีร็อกซ์ตัวจริงยังอยู่นั่นนะนีน่า เธอเขียนชื่อด้วยหมึกสีน้ำเงินไม่ใช่เหรอ”

ทัศนีย์ตอบแค่ว่า “อ้อ เหรอ งั้นเดี๋ยวไปดู” พอดีกับอาจารย์เข้ามา

รักษิตยังไม่เคยเห็นตัวจริงตัวปลอมอะไรทั้งสิ้นของข้อสอบทั้งสองชุด แต่เรื่องพลัดหยิบต้นฉบับไปโดยทิ้งฉบับสำเนาที่ไม่ชัดเท่าไว้ที่ร้านให้คนมาทีหลังซีร็อกซ์ต่อๆ กันไปนั้นเคยเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะด้วยบังเอิญหรือเจตนาก็ตามที เขาหวังว่ากับข้อสอบสองชุดนี้เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเร็วนัก


เสร็จคาบบรรยายอาจารย์วานเขาไปทำธุระที่แผนกผู้ป่วยนอก รักษิตจึงตามไปราวนด์เย็นและเก็บวอร์ดเวิร์กช้าอีกตามเคย พอขึ้นวอร์ดยังไม่ทันจะทำอะไร มองไปสุดฝั่งตรงข้ามเห็นทัศนีย์ยกมือเช็ดตาป้อย รอบตัวไม่มีใคร มีแต่รถเข็นทำหัตถการอยู่คันเดียว เขานึกห่วงว่าจะเกิดอุบัติเหตุอะไรกระเด็นเข้าตาหรือเปล่า อาจจะไม่มีคนทันเห็น

รักษิตรีบเดินเข้าไปหา “อย่าขยี้...”

อีกฝ่ายเงยหน้ามองอย่างขุ่นเคือง ตาแดง น้ำตาไหลก็จริง แต่พอดูใกล้ๆ แล้วไม่น่าเป็นสิ่งแปลกปลอม

น้ำตาไหลเพราะกำลังร้องไห้น่ะ...

สมองยังไม่ทันจะประมวลผลดีทัศนีย์ก็เข็นรถเฉียดเขาไปจนแทบจะทับเท้าเข้าให้ ท่าทางไม่พอใจที่เขามาพบเข้า รักษิตเหลียวไปรอบๆ ทันเห็นคนในรัศมีใกล้สุดซึ่งเขาเหมาเอาว่าน่าจะเป็นสาเหตุ รีบสาวเท้าเข้าไปใกล้แล้วถามด้วยความร้อนใจ

“พี่พัทธ์... ดุอะไรเขาร้องไห้เลย”

คนหันมางงไม่แพ้กัน “พูดถึงใครเนี่ย”

“ก็ทัศนีย์... นีน่าน่ะ”

ธีรพัทธ์มองคนถามหน้าตาตื่น อย่างกับกลัวถูก 'ดุ' เสียเองในอนาคต แต่ก็ดูห่วงใยเพื่อนร่วมวอร์ดแท้จริงจนเขาออกจะแปลกใจนิดๆ เพราะมองอย่างไรรักษิตกับทัศนีย์ก็ไม่ใช่เพื่อนสนิทชนิดเข้าขากอดคอกันเฮฮาแน่

"ไม่ได้ดุ แค่บอก เรื่องในวอร์ด" เขาตอบ

ธีรพัทธ์ไม่ได้ขยายความ แต่เรื่องที่เขาพูดกับทัศนีย์ถือเป็นเรื่องตักเตือนกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องเท่านั้นเอง เพราะมีงานในวอร์ดบางส่วนที่เขาเห็นว่าทัศนีย์ยังทำไม่เรียบร้อย คิดว่าเป็นการพูดดีๆ ด้วยเหตุและด้วยผล

สมัยเรียนเขาไม่ชอบรุ่นพี่จำพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ พูดจากดขี่รุ่นน้องเจ็บๆ แสบๆ ถึงบางคนคิดว่าเป็นวิธีสอน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาธีรพัทธ์ไม่รู้สึกว่าการเรียนภายใต้บรรยากาศที่พยายามสร้างให้เกิดความกลัวนั้นเอื้อให้เขาจำอะไรได้กี่มากน้อย เมื่อไม่ชอบจึงตั้งใจว่าถ้ามีรุ่นน้องของตัวเองแล้วละก็... จะไม่ทำ

เขาบอกรักษิตอย่างนั้น กอดอก มองรุ่นน้องขมวดคิ้วเหมือนพยายามคิดพิจารณาเรื่องราวอยู่ก่อนยิงคำถามแกมหัวเราะ

“ชอบน้องนีน่าเขาหรือเปล่าเนี่ย... ตามถาม เป็นห่วงเป็นใยขนาดนี้น่ะ ช่วยงานวอร์ดอีกนะ พี่เห็น”

เห็นหน้ารุ่นน้องแล้วให้ขำ นี่ดีว่าเขากำลังจะลงและส่งเวรนอกเวลาเรียบร้อยแล้ว ถึงได้มีเวลามาแหย่รุ่นน้องในสายตัวเอง (เหลือตามชี้แจงหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านเกี่ยวกับเวรปรึกษาเมื่อคืน แต่ก็นั่นแหละ ถือเป็นเรื่องรอง) รักษิตยืนมองเขาท่าทางเหวอนิดๆ เหมือนไม่คาดคิดว่าจะได้ยินคำถามนี้ ไปไม่ถูกอยู่อึดใจเต็มๆ ก่อนหาเสียงเจอและพูดออกมาได้ว่า

“ผมอยากช่วยใครไม่ได้ต้องชอบเขาหมดทุกคน... แบบนั้น นีน่าก็เพื่อนคนหนึ่ง แล้วก็...”

“แล้วก็...?” ธีรพัทธ์ยังไม่ยอมปล่อยไปง่ายๆ

“แล้วก็... ไม่รู้สิ ถ้าเหมือนจะชอบให้คนอื่นตามใจแต่จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไร นิสัยเขาคล้าย... บางทีผมก็นึกว่าตัวเองเป็นพี่ ทั้งๆ ที่...” รักษิตเงยหน้าสบตาเขาปัจจุบันทันด่วน เหมือนเพิ่งรู้ตัวว่าพูดเยอะเกินกว่าที่ตั้งใจ “เอ้อ... พี่พัทธ์จะลงแล้วใช่ไหม”

“เดี๋ยว...” ธีรพัทธ์รีบเรียกเมื่อรุ่นน้องทำท่าจะผละไป อันที่จริงเขาก็ไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับรุ่นน้องในสายคนนี้ ไม่เหมือนเอ็กซ์เทิร์นบางคนที่มีนิสัยช่างเล่า “น้องมีพี่สาว? มีพี่สาวด้วย พี่ก็...”

รุ่นน้องจ้ำอ้าวเข้าไปในวอร์ดแล้ว ปะเหมาะเคราะห์อะไรไม่รู้หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านเกิดจะแวะมาตรงนี้ทั้งๆ ที่ปกติปกครองอยู่อีกตึก บอกให้เขาลงไปคุยกันข้างล่าง ธีรพัทธ์เลยต้องพักเรื่องนี้ไว้เพียงแค่นั้นก่อน


พอเห็นตาแดงช้ำของคนเพิ่งผ่านศึกน้ำตามาหยกๆ รักษิตก็อดสงสารไม่ได้ จากที่ญาดาเคยแง้มให้ฟัง คิดว่าเพื่อนร่วมวอร์ดอาจจะได้รับการประคบประหงมพะเน้าพะนอจากที่บ้าน จนไม่เคยมีคนพูดตรงๆ ด้วยแบบนี้ ในอนาคตอีกฝ่ายอาจจะต้องเจอกับอาจารย์ หรือแพทย์ประจำบ้านที่ดุและใช้การตักเตือนด้วยถ้อยคำรุนแรงยิ่งกว่าธีรพัทธ์ เพราะพอได้รับคำอธิบาย เขาก็เชื่อว่าพี่พัทธ์นี่... เตือนเบาแล้ว

แต่ขึ้นวอร์ดด้วยกัน จะมาซ้ำเติมกันอีกก็ใช่ที่

เขาพูดเสียงอ่อนๆ พยายามจะไม่ก่ออารมณ์โมโหให้กรุ่นขึ้นอีก “พี่เขาเตือนเพราะหวังดี...”

“ใครเป็นคนเอาชีทไปวาง เธอหรือว่าพี่”

รักษิตก็ไม่รู้ว่าทัศนีย์จะยังมุ่งเป้าที่เขาอีกทำไม เขายังไม่ได้แม้แต่จะจับข้อสอบชุดนั้น ให้ใครเฉลยแล้วไม่ได้คืนมา แต่ไปปรากฎที่ร้านถ่ายเอกสารก็ต้องคิดว่าเป็นคนนั้นก่อนสิ นี่แสดงว่าตอนธีรพัทธ์เรียกตัวไปตักเตือน ซึ่งเป็นแค่เรื่องงานในวอร์ดอย่างเดียวแท้ๆ คนฟังยังคิดถึงเจ้าข้อสอบร้านซีร็อกซ์นั่นอยู่ไม่เลิก

แต่เขาก็ไม่ได้พูดทั้งหมดออกไปอย่างใจคิด เพียงตอบสั้นๆ

“พี่พัทธ์”

ทัศนีย์หันขวับมาจ้องเขาเหมือนจะดูให้แน่ว่ารักษิตไม่ได้โป้ปดมดเท็จ ตาแดงขึ้นมาอีก

“พี่เขาต้องไม่เชื่อว่าเราจะเป็นคนไปวางถึงไม่ยอมคืนเรา พี่เขาคงคิดว่าเราจะเก็บไว้อ่านคนเดียว”

“เขาไม่คิดอย่างนั้นหรอก” รักษิตปลอบ เพื่อนร่วมวอร์ดคงเดือดร้อนกับการที่พี่แพทย์ประจำบ้านจะมองตัวเองอย่างไรมากจริงๆ เพราะเกี่ยวกับการประเมินคะแนนจิตพิสัยตอนจะลงวอร์ดด้วย “พี่พัทธ์เขาพูดว่า ถ้านีน่าจะไปวางอยู่แล้ว พี่เขาไปวางให้ก็เหมือนกัน ทำนองนั้นน่ะ”

“เราก็จะไปวางจริงๆ” ทัศนีย์พูดเสียงขึ้นจมูก มองเขาจากหางตา “เธอไม่เชื่อเราอีกคนล่ะสิ”

“ทำไมจะไม่เชื่อ” เขาตอบง่ายๆ “จะเจาะนี่ก็มา ช่วย”

เป็นครั้งแรกที่เขาได้รับคำขอบใจ... แม้จะเสียมิได้นิดหน่อย จากทัศนีย์นับตั้งแต่ขึ้นวอร์ดมา


เช้าตรู่อากาศค่อนข้างเย็นด้วยเมื่อคืนฝนเพิ่งจะตก แสงเงินแสงทองระเรื่อจับขอบฟ้า แต่บนขมับของนายแพทย์ลภกลับปรากฎเหงื่อชื้นเล็กน้อยขัดกับสภาพอากาศ เพราะก้มๆ เงยๆ อยู่กับเครื่องยนต์มาพักใหญ่แล้ว ยังไม่มีทีท่าจะสตาร์ทติด

สงสัยคราวนี้จะเกินกำลังช่างสมัครเล่นอย่างเขา... ตั้งแต่ใช้รถเก่าคันนี้เสียบ้างเล็กๆ น้อยๆ เขาก็แก้เองมาโดยตลอด อาจจะถึงเวลาเข้าอู่ใหญ่สักที

แต่ที่สำคัญคือทำไมต้องมาเสียเอาวันนี้ด้วยสิ...

ลภตัดสินใจกลับเข้าไปล้างมือ เมื่อคืนรถก็ยังดีๆ อยู่แท้ๆ... เขารับรักษิตให้มาค้างบ้าน เพราะคุณตรีรัตน์ต้องร่วมประชุมใหญ่ของบริษัทเครื่องมือแพทย์ในภูมิภาคที่สิงคโปร์ห้าวัน อย่างน้อยลูกชายจะได้กินข้าวเช้ากับแม่ ระหว่างทางเล่าที่ไปคุยกับอาจารย์เรื่องเข้าเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีหน้า รักษิตท่าทางดีใจกว่าเขาเสียอีก

เพราะที่จริง ลภก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า การตัดสินใจในครั้งนี้... ถ้าตัดเหตุผลทางด้านวิชาการออกไปแล้ว จะยังความสุขหรือทุกข์มาให้เขามากกว่ากัน

คุณตรีรัตน์แต่งกายในชุดพร้อมเดินทางออกมาจากบ้าน คนรับใช้หิ้วกระเป๋าตามมาให้ส่วนลูกชายเดินรั้งหลังอีกที เมื่อเห็นเขาเข้าก็ยิ้มให้ ทำท่าจะเดินตรงมาที่รถ แต่ลภบอกเสียก่อนตั้งแต่หน้าตัวบ้าน

“รถพี่เสียน่ะ... โทษที สงสัยต้องบอกให้ช่างมาลาก”

“งั้นษิตไปเอง” รักษิตว่า “เดี๋ยวติดรถคุณแม่ไปลงข้างหน้า”

“ษิต ให้พี่ลภไปส่ง” คุณตรีรัตน์บอก พยักหน้าให้สาวใช้วางกระเป๋าลง คงได้ยินเขาประโยคท้ายๆ

“รถพี่ลภเสีย คุณแม่ต้องรีบไปสนามบินไม่ใช่หรือ แล้วษิตไปต่อเอง” รักษิตตอบ ชักจะมองนาฬิกาเพราะถ้าต้องไปเองเขาก็ควรจะออกจากบ้านแล้ว

“อะไรลูก รถบ้านเรามีตั้งหลายคัน” มารดาว่า “... เดี๋ยวแม่ไปด้วยดีกว่า”

“คุณแม่ แต่เครื่องออก...”

“ยังพอมีเวลา แม่อยากไปส่งษิต จะได้คุยกันด้วยไงลูก พักหลังไม่ค่อยได้คุยกันเลย” คุณตรีรัตน์พูดต่อ “ส่งษิตแล้ว แม่ค่อยให้พี่ลภของลูกเลยไปสนามบิน”

ตลอดเวลานั้นลภยืนฟังอยู่เงียบๆ จนคุณตรีรัตน์กวักมือเรียกสาวใช้ให้ไปหยิบกุญแจ และบอกคนขับรถว่า “ถอยคันในสุดให้หมอหน่อย” เขาจึงพูดขึ้น

“เสร็จจากสนามบิน ผมจะนำมาคืน...”

“หมอก็ขับต่อไปบริษัทเลยสิ เสียเวลาทำไม บอกให้ใช้ตั้งนาน ก็ไม่ยอมใช้ จนรถนี่มันพัง... ดีที่มาเป็นที่บ้าน” คุณตรีรัตน์เอ่ยโดยไม่ยอมให้เขาพูดแทรกอีก “ถึงแก้ได้แล้วก็ขอที เราเป็นผู้บริหาร มีรถประจำตำแหน่งไม่ใช้ ไม่เอาคนขับ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น บางทีมันก็ต้องรู้จักรักษาภาพลักษณ์บ้าง”

ลภพยายามข่มใจ “ผมคิดว่าภาพลักษณ์ที่ดีคงมีน้ำหนักอยู่ที่การตั้งใจทำงานให้ลุล่วงมากกว่า ซึ่งผมพยายามรักษามาตลอดอยู่แล้ว อีกอย่าง ผมกำลังจะเข้าเรียนต่อซึ่งคิดว่าได้รับอนุญาต” เขาอดลงเสียงหนักไม่ได้ “เฟลโลว์คงไม่จำเป็นต้องมี”

“ตามใจ หมอก็ใช้คันนี้ไปจนกว่ารถนั่นจะซ่อมเสร็จแล้วกัน ไม่รู้จะแก้ได้ไหม” คุณตรีรัตน์ว่า “ลงท้ายอาจจะชอบก็ได้”

ลภไม่พูดอะไร เขารับกุญแจจากคนรถแล้วเปิดประตู คุณตรีรัตน์เรียกบุตรชายไปนั่งข้างหลังด้วย เพราะจะได้คุยกันสะดวกโดยไม่ต้องชะโงกไปมา รักษิตมองเขาอย่างเกรงใจ แต่ลภพยักหน้าให้

เขารู้อยู่เต็มอกทีเดียวว่า การชอบไม่ได้เกิดขึ้นโดยการทนสภาพนั้นอยู่เป็นระยะเวลานานๆ

ถ้าไม่ชอบ อย่างไรก็ยังไม่ชอบอยู่ดี


ธีรพัทธ์คิดว่าโชคตัวเองชักจะกระเตื้องขึ้นมาหน่อย เพราะนอกจากจะพูดจากับหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านได้เข้าใจราบรื่นดีแล้ว เช้านี้เขายังเจอพิธานก่อนอีกฝ่ายจะขึ้นวอร์ด กำลังมีเรื่องจะหารืออยู่พอดี

ยังมีเวลาอยู่บ้างก่อนต้องไปปฏิบัติงาน เลยชวนให้นั่งที่โต๊ะหินอ่อนข้างคณะ เขาเองลงนั่งตรงข้าม เอ่ยเรื่องที่คิดตรึกตรองมาพักหนึ่งอย่างไม่อ้อมค้อม

“อยากปรึกษาเรื่องไปอิเล็คทิฟ... แต่มันต้องทิ้งทางนี้ไปนานพอสมควร คิดไม่ตกข้อดีข้อเสีย นี่ยังไม่ได้บอกใครนอกจากคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาไว้คร่าวๆ”

ถึงพิธานจะอยู่คนละภาคกับเขา แต่อีกฝ่ายเคยไปเรียนที่โรงพยาบาลอื่นเป็นวิชาเลือกมาช่วงหนึ่งแล้ว หรือที่เรียกว่าไป ‘อิเล็คทิฟ’ เมื่อตอนเรียนแพทย์ประจำบ้านปีแรกซึ่งเน้นไปที่ศัลยศาสตร์เพื่อเตรียมเรียนศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

... ประเด็นคือรุ่นพี่แพทย์ประจำบ้านของวอร์ดเขาเองหรือแม้แต่หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านก็ไม่เคยไปอิเล็คทิฟนานๆ เนื่องจากโรงเรียนแพทย์ที่ประจำอยู่นี้ถือว่าพร้อมในระดับสูงของประเทศ โรคแปลกๆ ที่ไม่ค่อยได้เจอก็มาเจอที่นี่ เพื่อนแพทย์ประจำบ้านปีสองคนอื่นๆ ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ เขาเคยได้ยินรุ่นน้องปีหนึ่งคุยกัน มักจะอยากไปอิเล็คทิฟในโรงพยาบาลที่พร้อมอยู่แล้ว ไม่ก็ขออิเล็คทิฟต่างประเทศช่วงสั้นๆ มากกว่า

แต่ธีรพัทธ์เห็นว่าในเมื่อเขาต้องกลับไปใช้ทุนต้นสังกัดเมื่อจบบอร์ดอายุรกรรม ก็น่าจะกลับไปดูโรงพยาบาลต้นสังกัดเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยเพื่อเรียนรู้ปัญหา ย้ายไปทีละหน่วย จะได้เห็นสภาพโรคที่เกิดขึ้นมากในแถบนั้น พอกลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเดิมในปีสามซึ่งเป็นปีสุดท้าย ก็เตรียมหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อกลับไปรับมือด้วย

“ว่าจะไปกี่เดือน” เพื่อนถามเขา

“น่าจะหก... แต่ยังไงคงรอให้รอบนี้ลงก่อน” ธีรพัทธ์หมายถึงนักศึกษาแพทย์ที่ขึ้นวอร์ดอายุรกรรมเป็นวอร์ดแรก เขาคงต้องช่วยสอนและช่วยอาจารย์ประเมินจนเสร็จ ถึงจะดำเนินเรื่องไปอิเล็คทิฟต่อได้

พิธานยิ้มนิดๆ “กลับมาเป็นชิฟเลย”

เรื่องวางตัว ‘ชิฟ’ หรือหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านก็เป็นเรื่องที่ธีรพัทธ์ยังข้องใจว่าแทบทันทีที่รู้ว่าได้ตำแหน่ง หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านจะต้องเริ่มมองหาตัวตายตัวแทนแต่เนิ่นทันที ด้วยความเห็นชอบของอาจารย์ ธีรพัทธ์ก็โดนทาบทามมาบ้าง ไม่แปลกที่วอร์ดอื่นจะรู้กันว่าตัวเลือกชิฟแต่ละวอร์ดเป็นใคร (ซึ่งชิฟมีได้หลายคน) เพื่อทำงานประสานกันในอนาคตนั่นเอง

คิดไม่ผิดที่ปรึกษาพิธาน เพราะอีกฝ่ายมีความสามารถในการแจกแจงรายละเอียดอย่างมีตรรกะและเหตุผล หลายครั้งถามให้เขาได้คิดพิจารณาถี่ถ้วนขึ้น ธีรพัทธ์กำลังพยักหน้าเห็นด้วยกับการได้ออกเยี่ยมบ้านคนไข้อีกครั้งซึ่งทำได้ยากในโรงเรียนแพทย์ในกรุงแบบนี้ ตอนที่กลั้นหาวไม่อยู่กะทันหัน

พิธานมองเขา “นอนไม่พอ?”

“เออ ไม่พอมาห้าปีแล้ว” เขาตอบ ตอบเองขำเอง ก่อนพูดต่อ “สมัยปีหกหรือว่าใช้ทุน อดหลับอดนอน ควบเวรเท่าไหร่เท่ากันสิ ตอนนี้ ไม่ได้นอนคืนหนึ่งเหมือนจะตาย...”

ธีรพัทธ์ก้มหน้าดูเอกสารโรงพยาบาลที่เลือกไปอีกครั้ง พิธานมองเลยข้ามไหล่เพื่อนไป ก่อนจะชะงัก...


ลภขับรถโดยไม่พูดอะไรมาตลอดทาง คุณตรีรัตน์ก็คุยหนุงหนิงกับลูกชายอยู่ที่เบาะหลัง ในกระจกหลังเห็นรักษิตเหลือบมองเขาบ่อยๆ อย่างขอโทษขอโพย ลภก็พยักหน้าน้อยๆ ให้

จนถึงคณะแพทยศาสตร์ รักษิตรีบลงจากรถ เปิดประตูค้างไว้ มารดาเยี่ยมหน้าออกมาโบกมือลาเขา รักษิตพนมมือไหว้ ถามเสียงอ่อยอย่างออกจะเกรงใจ

“คุณแม่ ไม่นั่งข้างหน้าเหรอ...”

“ไปเถอะเดี๋ยวขึ้นวอร์ดสาย” คนขับพูดเป็นประโยคแรกตั้งแต่ออกจากบ้านมา รักษิตหันไปไหว้ลาอีกคน ยังเปิดประตูค้างอยู่

คุณตรีรัตน์ถอนใจก่อนลงจากรถ เดินอ้อมมาข้างหน้าอย่างที่ลูกชายแนะ บอกว่า “อืม แม่มีเรื่องจะคุยกับพี่ลภเขาด้วย จะได้ไม่ต้องหันไปหันมา ษิตไปโรงเรียนดีๆ นะลูก”

รักษิตอดยิ้มน้อยๆ ไม่ได้ เพราะแม่ยังพูดเหมือนตอนไปส่งเขาที่โรงเรียนประถมไม่มีผิด ถึงตอนนี้เขาจะเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสี่แล้วก็ตาม


ธีรพัทธ์เงยหน้าขึ้นมองเพื่อน เห็นสายตาจับนิ่งอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม หันไปมองบ้างก็ไม่เห็นอะไร เป็นลานจอดรถที่ค่อนข้างคับคั่งเท่านั้น

“มีอะไรรึเปล่า ต้องไปแล้วเหรอ” เขาดูนาฬิกา

“ไม่มีอะไร” พิธานตอบ “เมื่อกี้ถามเรื่องสัมมนาใช่ไหม...”

เขาคุยกับธีรพัทธ์ต่อจนได้เวลาขึ้นวอร์ดจึงแยกย้ายกัน ระหว่างขึ้นลิฟต์ พิธานใช้เวลารวบรวมสมาธิให้นิ่งเหมือนเคย เตรียมรับงานหนักที่รออยู่ข้างหน้า

เพราะไม่มีอะไร และไม่เป็นอะไรทั้งสิ้น รถหรูแพงคันที่เพิ่งแล่นออกไปนั้น ก็เหมือนรถหรูแพงคันอื่นๆ ในท้องถนน

ที่มีลูกเขย เป็นผู้ขับให้แม่ยาย...

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01-06-2014 23:37:20 โดย เดหลี »

ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
Re: ฝากไว้ในมือเธอ [บทที่ 3] 31 พ.ค. 57
«ตอบ #34 เมื่อ31-05-2014 03:41:03 »

คุณ malula เดี๋ยวอ่านต่อไป จะค่อยคลี่คลายมานะคะ เรื่องเป็นพระเอก... ก็ให้เป็นพระเอกทั้งสี่คนล่ะ 555

คุณ ゚゚ღ✿ศิลินส์✿ღ゚゚ ก็อาจจะมีบ้างนะคะ บางทีเราก็อาจจะเจอเพื่อนคล้ายๆ แบบนี้ในตอนเรียน หรือในที่ทำงานนะ แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าเธอแย่มากจริงหรือเปล่า 55 หมอพัทธ์เธอเสถียรดีคนเขียนก็ชอบ 55

คุณ warin ขอบคุณมากค่ะ ฝากอ่านต่อด้วยนะคะ

คุณ B52 ขอบคุณมากสำหรับการอ่านค่ะ รุงรัง เหมือนเวรอายุรกรรม 55 ฝากอ่านต่อด้วยนะคะ ว่าจะมีคู่กันไหม

คุณ Nemasis ขอบคุณมากค่ะ หมอลภเธอเป็นปริศนาจริงด้วย ตอนนี้ก็ยาวอีกแล้วค่ะ 55

คุณ iforgive ขอบคุณสำหรับการอ่านค่ะ ว่าแต่จะคู่กันตามนี้จริงไหม สลับกันมั้ย 55 ป.ล. หมอลภแกชื่อลภเฉยๆ แหละค่ะ เป็นรากบาลี

คุณ afewn ขอบคุณค่า ประโยคไหนกันเอ่ยสี่รอบ อยากเขียนให้อ่านลื่นๆ จังเลย ตอนนี้ก็ยาวอีกแล้วน้า จะพยายามค่ะ นี่เสร็จก็มาเลยแหละ

คุณ ohuii ขอบคุณสำหรับการอ่านค่ะ ขอบคุณที่ไปอ่านเรื่องโน้นด้วยน้า คนเขียนไม่ได้เป็นหมอหรอกค่ะ แต่อาศัยค้น กับถามคนที่เป็น 555 พยายามเขียนให้รายละเอียดถูกเท่าที่ทำได้ ฝากอ่านต่อด้วยนะคะ

คุณ SenzaAmore ขอบคุณค่ะ เรียนวิชาชีพสายนี้ด้วย :) ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจค่ะ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทนี้น่าจะมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นในหลายๆ เรื่องบ้างเนอะคะ อิอิ ขอบคุณสำหรับการอ่านมากๆ ค่ะ  :กอด1:

ป.ล. (มีป. ล. มันทุกบท 55) เรื่องกลับมาเรียนของพี่ลภนี่ เอาเป็นว่าอนุสาขาแบบสองปี คือเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอด (ปกติก็เรียกเฟลโลว์) เพราะบางสถาบันก็เรียกเฟลโลว์แยกจากต่อยอดอีก เรียนปีเดียวเหมือนต้นสังกัดส่งมา ซึ่งน่าจะเป็นข้าราชการ แต่พี่ลภไม่ได้เป็น แล้วทำไมไม่ได้อยู่ในระบบเหมือนคนอื่น? ก็อยากฝากให้อ่านต่อไป... ขอบคุณมากๆ อีกครั้งค่ะ  :pig4:

ป.ล.ล. แก้ไขคำตกนิดหน่อยค่ะ :)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01-06-2014 23:38:33 โดย เดหลี »

ออฟไลน์ BeeRY

  • ❤。◕‿◕。ยิ้มเข้าไว้นะ。◕‿◕。❤
  • เป็ดHades
  • *
  • กระทู้: 9405
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +897/-8
ก็สงสัยมานานว่านิยายคุณเดหลีนี่ ตัวละครจะออกแนวผู้ชายสายวิทย์สุขภาพนะคะ :z1:
ได้คำศัพท์ในวงการมาเต็ม ประหนึ่งได้เรียนเอง :m20:
อ่านมาตั้งหลายบรรทัด มาสะดุดตรงบรรทัดสุดท้ายเนี่ย พี่ลภเป็นลูกเขย แล้วแม่ษิตเป็นแม่ยาย แล้วพี่ลภกับษิต? :katai1:
ถึงไม่ได้เป็นหมอ แต่ก็งานยุ่งไม่แพ้หมอเลย ยังไงก็จะรออ่านนะคะ ตอนก่อนไม่ทันเห็นเพราะงานเข้าแบบจัดหนัก :z3:

ออฟไลน์ malula

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 7216
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +622/-7
นีน่าโดนมาหลายรอบแล้ว น่าจะดีขึ้นบ้างล่ะ

ลูกเขยแม่ยายนี่เหมือนลูกเลี้ยงแม่เลี้ยงมากกว่านะ


ออฟไลน์ iforgive

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 6805
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +844/-80
หมอลภเป็นลูกเขย O_O  โอ้ ดราม่าเลย

ออฟไลน์ B52

  • เป็ดZeus
  • *
  • กระทู้: 13216
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +420/-26
อึนๆหน่วงๆในอกจัง นีน่าโดนตอนนี้น่าจะเริ่มคิดอะไรได้บ้างละน่ะ

ออฟไลน์ jinjin283

  • เป็ดHera
  • *
  • กระทู้: 934
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +45/-1
ท่าทางมาม่ามาแต่ไกลเลยคะ ชีวิตนศแพทย์วุ่นๆจัง ลุ้นพิทานจะคู่กับใคร 55

CoMMuNiTY Of ThAiBoYsLoVE

ประกาศที่สำคัญ


ตั้งบอร์ดเรื่องสั้น ขึ้นมาใครจะโพสเรื่องสั้นให้มาโพสที่บอร์ดนี้ ถ้าเรื่องไหนไม่จบนานเกิน 3 เดือน จะทำการลบทิ้งทันที
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=2160.msg2894432#msg2894432



รวบรวมปรับปรุงกฏของเล้าและการลงนิยาย กรุณาเข้ามาอ่านก่อนลงนิยายนะครับ
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=459.0



สิ่งที่ "นักเขียน" ควรตรวจสอบเมื่อรวมเล่มกับสำนักพิมพ์
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=37631.0






ออฟไลน์ Nemasis

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 158
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +43/-1
เฮ่ยยยพี่ลภเป็นลูกเขย ..บอกมาแบบนี้พี่ลภก็ยังดูเป็นปริศนาอยู่ดี 555+

สนุกมากค่ะ อ่านเพลินจบตอนไม่รู้ตัวเลยเหมือนเดินราวน์วอร์ดพร้อมคุณหมอทั้งหลาย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01-06-2014 14:02:06 โดย Nemasis »

ออฟไลน์ -west-

  • เป็ดนักขาย
  • เป็ดHephaestus
  • *
  • กระทู้: 1393
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +1875/-12
    • FACEBOOK PAGE
เรื่องนี้ต้องใช้เวลาอ่านนานมากกก แต่อ่านได้เรื่อยไม่มีเบื่อไม่มีสะดุดค่ะ เนื้อหาค่อนข้างจะหมอแบบโคตรหมอเลย ไม่เหมือนนิยายเรื่องอื่นที่สัมผัสได้ไม่ดีเท่าไร 555555
เขียนได้ดีค่ะ มีปมให้สงสัยเยอะ รออ่านตอนต่อไปเรื่อยๆนะคะ

ออฟไลน์ warin

  • รถไฟขบวนนั้น ได้แล่นผ่านไปแล้ว
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1938
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +60/-1
    • -
ต้องอ่านแบบทุกตัวอักษร  เพราะยิ่งอ่านยิ่งเข้มข้น
ชอบอาชีพหมอ  นานๆจะมีตัวเอกเป็นหมอถึง 4 คน 

ออฟไลน์ ゚゚ღ✿ศิลินส์✿ღ゚゚

  • เป็ดเด็กช่าง
  • *
  • กระทู้: 247
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +23/-4
อานะ สงสัยต่อไป พี่สาว? ลูกเขยแม่ยาย เหมือนลูกไล่ก็เหมือน? แล้วก็เหมือนเดิม หมอพิธานกับหมอลภ เคยมีซังติงกันหรือมีอะไรที่มากกว่านั้น?

ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
บทที่ 4

ข่าวดี... ใครก็อยากเป็นผู้ให้ และอยากเป็นผู้รับ

แต่ข่าวที่จะดีก็ไม่ใช่ จะร้ายก็ไม่เชิงล่ะ... เรียกว่ามีความดีอยู่ในความร้าย และมีความร้ายอยู่ในความดี

ความจริง ข่าวจะดีหรือจะร้าย ก็ขึ้นอยู่กับความคาดหวังตั้งแต่แรก ว่าลงท้ายแล้ว ต่างจากความจริงเพียงใด...


ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางที่ไม่ได้หรูหรายังพลุกพล่านไปด้วยคนเจ็บคนป่วยและญาติแม้จะดึกดื่นค่อนคืนแล้ว มีทั้งกรณีเร่งด่วนจริง และที่ยังรอได้

ในส่วนอุบัติเหตุก็เช่นกัน ผู้บาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากหมอและพยาบาล ที่ต้องเย็บก็เย็บ ที่สงสัยว่ากระดูกหักก็ส่งไปเอ็กซเรย์ แต่ส่วนที่สาหัส ก็ต้องเตรียมผ่าตัดด่วนกันกลางดึก

ลภกำลังล้างมือ เขาทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ทุกขั้นตอนแทบเป็นไปอย่างอัตโนมัติ คนไข้ถูกแทงที่ท้องมาหลายแผล พอเห็นเมื่อแรกรับ ประเมินอาการและกู้ชีพเบื้องต้นไปแล้ว เขาก็คิดว่าต้องผ่าตัดแน่นอนเพราะตอนมาเริ่มมีอาการช็อคจากเสียเลือดรวมทั้งอุณหภูมิร่างกายและความดันลดต่ำลงมาก เลือดที่ออกในช่องท้องต้องหยุดให้เร็วที่สุด

เขาสั่งเลือดเพิ่ม ไปคุยกับญาติเรื่องความจำเป็นจนเซ็นยินยอมผ่าตัดจึงให้ “เซ็ตโออาร์เลย” แต่พอเข้าไปก็ต้องบอกพยาบาลเบาแอร์ลงมากที่สุดเพราะคนเจ็บอุณหภูมิต่ำกว่าปกติอยู่แล้ว แม้จะพยายามให้ความอบอุ่นก็ตาม

ทั้งอุณหภูมิที่ลด เลือดที่ออกไม่หยุดและผลเลือดที่ค่าโน้มเอียงเป็นกรดเพิ่มอัตราตายในกรณีบาดเจ็บสาหัสแบบนี้ จนเขาคิดว่าต้องใช้วิธีผ่าตัดเพื่อควบคุมความเสียหายไว้ก่อนแล้วส่งเข้าไอซียูให้ร่างกายฟื้นฟูดีขึ้นหน่อย จึงค่อยผ่าตัดอีกครั้ง แทนที่จะมุ่งซ่อมแซมทุกอวัยวะอย่างละเอียดตั้งแต่ตอนนี้ เพราะคนบนเตียงคงไม่สามารถทนการผ่าตัดนานหลายชั่วโมงได้แน่

ทุกคนเข้าประจำที่ ศัลยแพทย์จึงผ่าตัดเปิดช่องท้องหรือที่เรียกว่าแลปพาโรโตมี่ กรีดแนวตั้งตามกึ่งกลาง อ้อมสะดือไปทางขวา การลงมีดแบบนี้ทำได้รวดเร็วในช่วงนาทีแห่งความเป็นความตาย และทำให้เห็นอวัยวะภายในได้ทั้งหมด

พอดูดซับเลือดออกเท่าที่ทำได้แล้วจึงวางผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือไว้ทั้งสี่มุมของช่องท้อง เริ่มตรวจดูอวัยวะภายใน หลอดเลือดที่ฉีกขาดเสียหาย แผลแทงทะลุต้องมีสองรูเสมอ... เข้า ออก... หู ตา นิ้วของศัลยแพทย์ทำงานประสานกัน บางทีฟังได้ว่าเลือดยังคงออกจากที่ใด ที่พอเย็บซ่อมแซมได้ก็ทำเลย และต้องผูกเอาไว้ก่อนในบางที่ที่มองแทบไม่เห็นด้วยซ้ำ

ทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นด้วยความชำนาญนั้นไม่ได้มาจากความจำ แต่มาจากการรับมือกับความจริงที่อยู่ตรงหน้า เพราะไม่มีคนไข้คนใดเหมือนกัน แม้จะมาด้วยการบาดเจ็บคล้ายคลึงกันก็ตาม

ลภถอนใจยาวเมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น คนไข้ถูกส่งออกไปที่ห้องสังเกตอาการ เพื่อต่อไปยังไอซียูเรียบร้อยแล้ว เขาถอดถุงมือผ่าตัดซึ่งชุ่มไปด้วยเลือดจนแทบมองไม่ออกว่าเคยเป็นสีขาวมาก่อนทิ้งลงถัง

แม้ผ่านพ้นภาวะเฉียดตายมาได้ แต่อาการยังวิกฤต ต้องอยู่ในไอซียูก่อนผ่าตัดครั้งต่อไป และถึงจะอยู่ในไอซียู ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าคนเจ็บจะไม่ทรุดลง หรือการผ่าตัดครั้งต่อไปจะเรียบร้อยดี

เพราะ... ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ในทางการแพทย์

เขาถอนใจอีกครั้ง ใคร่ครวญถึงถ้อยคำที่จะออกไปบอกญาติ ดี... เลือดที่ออกอย่างหนักถือว่าควบคุมได้ ไม่... ยังน่าเป็นห่วง ต้องเฝ้าดูอาการกันอย่างใกล้ชิด ใช่... คนไข้ยังมีชีวิตอยู่

ยังมีความไม่แน่นอน... แต่นั่นก็ถือเป็นข่าวดีได้ไม่ใช่หรือ

นั่นคือ... กลางดึกของลภ


ห่างไกลออกไปในตัวเมือง ทีมผ่าตัดสองทีมกำลังแยกกันทำงาน ยึดกระดูกโดยใส่โลหะหลังจากผ่าตัดเปิดเข้าไปจัดกระดูกให้เข้าที่แล้ว คนไข้ขาหักทั้งสองข้างจากอุบัติเหตุรถยนต์ แต่สัญญาณชีพดี จึงได้รับเข้าไว้ในโรงพยาบาล งดอาหารรอผ่าตัดเช้านี้

ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นจนคลายขันชะเนาะที่ต้นขาทั้งสองข้าง ซึ่งจำเป็นต้องทำเพื่อให้เห็นบริเวณผ่าตัดได้ชัดเจนและลดการเสียเลือด หลังจากนั้นไม่ถึงห้านาที... คนไข้ความดันตกอย่างรุนแรง ชีพจรอ่อน แม้ได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้นแต่กลับเริ่มเข้าสู่ภาวะหัวใจวาย

เสียงอาจารย์สั่งยาฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจเป็นชุด ปฏิบัติการกู้ชีพเริ่มขึ้นเต็มรูปแบบ ทีมแพทย์ทำทุกอย่างเพื่อให้คนไข้ที่เพิ่งจะพูดจาและหัวเราะก่อนเข้าห้องผ่าตัดกลับมา

หลังจากปั๊มหัวใจอยู่ราวครึ่งชั่วโมงกว่าก็ประสบความสำเร็จ... แว่วเสียงถอนใจโล่งอกจากรอบห้อง

"คุณไปคุยกับญาติก่อน" อาจารย์บอกลูกศิษย์ที่เข้าช่วย ก่อนรีบเร่งออกไปเพราะมีผ่าตัดต่อ

พิธานถอดเสื้อคลุมสีเขียวออก รองเท้าที่ใช้ในห้องเสียดสีกับพื้นเป็นเสียงคุ้นเคย แต่เขาครุ่นคิดถึงแต่เรื่องที่ต้องบอกญาติคนไข้ หรือถ้าให้ถูก คือตอบคำถามถึงสิ่งที่ไม่คาดฝัน

... ทำไมคนไข้ที่ผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน ความเสี่ยงถือว่าน้อย ถึงได้หัวใจวายบนเตียง และตอนนี้ก็ยังอยู่ในไอซียู...

เท่าที่เห็น ถ้าอาการวันนี้ดีต่อไปเรื่อยๆ ก็น่าจะออกจากไอซียูได้โดยเร็ว และกลับมาหายเป็นปกติได้ แต่เขาไม่อาจทำตัวเป็นหมอดูแทนที่จะเป็นหมอ พยากรณ์สิ่งที่ตัวเองคาดเดาให้ญาติคนไข้ฟัง มีแต่ต้องบอกสถานการณ์ที่เป็นจริงเท่านั้น

สำหรับญาติที่รอจะได้เข้าเยี่ยมคนไข้ในหอผู้ป่วยที่พักฟื้นตามปกติ และเพิ่งคุยกันไปเมื่อคืนหยกๆ ก็... ออกจะเป็นข่าวร้าย...

เขาเดินตรงไปหาญาติคนไข้ แนะนำตัว เตรียมใจให้พร้อมรับปฏิกิริยาทุกอย่างที่ตอบกลับมา

นั่นคือ... ตอนเช้าของพิธาน


วอร์ดอายุรกรรมหญิงยังวุ่นวายเช่นเคย แพทย์ประจำบ้านที่เดินออกมาจากด้านในและถามหารุ่นน้องมีสีหน้าอิดโรยกว่าทุกวัน ก่อนจะได้คำตอบว่าปีสี่มีคาบบรรยาย จึงเดินกลับเข้าไปอีก

คนไข้หญิงชราที่อาการทรุดหนักลงมากนั้นลำดับการดูแลเป็นอาจารย์ แพทย์ประจำบ้านปีสองคือตัวเขาเอง แล้วก็รักษิตเลย ธีรพัทธ์ยังหนักใจเหมือนทุกครั้งที่ต้องคุยกับญาติคนไข้เรื่องนี้ ช่วยให้ตัดสินใจ ปล่อย หรือ ยื้อ...

สมมติว่าเขาเป็นหมอประจำครอบครัวของใครสักคน หรือเป็นหมอด้านโรคเรื้อรังยาวนานอย่างมะเร็ง ก็คงได้พบหน้าคนไข้และญาติอยู่เป็นเดือนเป็นปี มีความคุ้นเคยกันจนแจ้งข่าวแบบนี้ได้ลำบากน้อยลง นิดหนึ่ง... แต่นี่ เขาแทบไม่เคยพบญาติคนไข้ แถมพยาบาลยังเพิ่งบอกว่าจะมาเยี่ยมไม่ได้หลายวัน อันเป็นช่วงที่คนป่วยอาการไม่ดีอยู่แล้วน่าจะวิกฤตลงอีก

แม้จะมีวิทยาการก้าวหน้าสักปานใด แต่ชีวิตมนุษย์ไม่อาจต่อให้ยาวไปเรื่อยๆ ได้เมื่อถึงขีดจำกัด หากโรคเริ่มไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือยา ถ้าทำทุกอย่าง ทุกอย่างที่ทำได้... บางที คนไข้ก็ยอมรับความจริงได้ง่ายกว่าหมอเสียด้วยซ้ำ เพราะหมอรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะแพ้ ทั้งๆ ที่ชีวิตเป็นของคนไข้ เพียงแค่... เป้าหมายที่มีร่วมกันเปลี่ยนไปแล้วเท่านั้น

... เปลี่ยนจากรักษาให้หาย เป็นประคับประคองเพื่อไม่ให้เจ็บปวดและสบายที่สุดเท่าที่จะทำได้

ธีรพัทธ์กลับออกมาอีกครั้ง บอกพยาบาลด้วยน้ำเสียงออกจะล้า “ญาติคนไข้มาแล้วใช่ไหม... หาห้องให้ผมด้วยครับ”

หลายครั้ง ห้องก็ไม่ได้เป็น ‘ห้อง’ เป็นเพียงเตียงว่าง หรือมุมใดมุมหนึ่งของวอร์ดที่พอจะดึงม่านมากั้นเพื่อให้รู้สึกเป็นส่วนตัวขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อคุยกับญาติของคนไข้ที่แพทย์บางคนเรียกว่า ‘โฮปเลส เคส’ หรือหมดหวังแล้วนั่นแหละ

ธีรพัทธ์ไม่ชอบคำนี้ตั้งแต่ตอนเรียน คิดว่าทำให้ทุกอย่างดู... จบสิ้นเกินไปในความรู้สึกของทั้งคนบอกและคนรับสาร หมออาจจะไม่ใช้คำนี้ตรงๆ เมื่อพูดกับญาติ แต่หากกำกับความคิดเอาไว้ ญาติก็รับรู้ได้อยู่ดี สำหรับเขา ถึงไม่มีหวังจะให้หาย แต่ก็ยังมีหวังได้อีกหลายอย่างในชีวิตช่วงสุดท้ายของคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้ได้ทำอะไรที่อยากทำในขอบเขตที่เป็นไปได้ หรือลดความทุกข์ทรมานลง

การคุย NR... ย่อจาก No Resuscitation นั่นคือ ไม่กู้ชีพอีกแล้ว ถ้าคนไข้เริ่มแย่ และทำท่าจะ ‘ไป’ หมายความว่า... จะปล่อยให้ไปโดยไม่พยายามรั้งไว้อีก

แต่บางครั้ง ญาติก็ต้องการให้แพทย์ยื้อชีวิตคนไข้เอาไว้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในบางกรณีที่การกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรต่อคนไข้แล้วโดยสิ้นเชิง หมอก็อาจต้อง... โน้มน้าวญาติอีกครั้งหนึ่ง

ตั้งแต่เรียนมา ธีรพัทธ์เคยต้องคุยเช่นนี้ไม่รู้กี่หนต่อกี่หน นับจากครั้งแรกๆ ที่เขารู้สึกราวกับตัวเองเป็นยมทูตไปบอกญาติคนไข้ว่า... เวลาเหลือน้อยแล้วนะครับ ถึงจะไม่ได้พูดอย่างนั้นออกไปจริงๆ ก็เถอะ จนกระทั่งทำใจได้ว่า นี่คือหน้าที่หนึ่งของหมอ และตั้งใจรับฟังความรู้สึกของคนได้ข่าวอย่างเต็มที่ทุกครั้ง

เพราะถึงหมอจะต้องทำแบบนี้เป็นร้อยเป็นพันครั้งตลอดช่วงเวลาที่ยังเป็นหมออยู่ แต่ญาติคนไข้อาจจะเจอเรื่องแบบนี้เป็นครั้งแรก หมออาจจะจำเป็นต้องบอกข่าวร้ายอยู่ทุกวันจนชิน แต่ครอบครัวคนไข้... ไม่มีวันชิน

อย่างน้อย... ถ้าไม่กู้ชีพ... ไม่ต้องปั๊มหัวใจ ซึ่งต้องกดให้ลึก แรงและเร็วพอ จนอาจเกิดซี่โครงหักเป็นผลข้างเคียง คนไข้ก็คงไม่ต้องทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่อวัยวะและร่างกายส่วนอื่นไม่ไหวแล้วเช่นกัน

นั่นคือ... ช่วงบ่ายของธีรพัทธ์


รักษิตเดินอย่างรีบเร่งไปตึกอายุรกรรมเมื่อหมดคาบเรียนแล้ว ใจนึกห่วงคนไข้ที่เขาเรียกว่า ‘คุณยาย’ แทนที่คุณย่าของตัวเอง เพราะหลังจากเข้าๆ ออกๆ ไอซียูไปหลายรอบ คนไข้ก็แสดงความจำนงอยากกลับมานอนที่หอผู้ป่วยตามเดิม เพราะ ‘มีเพื่อน... มีหมอๆ เยอะ’ หอผู้ป่วยวิกฤตนั้นเงียบเหงากว่ามาก

เขาเดินผ่านกลุ่มพยาบาลที่คงเพิ่งลงเวร ได้ยินบทสนทนาที่ทำให้ชะงัก ก่อนจะสาวเท้าเร็วจนเป็นวิ่งด้วยแรงสังหรณ์ใจบางอย่าง

“ไปสบายอีกคนแล้ว ก่อนลงนี่เอง”

“คุย NR ไว้แล้วนี่”

“ใช่... แต่ญาติไม่อยู่ อยู่แต่หมอพัทธ์ เลยได้บอก นี่มือหมอนะ จับไว้นะ... ท่องพุทโธ ให้ได้ยิน แป๊บเดียว... แต่คนไข้แกก็ไปสงบ ไม่ทุรนทุราย"

เขาวิ่งขึ้นไปถึงชั้นสาม ใจเต้นแรงราวจะออกมานอกอก ก็เมื่อเช้านี้ที่เขาตามอาจารย์และพี่ๆ ไปราวนด์ตอนเช้า คุณยายยังดูสบายขึ้นกว่าเมื่อคืนตั้งเยอะ ถึงแม้จะเหนื่อยและอ่อนเพลีย ถึงผลแล็บอื่นๆ จะไม่ได้ดีขึ้นมาก แต่...

รักษิตหยุดฝีเท้าลงเมื่อถึงเตียงว่างเปล่า ผู้ช่วยพยาบาลกำลังเปลี่ยนผ้าปูเตียงอยู่ก่อนแล้ว

อีกไม่นาน ก็คงมีคนไข้ใหม่ที่รับเข้ามาได้ใช้เตียงนี้ต่อไป เตียงห้าสิบเจ็ด ก็จะไม่ใช่เตียงของคุณยายอีก

เขารู้สึกใจหายอย่างบอกไม่ถูก นึกถึงรอยยิ้มอบอุ่นที่มักมีให้เขาเสมอแม้จะป่วย และคำเย้าว่า ‘เดี๋ยวไปแผนกอื่น ก็ลืมยาย’

‘ไม่ลืมหรอกครับ’ รักษิตจำได้ว่าตอบอย่างจริงจัง ‘คุณยายเป็นคนแรกของผม’

เป็นคนไข้ที่เขาได้รับเป็นคนแรก และจากไปเป็นคนแรก...

เขาเดินออกมานอกวอร์ด คนอื่นยังมาไม่ถึง ราวนด์เย็นยังไม่เริ่ม รู้สึกจริงๆ ว่า... ต้องใช้เวลาตระเตรียมใจก่อนกลับเข้าไปข้างใน
 
รักษิตทรุดตัวลงนั่งที่ขั้นบันไดชั้นบนสุด ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาคิด ชีวิตคนเรา สั้นและเปราะบางแค่ไหน... พอมาเรียนหมอตอนแรกก็มีแต่ความรู้สึกอยากจะช่วย แท้จริงหมอเจอกับความตายอยู่วันแล้ววันเล่า และบางที ที่ว่าจะช่วยคนไข้นั้นไม่ได้จบลงที่หาย ดิสชาร์จกลับบ้านได้เสมอไป การช่วยให้เผชิญช่วงสุดท้ายโดยเจ็บปวดน้อยที่สุด จากไปอย่างไม่ทรมาน ก็ช่วยเหมือนกัน พอยาช่วยไม่ไหว ก็พุทโธนี่อย่างไรเล่า

... คุณยายอยากอยู่หอผู้ป่วยธรรมดามากกว่า เพราะลูกหลานเข้าเยี่ยมได้ง่ายกว่าหรือเปล่านะ...

แต่สุดท้าย มือที่ส่งให้ยึดจับไว้ในตอนใกล้จะละไป ก็คือมือของแพทย์ประจำบ้านวอร์ดอายุรกรรม ไม่ใช่มือของลูกหลานที่รอให้มาเยี่ยม

รักษิตหันไปมองเมื่อรู้สึกว่ามีคนนั่งลงมาข้างๆ... เป็นธีรพัทธ์นั่นเอง เมื่อสบตากัน รักษิตก็รู้ว่า รุ่นพี่รู้ว่าเขารู้

ผ่านไปพักหนึ่ง อีกฝ่ายจึงเริ่มบทสนทนาขึ้นก่อน

“พี่ตามหาอยู่เหมือนกัน... จะให้ช่วยคุย NR”

พี่พัทธ์... ด้วยความที่ใจดีก็ยังพูดว่าจะให้เขาช่วย ทั้งที่จริงๆ แล้วพี่นั่นแหละที่ต้องช่วยเขามากกว่า รุ่นพี่อาจจะอยากให้เขามีประสบการณ์ ได้คุยเช่นนี้กับคนไข้รวมทั้งญาติบ้าง เพราะ... อีกไม่นานเขาจะต้องทำเอง และทำคนเดียว

“คิดว่า ยังมีเวลาอีกหน่อย แต่ก็...” ธีรพัทธ์หยุด เป็นความเงียบที่เข้าใจกันดี ก่อนเอ่ยต่อ “เสียดาย... ญาติคนไข้กลับมาไม่ทัน”

เงียบกันไปอีกช่วง ธีรพัทธ์เป็นฝ่ายต้องหันไปบ้างเมื่อจู่ๆ รุ่นน้องก็ถาม "มันจะดีขึ้นบ้างไหมพี่พัทธ์"

ที่ผ่านมา เขาก็ไม่ใช่ไม่เคยต้องปลอบน้องๆ ยังคิด พวกที่ปลงง่าย ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรมากน่าจะสบายกว่า ถือว่าทำดีที่สุดในขณะนั้นแล้วก็พอ แต่ธีรพัทธ์มองออกว่า รักษิตเป็นคนจริงจัง ไม่ใช่พวกจริงจังแบบพยายามบังคับสถานการณ์รอบด้านหรือคนอื่นให้เป็นไปดังใจ แต่เป็นความจริงจังแบบที่ว่า ถ้ามีเรื่องอะไรผ่านเข้ามากระทบ ก็คงคิดใคร่ครวญอยู่ซ้ำๆ จนเกิดผลได้สองอย่าง คือถ้าไม่รู้สึกดีขึ้น ก็แย่กว่าเดิมไปเลย

เขาจึงตอบตรงๆ “อย่าเพิ่งหมดกำลังใจเสียก่อนถ้าพี่บอกว่า ไม่... แต่เราจะหาวิธีรับมือที่เป็นของเราได้”

ธีรพัทธ์เพิ่งสรุปกับตัวเองเมื่อไม่นานมานี้ว่า นี่คงเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่จะเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์ให้กลายเป็นแพทย์ หมอนั้นดูแลชีวิตของคนอื่น แต่ก็ต้องหาวิธีดูแลความรู้สึกตัวเองด้วย ไม่อย่างนั้นคงหมดไฟหมดพลัง จนหมดอาลัยตายอยากกันเสียหมด ลงท้ายด้วยไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ส่วนในระหว่างนี้ ถ้าสังคมแพทย์ยังเป็นสังคมของพี่น้อง เป็นพี่สอนน้องอยู่ละก็ เขาก็ถือเป็นหน้าที่รุ่นพี่ที่ต้องดูแลความรู้สึกรุ่นน้องด้วยเหมือนกัน

“หรือ... ผมควรจะทำใจให้ชินไว้บ้าง เพราะผมเรียนเพื่อที่จะเป็นหมอ” รักษิตพูดเบาๆ “คงต้องเจอ... เรื่องแบบนี้อีกหลายหน”

“... พี่ว่า ไม่ต้องไปบังคับตัวเองให้ชินหรอก ไม่อย่างนั้นเราจะเฉยชาไปหมด... เห็นแต่โรค ไม่เห็นคนไข้” ธีรพัทธ์บอกช้าๆ “... หมอน่ะ เจอคนไข้เข้าก็อยากจะทำโน่นทำนี่ เพราะเรียนมาเยอะ แต่ให้รู้ตัวว่าต้องพอได้แล้ว เพราะบางครั้ง... การพอคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ กลับยากกว่าเสียอีก”

รักษิตนิ่ง ได้ยินเสียงรุ่นพี่เล่าต่อเรื่อยๆ "ตอนเรียน คนไข้เพื่อนพี่อยู่ๆ ก็ไปกะทันหันเหมือนกัน ขานั้นพอหมดเวรเดินลงจากวอร์ด กลับหอไม่พูดไม่จากับใครเลย แต่เช้าวันต่อมา เขาก็ลุก กลับมารับคนไข้ต่อ... บอกว่า ถ้าตัวเองแย่ ก็ช่วยใครไม่ได้”

“ผมไม่อยาก...” รักษิตโพล่งออกมา แล้วเรียบเรียงคำพูดไม่ถูก แต่อีกฝ่ายก็รอเขาอย่างอดทน จนคนเป็นรุ่นน้องพูดเสียงเบา รู้ตัวว่าออกจะฟังดูเป็นเด็กอยู่บ้าง แต่ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ “ผมไม่ชอบความรู้สึกที่ว่า เราทำอะไรไม่ได้แล้ว”

“บางที ก็ไม่เหลืออะไรให้เราทำแล้วต่างหาก” ธีรพัทธ์พูด มองหน้าคนนั่งข้างกัน “แต่... เรายังอยู่กับคนไข้ได้ พูดกับญาติเขาได้ น้องเพิ่งเจอ แรกๆ คงลำบากหน่อย”

รักษิตนิ่งไปอีก ท่าทางรุ่นพี่จะคิดว่าเขาเพิ่งรู้จักกับความตายอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก แต่ไม่จริงหรอก นับเฉพาะคนในครอบครัว นอกจากคุณปู่คุณย่า คุณพ่อแล้ว พี่สาวคนโตของเขาเองก็จากไป ทั้งๆ ที่อายุยังน้อย และไม่สมควรเลย

“ถ้าไม่ใช่เพราะมีอาการหรือโรคอื่นๆ ที่ทำให้พยากรณ์แย่มากอยู่แล้ว ถ้าไม่มีการคุยปฏิเสธการกู้ชีพมาก่อน เราก็พร้อมจะปั๊มต่อ ใช่ไหม... ทั้งๆ ที่ยิ่งนาน โอกาสที่อะไรๆ จะเสียหาย โอกาสที่เขาจะกลับมาได้ก็น้อย แต่ก็ยังทำ พี่ไม่คิดว่าเรายอมแพ้กันง่ายขนาดนั้นนะ...” ธีรพัทธ์บอก “บางที... เราก็ไม่มีทางรู้”

รักษิตเงยหน้าขึ้น รุ่นพี่กำลังบอกเขาว่า ถ้าไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ในทางการแพทย์อย่างที่มักจะเคยได้ยินบ่อยๆ ก็... ไม่มีอะไรหมดหวังร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

เพราะไม่ว่าจะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ สิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณภาพชีวิต ณ ขณะนั้นของคนไข้ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงใดก็ตาม

“ผมแค่...” รักษิตเริ่ม รู้สึกว่าคงฟังดูเป็นเด็กอีกแล้ว แต่ก็คิดว่าต้องบอกใครสักคนออกมาจริงๆ และธีรพัทธ์นั้นเหมาะ เพราะเขาแน่ใจว่ารุ่นพี่ไม่หัวเราะเยาะเขาแน่ๆ “ผมแค่... อยากสู้ให้ถึงที่สุดก่อน”

“ดีแล้ว” ธีรพัทธ์ตอบ “เพราะถ้าพี่เป็นคนไข้ พี่ก็อยากได้หมอแบบนี้แหละ”

คำพูดประโยคนั้นทำให้เขามีกำลังใจขึ้นอย่างประหลาด จนได้ยินประโยคถัดไป ที่ธีรพัทธ์บอกว่าจะไปเวียนที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด ต้องถาม “... แล้วจะไม่กลับมาแล้วเหรอ”

“กลับมาสิ ระหว่างนี้ก็ต้องมีกลับมาบ้าง” รุ่นพี่รีบตอบ “พอปีสาม ก็กลับมาเรียนต่อที่นี่จนจบ น้องก็ปีห้าแล้ว...”

รักษิตพยักหน้า หันหลังไปมองลอดผ่านประตูกระจกของวอร์ด เอ่ยขอบคุณเขาอย่างจริงใจ ก่อนจะลุกขึ้น

ธีรพัทธ์ก็ลุกขึ้นเหมือนกัน ความจริงน้องรอบนี้ใกล้ลงวอร์ดแล้ว... แต่เขาจะพูดกับรักษิตก่อนแยกย้ายกันกลับไปทำงานว่าอย่างไรดี

... อยู่ได้นะ? ดูสนิทชิดเชื้อแถมยังเป็นการเหมาถึง... อะไรก็ไม่รู้อีก ก็ต้องอยู่ได้อยู่แล้วสิ เพราะยังมีรุ่นพี่ทั้งเอ็กซ์เทิร์นและแพทย์ประจำบ้านคนอื่นๆ อีกหลายคนที่จะต้องเจอเมื่อรักษิตขึ้นวอร์ดใหม่ ไม่เป็นไรนะ? เขาก็คิดว่ารุ่นน้องคงไม่เป็นไร จากแววตาท่าทาง รวมทั้งการทำงานที่เคยเห็นผ่านมา บ่งบอกว่า เป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจมากคนหนึ่ง

ที่เหลือให้พูดพร้อมรอยยิ้ม ก็คือ “แล้วเจอกัน”

... เพราะต้องได้เจอกันอีกแน่ๆ


ลภกำลังออกจากที่ทำงานเพื่อตรงไปยังโรงพยาบาลตอนที่เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เมื่อเห็นหน้าจอก็กดรับก่อนจะก้าวขึ้นรถ เสียงที่ลอดผ่านออกมานั้นทำเอาเขาขมวดคิ้วนิดๆ

“พี่ลภคุยได้นะ?”

“ษิตมีเรื่องอะไรหรือเปล่า” เขาถามทันที จับสังเกตน้ำเสียงนั้นได้ “มาเจอพี่ที่โรงพยาบาลไหม แต่ต้องรอหน่อยนะ เสร็จแล้วพี่ไปส่งบ้าน”

“ไม่เป็นไร” รักษิตรีบตอบ ความจริงเขาก็ค่อยรู้สึกดีขึ้นแล้วตั้งแต่ที่คุยกับรุ่นพี่ กลับเข้าไปทำงานในวอร์ดจนเพิ่งออกมาเมื่อกี้นี้ แต่เพราะเคยเล่าเรื่องทุกอย่างให้คนปลายสายฟังมาตลอด ก็เลยพูดต่อ “ความจริงก็... มีนิดหน่อย เรื่องคนไข้น่ะ แต่คุยกับรุ่นพี่ในสายไป เลยโอเคแล้ว พี่ลภไม่ต้องห่วง”

“คนไข้?” อีกฝ่ายทวน “ษิตโอเคแน่นะ”

“อืม... ษิตรับไว้แรกๆ เลย ก็ดูกับพี่เขา ยังคิดถึงคุณย่านิดหน่อย... แต่พอวันนี้เขาไม่อยู่แล้ว เลย... คิดถึงหมด คุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ แล้วก็... พี่ริน”

ปลายสายเงียบไป จนรักษิตพูดต่อ “พูดแต่เรื่องษิต... พี่ลภก็เสียงแย่เหมือนกันนะ มีอะไรหรือเปล่า?”

“คนไข้พี่ที่ผ่าไว้ อาการไม่ค่อยดี” ลภตอบตรงๆ “พี่กำลังจะไปดู ต้องผ่าอีกครั้ง แต่นี่... อยู่ในไอซียูแล้วก็ยังไม่ค่อยดี”

ปกติถ้าผ่าตัดเพื่อควบคุมความเสียหายไปแล้ว การผ่าตัดครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งหรือสองวัน ถ้าต้องผ่าเพื่อแก้ไขในขณะที่คนไข้ร่างกายยังไม่เสถียรพอย่อมอันตรายกว่ามาก แต่บางทีก็ไม่มีทางเลือก เขายังคิดว่าอาจรอได้อีกหน่อยเพื่อให้ดีขึ้น และหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่โทรศัพท์จากโรงพยาบาลก็ทำให้ต้องรีบเข้าไปแม้จะไม่ได้รับเวรของวันนี้ไว้ หลังจากเพิ่งแวะไปดูมาเมื่อเช้า

“เอ๊ะ... เกือบลืม” เขาได้ยินอีกคนร้องขึ้น “ษิตโทรมามีเรื่องต้องบอกพี่ลภ”

“ขอเป็นข่าวดีนะ... พี่อยากฟังข่าวดีบ้าง”

“คือ... คุณแม่จะถึงพรุ่งนี้แล้ว ตอนเย็นอยากคุยกับพี่ลภที่บ้าน”

ปลายสายเงียบไปอีก รักษิตถามเสียงอ่อย “ม... ไม่ใช่ข่าวดีใช่ไหม”

“พี่ไม่ได้คิดอย่างนั้น...” ลภตอบ “แค่กำลังคิดว่า... วันศุกร์แล้ว เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ”

“ถ้างั้น... พี่ลภเตรียมฟังข่าวดีนะ”

“ว่ามา”

“เวลาผ่านไปเร็ว...”

“อือฮึ...”

“แป๊บเดียว พี่ลภก็จะได้ไปเรียนต่อ”

ปลายสายนิ่งไปนิด ก่อนตอบ “พี่ก็รออยู่...”

เพราะกับเรื่องบางเรื่อง... เขาก็ได้แต่หวัง และรออยู่เท่านั้น

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16-06-2014 10:23:06 โดย เดหลี »

ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
คุณ BeeRY เรื่องยาวเรื่องแรกที่แต่งนี่ ไม่มีผู้ชายสายวิทย์สุขภาพเลยนะคะ 55 (แต่มีผู้หญิงสายวิทย์สุขภาพแทน) จริงๆ ก็คือชอบนั่นแหละ แต่ก็ชอบหลายอย่างนะ เรื่องอาชีพน่ะ กร๊าก ถ้าพี่ลภเป็นลูกเขย แม่ษิตเป็นแม่ยาย ตามนี้ษิตก็ดองกับพี่ลภล่ะซี น้องภรรยา? คนอ่านงานยุ่งไม่เป็นไรค่ะ แค่แวะมาอ่านก็ดีใจแล้วน้า

คุณ malula บทนี้ไม่มีนีน่า แต่ชีอาจจะรีเทิร์น (เราเปิดตัวละครมาแล้วเราจะไม่เสียเปล่า) ลูกเลี้ยงแม่เลี้ยง ก็ยังไงก็ไม่ใช่ลูกแท้ๆ เนอะ จะรักเหมือนษิตได้ไง

คุณ iforgive ดราม่าเพราะความเข้าใจ (หรือไม่เข้าใจ) ของคนนี่แหละ เหอๆ แต่เรื่องบางเรื่องก็เข้าใจยากนะ

คุณ B52 คือนอกจากชีวิตส่วนตัวของพวกเขาแล้ว อย่างอื่นมันก็อึนนิดหน่อยค่ะ แต่คงไม่เยอะอะไร นีน่าเธอก็เป็นคนฉลาดน่ะนะ

คุณ jinjin283 มาม่า? นิดหน่อยค่ะ พิธานอาจจะไม่มีคู่เลยก็ได้นะ 55

คุณ Nemasis จริง คือปมมันอยู่ตรงเธอเนี่ย เดี๋ยวเราจะค่อยๆ คลี่กันไป ขอบคุณมากค่ะ ฝากอ่านต่อด้วยน้า

คุณ -west- ขอบคุณมากค่ะที่แวะเข้ามาอ่าน บทนี้สั้นกว่าบทอื่นนิดหน่อยหวังว่าจะไม่ต้องใช้เวลาอ่านนานเท่า 555 จริงๆ ก็พยายามเขียนให้กระชับๆ หน่อยค่ะรายละเอียดมันเยอะ กลัวคนอ่านขี้เกียจอ่าน 555 ฝากอ่านต่อด้วยนะคะ

คุณ warin ขอบคุณมากนะคะ หมอสี่คนนี่ก็ไม่เหมือนกันเลยนะเพราะฉะนั้นอะไรๆ ก็มีตัวแปรเยอะ 55 ฝากอ่านต่อด้วยนะคะ

คุณ ゚゚ღ✿ศิลินส์✿ღ゚゚ ฝากสงสัยต่ออีกนิดนะคะ เดี๋ยวทุกอย่างก็จะค่อยๆ คลี่ออกมา ตามที่เรื่องดำเนินไป (ก็ปกติลูกเขยไม่ใช่ลูกไล่แม่ยายเหรอ 55 บางคนนะ) เรื่องหมอพิธานกับลภ เดี๋ยวก็เจอกัน และจะได้กระจ่างขึ้นแล้วค่ะ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ความจริง... ตั้งใจให้เรื่องนี้เป็นนิยายเชิงการแพทย์หน่อยๆ นะ เพราะฉะนั้นมันจะมีประเด็นในวงการเขาเองด้วย นอกจากเรื่องส่วนตัวของตัวละครของเรา ซึ่งก็เยอะอยู่ แต่ความจริงคือรายละเอียดทางการแพทย์เหล่านี้ก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เล่าเรื่องที่อยากเล่าได้ (อันนั้นน่ะสำคัญ) ก็เลยจะพยายามไม่ให้พวกศัพท์เทคนิกอะไรงี้เยอะจนเกินจำเป็นไปนะคะ ถ้ามีศัพท์เฉพาะหรือต้องทับศัพท์จะขยายความเป็นภาษาไทยเอาไว้ในตัวเนื้อเรื่องเลยนะ (อีกครั้ง จะพยายามไม่ให้เยอะค่ะ)

เอาล่ะ ถ้าเข้าใจว่าแต่งงานนี่ก็ต้องแต่งกับผู้หญิงนะ (น่าเสียดายที่) บ้านเมืองเรายังไม่มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันที่รับรองโดยกฎหมาย เป็นอย่างนั้นพี่ลภก็น่าโกรธอยู่น่ะ 55 แต่นั่นแหละ แต่ละคนมีชิ้นส่วนความจริงกันคนละอย่าง ซึ่งก็อาจจะจริงหมดหรือไม่ก็ได้ หรือจะเห็นทั้งภาพต่อเมื่อเอาจิ๊กซอว์ทั้งหมดมาต่อกันก็ได้ และก็กำลังจะเจอกันแล้วแหละ

ขอบคุณคนอ่านมากๆ เช่นเคยค่ะ
  :กอด1:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12-06-2014 22:58:11 โดย เดหลี »

ออฟไลน์ malula

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 7216
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +622/-7
น้องษิตยังต้องเรียนรู้และพบเจออะไรอีกมาก มีที่ปรึกษาดี ๆ นี่ก็ช่วยได้เยอะเลย
พี่ลภเป็นหม้ายสินะ
เห็นใจบรรดาคุณหมอจัง นอกจากรักษาคนไข้ ไหนต้องรับมือกับญาติคนไข้
แล้วยังต้องจัดการกับความรู้สึกของตัวเองอีก

ออฟไลน์ iforgive

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 6805
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +844/-80
แม่ยายกับลูกเขยนี่ มันมีเรื่องอะไรกันว๊า
ดูอึดอัด คลุมเครือ ชอบกลจริง ๆ

ออฟไลน์ lizzii

  • เป็ดAthena
  • *
  • กระทู้: 6284
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +271/-2
ง่ะ ตอนที่สี่แล้ว เราพลาดไปสามตอนเลย อ่านรวดเดียว
หน่วงๆ พิกล ตอนแรกเลยคิดว่าพิธานจะคู่กับษิต แต่พออ่านต่ิมาเรื่อยๆ
พิธานคงเป็นคนรักเก่าของลภ แล้วลภก็มาแต่งงานกับรินที่เป็นพี่ของษิต
ตอนนี้ลภเป็นหม้าย พิธานยังเฮิทไม่หาย เอ๊ะ แล้วสุดท้ายจะเป็นยังไงต่อ
ติดตามตอนต่อไปค่าาาา

ออฟไลน์ ArgèntaR๛

  • "ความสุข" แบ่งปันได้
  • เป็ดเด็กช่าง
  • *
  • กระทู้: 330
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +166/-0
    • turelight's Fanpage
เพิ่งมาเห็นว่าคุณเดหลีเปิดเรื่องใหม่
ตามอ่านยิงยาวรวดเลย อ่านทีไรก็ต้องละเมียดอ่าน อ่านไปประมวลผลไป
ชอบที่แทรกความรู้ไว้เยอะแยะเต็มไปหมดเลย
ยิ่งอ่านก็ทำให้เข้าใจคุณหมอๆ ทั้งหลายมากขึ้นด้วย (ทั้งในนิยาย, โลกความเป็นจริง)

แต่ยิ่งอ่านแล้วยิ่งระแวง กลัวแทนตาษิตจริงๆ ว่าจะโดนเข้าไปเอี่ยวอะไรบ้าง
กลัวจะโดนทำร้ายจิตใจจากสารพันคนรอบตัวที่แบกมาม่าไว้คนละชาม  :ling3:

นั่งลุ้นรอตอนต่อไป...

CoMMuNiTY Of ThAiBoYsLoVE






ออฟไลน์ Sillyfoolstupid

  • เป็ดมหาวิทยาลัย
  • *
  • กระทู้: 489
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +59/-0
อ่านตอนที่แล้วไม่ได้เม้นความคิดเห็นไว้
แต่มาแอบอ่านที่คุณเดหลีตอบเหล่าคนอ่านอยู่นะคะ

เวลาเราอ่านนิยายแต่ละเรื่อง พออ่านเสร็จก็จะมีความคิดเห็นส่วนตัวกันทั้งนั้น
ว่าตัวละครตัวนั้นเป็นอย่างนั้น ตัวละครตัวนี้เป็นอย่างนี้
คนนั้นน่าจะคู่กับคนนี้ คนนี้เป็นพระเอก คนนั้นเป็นนายเอก

แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังเดาไม่ถูกเลย
อ่านตอนแรก คิดว่ารักษิตเป็นนายเอก
พอมีพิธาน ก็คิดว่าพิธานอาจจะเป็นนายเอก
พอมีลภ ก็งงว่าลภจะมีความสำคัญถึงขั้นไหน
พอมีธีรภัทร์ก็คิดว่าคงคู่กับพิธาน แต่จะสมหวังหรือเปล่า?
แล้วพอรักษิตเจอกับธีรภัทร์ ก็ อ้าว...
แล้วมาเจอปมพิธานกับลภ ที่คิดไว้แต่แรกว่าทั้งสองคนน่าจะเมะ แล้วเป็นซะอย่างนี้ ???

พออ่านถึงตอนล่าสุดก็เลยว่าจะรื้อความคิด ตั้งต้นใหม่
เพราะเดาไม่ถูกเลยว่าใครพระเอกนายเอก ใครคู่ใคร
ตอนอ่านรอยรัก จำหลักใจ รอบแรกก็เข้าใจเนื้อเรื่องดี
แต่อ่านรอบสองแล้วจะเข้าใจลึกซึ้งกว่า
แต่สำหรับเรื่องนี้คาดว่าคงต้องอ่านสักสามรอบเป็นอย่างน้อยถึงจะเข้าใจทั้งหมด

ตรงไหนที่มีเรื่องการแพทย์จะอ่านทวนซ้ำๆ
เป็นเรื่องที่ใช้เวลาอ่านในแต่ละตอนนาน รายละเอียดเยอะ
เพราะเป็นเด็กสายศิลป์ โง่วิทย์มาก  :o11:
แต่ชอบค่ะ ได้ความรู้ดี เฝ้ารอคอยคำตอบและบทสรุปต่อไป 

ออฟไลน์ oaw_eang

  • Global Moderator
  • เป็ดHades
  • *
  • กระทู้: 8418
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +2122/-586
ลดศัพท์เทคนิคลงหน่อย  หรือไม่ ก้มีหมายเหตุไว้ข้างล่าง  จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน  ได้กุศลนะคะ

ออฟไลน์ ゚゚ღ✿ศิลินส์✿ღ゚゚

  • เป็ดเด็กช่าง
  • *
  • กระทู้: 247
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +23/-4
อ่านแล้วนึกถึง godhand teru นะเป็นแบบหมอที่ไม่ยอมแพ้ต่อคนไข้ ที่ไม่ว่าคนไข้จะอาการหนักเท่าไหร่ก็ตาม แต่บางทีคนไข้หรือญาติคนไข้ต่างก็ถอดใจไปแล้ว

ไม่ก็ซีรี่ย์เรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น ที่หมอพยายามจะทำทุกอย่างเพื่อให้คนไข้ได้หาย สุดท้ายเขาก็ตาย หมอก็เลยเป็นคนเสียใจมากที่สุดที่เขาจากไป ขนาดที่บรรดาญาติ ๆ ทำใจไว้แล้วเช่นกัน การเป็นหมอนี่บางทีก็รับภาระไว้เยอะนะ

พูดถึงเรื่องหมอแล้วนึกถึง ด็อกเตอร์เฮาส์ ชีวิตจริง ๆ จะมีหมอเกรียน ๆ แบบนั้นหรือเปล่าหว่า  :laugh:

ออฟไลน์ เกลียวคลื่น

  • เป็ดประถม
  • *
  • กระทู้: 84
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +8/-1
หาที่ปักไว้ก่อน  :katai2-1: :katai2-1:

ออฟไลน์ SenzaAmore

  • Where troubles melt like lemon drops....
  • เป็ดHestia
  • *
  • กระทู้: 713
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +79/-0
ช่วงนี้ยุ่งๆค่ะ มาอ่านรวดเดียวเลย555

เหมือนเรื่องนี้จะยังครุมเครือว่าใครเป็นพระเอก  :mew3:

แต่คุณเดหลีแต่งได้บรรยากาศหมอมากๆเลยค่ะ สมจริงดี ชอบๆ รอตอนต่อไปค่ะ :mew1:

ปล...ศัพท์เทคนิคบางคำ อาจจะต้องมีอธิบายให้คนเข้าใจนะคะ เพราะคนที่ไม่ได้เรียนสายนี้อาจจะงง ได้เหมือนกัน^^
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20-06-2014 10:22:54 โดย SenzaAmore »

ออฟไลน์ twenty8

  • เป็ดเด็กช่าง
  • *
  • กระทู้: 285
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +7/-0
คืออ่านๆไปจนต้องอุทานในใจเลยว่า เฮ้ย พี่เค้ารู้ขั้นตอนทางการแพทย์ต่างๆได้ไง
เช่น การผ่าตัด แบบพี่เป็นหมอเอง หรือหาข้อมูล หรือมีคนสนิทเป็นหมอ
ข้อมูลอาการต่างๆ อะไรพวกนี้ทั้งละเอียดและเป๊ะ ถ่ายทอดออกมาได้สุดยอดมากจริงๆ
จนคิดว่าคนที่เขียนแนวหมอนี่ถ้าไม่ได้เป็นหมอหรืออยู่ในวงการแพทย์เอง
จะสามารถเขียนแล้วถ่ายทอดออกมาให้ได้บรรยากาศแบบนี้ได้ยังไง
คือพี่เก่งและสุดยอดมากเลยค่ะ

ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
บทที่ 5

แดดยามเย็นลอดผ่านร่มเงาต้นหูกวางลงมาแต้มพื้นโต๊ะไม้สีน้ำตาลเข้มเป็นดวงๆ นักศึกษาแพทย์สองคนกำลังขะมักเขม้นกับงานตรงหน้า โน้ตบุ๊กเปิดกางอยู่ ส่วนตำราและเอกสารกองระเกะระกะอยู่ด้านข้าง

เวลาก่อนขึ้นเวรอันน้อยนิดเป็นช่วงที่ต้องรีบฉกฉวยไว้ก่อนเพื่อปั่นรายงานที่ต้องส่งหรือตามอ่านหนังสือย้อนหลัง ถ้าใครโชคดีพอว่างกว่านั้นจึงจะได้หาที่งีบสักหน่อยหรือไปหาของกินนอกคณะบ้าง แต่ตอนนี้รักษิตคิดว่าตัวเองไม่อยู่ในข่ายนั้น เพราะพอขึ้นวอร์ดใหม่ เจอคนไข้ใหม่ๆ ก็ต้องเริ่มเรียนรู้กันใหม่ เขากวาดตาอ่านทวนรายงานย่อหน้าสุดท้ายในจอ คิดว่ายังสรุปได้ไม่ค่อยดีนักแต่สมองก็ชักจะล้าแล้ว ยังเหลือเวลาพรุ่งนี้ให้แก้ไขอีกวัน

ญาดาปิดโน้ตบุ๊กลง บ่นว่าชักไม่ไหวแล้วเหมือนกัน หยิบขนมมากินแล้วพูดอย่างเห็นใจเมื่อเพื่อนยังจ้องหน้าจออยู่ไม่เลิก

“สูติฯ ประเด็นเยอะอยู่นะ... ขนาดนิ้งผ่านมาแล้ว ยังไม่คิดว่าตัวเองรู้อะไรเท่าไหร่ วอร์ดอื่นเราก็คิดถึงตัวคนไข้ อาการ โรคที่เขาเป็น แต่ในสูติฯ เหมือนมีสองคนให้ต้องรับผิดชอบเลย นอกจากคนไข้ยังมีลูกในท้องเขาด้วย”

รักษิตพยักหน้า ถอนใจแล้วหยิบหนังสือมาเปิด ถ้าจะเขียนสรุปใหม่ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีก เขาจดที่สำคัญเอาไว้ ได้ยินเสียงคนนั่งตรงข้ามถามต่อ

“แล้ว... ในวอร์ดเองเป็นไง”

รักษิตยิ้มทั้งๆ ยังก้มหน้าก้มตาเขียนอยู่ รู้ว่าเพื่อนจะถามว่าอะไร ความจริงพี่แพทย์ประจำบ้านที่เขาเจอไม่ใช่พี่ที่ญาดาเคยเจอทั้งหมดเมื่อตอนขึ้นวอร์ดนี้ แต่คนถามคงตั้งใจถามเรื่องเพื่อนร่วมวอร์ดเสียมากกว่า เขาเอ่ยตอบ

“เอาเป็นว่า... ช่วยๆ กันทำแล้วกัน”

“ษิต” เสียงเพื่อนชักจะแสดงถึงความ ‘อดรนทนไม่ได้’ “ษิตไม่ได้อยู่วอร์ดกับยายนั่นสองคนนะ นิ้งถามคนอื่น คงได้ยินอีกแบบ”

รักษิตวางปากกา พูดเรื่อยๆ เช่นเดิม “แต่ตอนนี้ นิ้งถามเรา... วอร์ดมันงานเยอะ ก็ช่วยๆ กัน บางที ในตารางมีชื่ออยู่เวรพร้อมกันขึ้นมา คู่เวรก็ต้องช่วยกันก่อนไปขอให้พี่ช่วย”

ญาดาทำเสียงในลำคอคล้ายๆ “ฮึ!” รักษิตหัวเราะ

“เอ ถ้าทัศนีย์เป็นนีน่าแล้ว ญาดา... ญาญ่าไหม? เราพร้อมเรียกนะ”

“พูดเล่นอยู่ได้” ญาดากระฟัดกระเฟียด “เรื่องชื่อน่ะถึงนิ้งจะหมั่นไส้ ก็ยังเป็นเรื่องเล็ก... เอาเถอะ ษิตจะเป็นพ่อพระก็เป็นไป ระวังด้วยแล้วกัน ยุคนี้ คนดีต้องมีเขี้ยวเล็บบ้างนะจ๊ะมันถึงจะอยู่รอดปลอดภัย!"

คนพูดจากไปขึ้นเวรแล้ว แต่รักษิตยังหัวเราะหึๆ กับหลักการ 'คนดีต้องมีเขี้ยว' ของเพื่อน ก้มอ่านหนังสือต่อ จนต้องเงยหน้าขึ้นเพราะเงาที่ทาบลงมา

“ตำรานี่มันมีอะไรขำหรือ” ธีรพัทธ์ถามขึ้นยิ้มๆ เกือบจะทันทีที่ลงนั่งฝั่งตรงข้าม

เขากลับกรุงเทพฯ เพียงวันสองวัน เพราะอาจารย์โทรตามให้ร่วมสัมมนาที่เป็นประเด็นน่าสนใจ พอดีรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกันกำลังจะกลับมาเยี่ยมบ้านเลยได้ติดรถมา หารค่าน้ำมันกันไป ข้างคนขับก็ดีใจเพราะจะได้มีเพื่อนชวนคุยระหว่างทาง แม้ใช้เวลาไม่ถึงสามชั่วโมงดี แต่หากสติสมาธิไม่อยู่กับตัวแวบเดียว อาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้ ยิ่งกับคนที่ทำงานมาเกือบสามสิบหกชั่วโมงโดยแทบไม่ได้นอนด้วยแล้ว

เสร็จสัมมนา คุยกับอาจารย์เรียบร้อย เขาก็เดินลงจากตึก สะดุดตากับนักศึกษาแพทย์ที่นั่งอยู่คนเดียวใต้ต้นหูกวาง ถึงเจ้าตัวจะไม่ได้ยิ้มให้เขาโดยตรง แต่คนเห็นนึกอยากทักเป็นกำลัง ถึงไม่มีเหตุผลอะไรอื่น อย่างน้อย ก็เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องร่วมสายร่วมวอร์ดเดียวกันมาอยู่ก่อน

รักษิตวางปากกาหนังสือ ทักเขาตอบอย่างดีใจ ถามไถ่เรื่องการเดินทางเรื่องทั่วไปกันอยู่พัก ธีรพัทธ์สังเกตเห็นตำราที่วางกองว่ามาจากภาควิชาใด จึงกระเซ้าออกไป

“ขึ้นวอร์ดใหม่แล้ว คิดถึงเมดบ้างหรือเปล่า...”

ชะงักไปนิดเมื่อรุ่นน้องตอบมาอย่างจริงจัง “คิดครับ ต้องคิด...”

ธีรพัทธ์เลิกคิ้วเป็นเชิงถาม ยังยิ้มอยู่ ก่อนเจ้าตัวจะขยายความ

“... คนไข้ที่ผมรับมีคอนดิชั่นทางเมดด้วยทั้งนั้น เป็นเบาหวาน... อีกคนก็ความดัน ไธรอยด์ก็มี ต้องดูละเอียดเลย”

... คิดถึงเพราะคนไข้มีภาวะทางอายุรกรรมนี่เอง ธีรพัทธ์อดขำกับคำตอบพาซื่อนั้นไม่ได้ พอดีกับรักษิตรวบหนังสือเอกสาร โน้ตบุ๊กใส่กระเป๋า เอ่ยลาเขาว่าต้องกลับขึ้นตึกแล้ว เย็นนี้ พี่นัดสายเล็กน้อย

ธีรพัทธ์พยักหน้ายิ้ม มองรุ่นน้องคล้อยหลังไปหน่อยก่อนจะนึกอะไรได้จึงเรียกไว้ “ค่ำๆ นัดกินข้าวกับพวกในวอร์ด น้องไปด้วยกันซี ไม่มีเวรใช่ไหม”

รักษิตสั่นศีรษะ ถามเขาอย่างลังเล “จะไม่แปลกหรือครับ ผมไม่ค่อยรู้จักใคร”

“พี่ชวนอยู่นี่ไง” เขาว่าพลางหัวเราะ “รู้จักพี่ไม่ใช่หรือ ไปเถอะ เห็นหน้ากันแล้วทั้งนั้น มีเอ็กซ์เทิร์นในสายเราด้วย”

รุ่นน้องรับคำ นัดแนะเวลากันเรียบร้อย ธีรพัทธ์จึงลุกขึ้นจากโต๊ะไม้ใต้ต้นหูกวางบ้าง


มื้อนั้นผ่านไปอย่างสนุกสนานเฮฮาดี มีพี่แพทย์ประจำบ้านบางคนที่รักษิตไม่เคยพบ แต่ก็ได้โอกาสทำความรู้จักคุ้นเคยกัน ขากลับบางคนแยกย้ายจากที่ร้าน ส่วนธีรพัทธ์กับรักษิตเดินผ่านเข้ามหาวิทยาลัยมาส่งเอ็กซ์เทิร์นผู้หญิงที่หอ เพราะทางเดินนั้นเปลี่ยวอยู่บ้าง

ยิ่งพอพ้นจากหอหญิงไปทางหอชาย จะมีร่มไม้มืดครึ้มตลอดแนว แม้ตามไฟไว้ก็ยังสลัวราง เงาวูบไหวจากกิ่งก้านเบื้องบนทาบพื้นข้างล่างเป็นรูปร่างประหลาดซับซ้อน เคลื่อนไหวไปตามแรงลม

ทั้งสองคนหันมองหน้าก่อนจะหัวเราะอย่างเข้าใจกันดี ทางตรงนี้แหละที่เลื่องลือว่ามักจะเกิดเรื่องเหนือธรรมชาติ จนนักศึกษาแพทย์บางคนที่เชื่อถือเรื่องแบบนี้ถึงกับต้องไหว้ก่อนเดินผ่าน ไม่ก็ชักชวนเพื่อนมากลับหอกันเป็นกลุ่มทีเดียว

รักษิตนึกถึงเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ศิวัชเพิ่งจะมีทฤษฎีว่า ผีจะเลือกหลอกตอนหัวค่ำมากกว่า ถ้าเฉพาะกับตรงนี้น่ะ

‘... พวกกลับหอก่อนแสดงว่าไม่มีเวร หลอกไปยังพอมีแรงตกใจบ้าง ถ้ามาหลอกพวกลงเวร เดินกลับตอนเที่ยงคืนตีหนึ่งนะ... หลอกไปก็เสียเวลาเปล่า แทบจะเป็นซอมบี้กันอยู่แล้วแต่ละคน ไม่มีสติมาสนใจอะไรหรอก’

เขาบอกรุ่นพี่ ยังว่าปีหนึ่งมีการมาทดสอบความกล้าตรงนี้ด้วย จับมือเดินกันเป็นหาง แถวห้ามขาด

“อ้อ สมัยพี่นะ...” ธีรพัทธ์เริ่ม แล้วชักคิดว่าพูดอย่างนั้นดูชราชอบกลเลยหยุด จำได้ว่าเมื่อตอนตัวเองอยู่ปีสี่ ได้ยินพี่ๆ หรืออาจารย์พูดว่า 'สมัยพี่...' แล้วยังคิดว่าแก่

เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ...

“สมัยพี่ทำไมครับ?” รุ่นน้องเห็นเขาทิ้งไว้แค่นั้นยังอุตส่าห์ซักต่อ ทั้งคู่เดินเคียงกันไปช้าๆ ไม่รีบร้อน ลมกลางคืนพัดโชยมา เกิดเสียงเสียดสีของกิ่งไม้ใบไม้เป็นระยะ

“สมัยพี่... ซึ่งก็... ไม่ค่อยนานหรอกนะ” เขาเล่า หัวเราะเบาๆ “สารพัดอุบายจะคิดมาดักแกล้งเพื่อน แต่มีคนหนึ่ง ไม่กลัวอะไรเลย ประสาทแข็งจริงๆ จนพวกที่แกล้งไปปะโดนอาจารย์เข้า ถูกด่าเสียเปิง หลังจากนั้นเลยต้องเพลาๆ ลง”

รุ่นน้องกลับถามว่า “เพื่อนพี่พัทธ์คนนี้ คนเดียวกับที่เคยพูดถึงเมื่อวันนั้นที่นอกวอร์ด...”

“อืม... เพื่อนเรียนมาด้วยกันน่ะ ตอนนี้มาเรียนต่อที่นี่”

รักษิตพยักหน้า เป็นความรู้สึกที่ออกจะรับรู้ได้เมื่ออีกฝ่ายพูดถึงเพื่อนร่วมรุ่นคนนี้ ซึ่งแฝงความชื่นชมและเชื่อถือเอาไว้แจ่มชัด

เมื่อเดินถึงช่วงที่มืดที่สุด อยู่ๆ รุ่นพี่ก็ถามเขาว่า “แล้วน้องล่ะ กลัวไหม”

รักษิตนิ่งไปนาน ก่อนตอบว่า “ถ้าถามว่ากลัวความมืดไหม ผมก็ตอบได้ว่าไม่กลัว แต่ถ้าถามว่ากลัวสิ่งที่กลัวกันว่าจะอยู่ในความมืดหรือเปล่า...”

เขาคิดถึงตอนเรียนมหกายวิภาคเมื่อปีสอง เป็นเรื่องแปลกที่นักศึกษาแพทย์มักจะมีสติอยู่กับตัวเป็นอย่างดีเมื่อลงมือศึกษาร่างแต่ละส่วนของอาจารย์ใหญ่ผู้บริจาคร่างเป็นวิทยาทาน ในห้องเรียนที่เปิดไฟฟ้าสว่างและมีเพื่อนๆ แวดล้อมหลายคน ต่อเมื่อจะต้องขึ้นไปคนเดียว บางคนก็เกิดจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ไม่กล้าเสี่ยงกับอะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเคารพท่านผู้มีคุณปการต่อการศึกษาเหล่านั้นแต่อย่างใด

เขาจำได้ว่า มีพี่เอ็กซ์เทิร์นคนหนึ่งมักจะมาช่วยอาจารย์ในบางคาบ สอนน้องใช้เครื่องมือ เลาะ แยก... สอนน้องเก็บแต่ละส่วน จนวันทำบุญใหญ่เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนวิชานี้ ทั้งนักศึกษาแพทย์และอาจารย์ต่างเข้าร่วมพิธี รวมทั้งญาติๆ ที่คณะเชิญมาด้วย เขาก็เห็นพี่เอ็กซ์เทิร์นคนนี้อยู่ในกลุ่มนั้น

พี่บอกเมื่อเห็นเขา ‘พ่อเป็นครู ตายไปก็ยังอยากเป็นครู...’

เขายังจำพี่เอ็กซ์เทิร์นคนนั้นได้ดี ทั้งๆ ที่พบเธอเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันทำบุญใหญ่ ป่านนี้ คงกำลังใช้ทุนอยู่ที่ใดที่หนึ่ง

รักษิตพูดช้าๆ “ผมก็คงตอบพี่พัทธ์ว่า ไม่รู้... เพราะผมยังไม่เคยเจอ แต่คิดว่า ถ้าตอนเป็น เป็นคนที่เรารู้จัก เคยรักเคยผูกพัน ตอนตาย ก็ยังเหมือนกัน ไม่น่ากลัว...”

ธีรพัทธ์หันไปมองรุ่นน้อง มองอยู่นิ่งๆ อีกฝ่ายคงไม่รู้ตัว เพราะทอดสายตาไกลไปข้างหน้า เมื่อแรกที่เจอ เขาคิดว่ารักษิตควรเป็นเด็กธรรมดาอย่างที่นักศึกษาแพทย์ปีสี่เป็น แต่ยิ่งรู้จัก ก็ยิ่งรู้สึกว่า รุ่นน้องมีเรื่องอยู่ในใจเยอะกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน

ถ้าได้ค่อยๆ พูดออกมาบ้าง ก็คงจะดี...

แต่สิทธิจะเล่าหรือไม่เล่าก็เป็นของรุ่นน้อง สิทธิของรุ่นพี่อย่างเขานั้นไม่ได้รวมถึงการขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว ดังนั้นธีรพัทธ์จึงเปลี่ยนเรื่องอย่างจะให้บรรยากาศที่ดูหนักขึ้น... ผ่อนคลายลง

“เออว่าแต่... พี่สงสัยตั้งนานแล้ว ชื่อรัก-ษิตนี่แปลก เพราะ แต่ไม่ค่อยเคยเห็น แปลว่าอะไร...”

“รักษิต แปลว่า ได้รับการคุ้มครอง” รุ่นน้องตอบ นิ่งไปอีกนิดก่อนบอก “ผมอยากให้กลับกันมากกว่า บางที...”

ทั้งคู่เดินมาถึงหน้าหอพักนักศึกษาแพทย์ชายแล้ว ธีรพัทธ์โบกมือให้เมื่อแยกกัน รุ่นน้องยิ้มตอบแม้จะยังมีสีหน้าครุ่นคิดถึงบางเรื่องที่เขาไม่รู้ได้ เมื่อรักษิตหันหลังเดินขึ้นบันไดไปแล้ว เขาก็ยังคงยืนมองอยู่ที่เดิม จึงได้เห็นว่ารอยยิ้มนั้นคลี่ระบายกว้างขึ้นเมื่ออีกฝ่ายหยุดเพื่อหยิบโทรศัพท์ที่ดังขึ้นมาดู ก่อนจะกดรับและหายเข้าตึกไป

ธีรพัทธ์ยังคิดถึงเรื่องนี้อยู่ แม้เมื่อเดินออกมาพ้นรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว


“พี่ลภ ษิตเพิ่งเห็น“ ได้ยินเสียงเอ่ยอย่างขอโทษขอโพยแทบจะทันทีที่รับสาย

“ไม่เป็นไร... พี่แค่โทรมาถามข่าวคราวน่ะ ระยะหลังไม่เจอกันที่บ้าน เป็นห่วงว่าจะเป็นไงบ้าง”

“อ้อ...” รักษิตเดินขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ ห้องเขาเองนั้นอยู่ชั้นสี่ ส่วนในลิฟต์ไม่ค่อยมีสัญญาณ “ขอบคุณครับ ทุกอย่างเรียบร้อยดี ตอนนี้อยู่สูติฯ ก็โอเค ปั่นรายงานเยอะเหมือนเดิม พอดี พี่พัทธ์... ธีรพัทธ์ที่เป็นพี่เดนท์ของษิตตอนอยู่เมดน่ะ เขากลับมา เลยไปกินข้าวกันกับรุ่นพี่หลายคน ร้านเสียงดังไม่ค่อยได้ยินเสียงโทรศัพท์...”

ปลายสายไม่ได้ตอบ รักษิตจึงพูดต่อ

“วันนั้นเห็นพี่ลภรีบเลยไม่ได้เล่าอะไรเยอะ แต่พี่พัทธ์นี่แหละที่ษิตเคยบอกพี่ลภว่า ได้คุยตอนษิตมีเคสที่คนไข้ไปกะทันหัน เขายังว่าเพื่อนเขาก็มีเคสคล้ายๆ กัน เกือบแย่เหมือนกัน แต่ตอนเช้าก็มาทำงานเหมือนเดิม...”

รักษิตเล่าย้อนถึงวันนั้นถี่ถ้วนแล้วจึงสรุป “พี่พัทธ์คงต้องรักแล้วก็ชื่นชมเพื่อนคนนี้พอสมควรเลย พูดถึงอยู่บ่อยๆ”

“คง... ใช่” ปลายสายตอบเพียงนั้น

แต่ทำไมเขาจะไม่รู้ว่า เพื่อนคนที่ถูกพูดถึงคือใคร หมอชื่อธีรพัทธ์อาจจะไม่ได้มีคนเดียว แต่ธีรพัทธ์ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่างนี้...

“พี่ลภ ยังอยู่เปล่า”

“อืม... งั้นษิตไปทำรายงานต่อเถอะ จะได้รีบนอน”

“โห คืนนี้คงไม่ไหว เดี๋ยวพรุ่งนี้ตื่นเช้าแล้วมาทวนอีกรอบดีกว่า” รักษิตว่า “โอเค... แล้วเจอกันครับ”

วางหูแล้วเขาจึงได้เปิดประตูเข้าห้อง รูมเมตยังไม่กลับทั้งคู่ อาจจะมีเวรหรือออกไปหาอะไรกินข้างนอกเหมือนกัน รักษิตทิ้งตัวลงบนเตียง หวนคิดถึงตอนเดินกลับหอ ด้วยบรรยากาศหรืออะไรก็ตาม ไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรแปลกๆ ออกไปบ้างหรือเปล่า

... หวังว่ารุ่นพี่จะไม่คิดว่าเขาแปลกมากแล้วกัน


เปิดเทอมใหม่ จากปีสี่ ก็เลื่อนเป็นนักศึกษาแพทย์ปีห้า... มีรุ่นน้องในชั้นคลินิกของตัวเอง พักกลางวันแล้วรักษิตรีบเดินไปโรงอาหาร วันนี้นัดเพื่อนกันไว้ ขาดเพียงคนเดียวคือเกตุวดี เขาหยุดพูดกับปีสี่ที่เอ่ยทัก ตอนแรกก็รู้สึกไม่คุ้นนิดหน่อยที่มีน้องมาคุยเรื่องคนไข้ด้วย จากเมื่อปีก่อนที่ยังรู้สึกว่าทำอะไรได้น้อยและต้องมองหาพี่เพื่อถาม... แต่ตอนนี้เขาเองก็เป็นพี่แล้วเหมือนกัน

ส่วนในวอร์ด ทั้งเอ็กซ์เทิร์นและพี่แพทย์ประจำบ้านต่างคาดหวังว่าปีห้าต้องรู้และช่วยงานได้มากเป็นเท่าตัว ซึ่งทำให้รู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุดหย่อนเหมือนเดิม ทั้งเรื่องเรียน ปีห้ายังเจอคนไข้ที่มีภาวะฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นด้วย

เมื่อถึงโต๊ะก็พบว่าศิวัชและญาดารออยู่ก่อนแล้ว ได้ยินเสียงศิวัชแว่วๆ

“เออ ดวงเอ้อ้วนตอนขึ้นชั้นคลินิกนี่เป็นไง ซวยแต่ต้น ซวยแต่ปีสี่ยันปีห้า”

“เริ่มซวยตั้งแต่ได้หนังสือจากพี่รหัสแล้ว” ญาดาบอก “มีอย่างที่ไหน สายอื่นเขาก็เขียนอวยพรต่อๆ กันมาให้น้องจบไปดีๆ สายเอ้อ้วนคัดโองการแช่งน้องตั้งแต่หน้าแรกจ้า แรงไหมล่ะ”

“เป็นยังไงนิ้ง” รักษิตลงนั่งแล้วถาม “เคยได้ยินแต่โองการแช่งน้ำ”

“คล้ายกันแหละ เปลี่ยนเป้าหมาย” เพื่อนตอบ “นิ้งเห็นนั่งหน้าตาพะอืดพะอมเมื่อวาน เลยเข้าไปถาม ปกติไม่เคยกินข้าวไม่ลงนี่... เอ้อ้วนก็ยังพูดไม่ออกอยู่ดีนั่นแหละ ชี้ให้ดูหนังสือ เปิดหน้าแรก เจอเลย ถ้าทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ตั้งใจ ก็อย่าจบ! จงตกในสามวัน อย่าอ่านทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี! แช่งเผื่อไปล่วงหน้าโน่น สงสารน้องสาย ฝ่อหมด”

รักษิตพอใจชื้นอยู่หน่อยที่สายของเขาไม่เคร่งเครียดกันถึงขนาดนั้น จะออกแนวธรรมะธรรมโมมากกว่า เขียนโน้ตต่อมาให้ว่า ‘การขึ้นเวรคือการชดใช้เวร (กรรม) จงทำบุญอย่างสม่ำเสมอจะได้ผ่อนหนักเป็นเบา ทั้งกับเราและคนไข้’

ศิวัชพูดต่อ “สายเอ้อ้วนสายเกียรตินิยม เกรดมาหลุมดำตรงมันนี่แหละ เอาน่ะ รุ่นพี่ก็ไม่เห็นเป็นไปตามคำแช่ง จบกันออกไปได้ทุกคน คนที่ต้องห่วงน่ะคือพวกปีห้าที่อยู่สายเดียวกันมากกว่า เอ้อ้วนมันดวงมหาเยิน... เรียกคนไข้หนักตลอด”

รักษิตเปิดคู่มือ พลิกไปภาคผนวก ซึ่งเขายังไม่ทันได้มีเวลาดูชื่อเพื่อนร่วมสายอย่างละเอียด และพบชื่อของนักศึกษาแพทย์อนันต์เกือบจะทันที เป็นอันว่าศิวัชหลุดรอดจากการขึ้นวอร์ดเดียวกับรูมเมตในปีนี้ และท่าทางว่าดวงเยินนั้นจะโอนมาทางเขาแทน ส่วนญาดาก็ชะโงกมาดูเหมือนกัน แต่ด้วยจุดประสงค์ต่างจากเขา เพราะเจ้าตัวจิ้มชื่อที่อยู่เหนือขึ้นไป บอก

“แหมษิตนี่ละก็ ดวงคู่สร้างคู่สมกับยายเง็กจริงๆ ปีห้ายังอยู่ด้วยกันอีก”

รักษิตยิ้มจืด

เอาเข้าจริงเขาก็ไม่เคยคาดหวังงานเบาอยู่แล้วตั้งแต่เลือกเข้าคณะนี้...


ในห้องพักแพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ หน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือดที่อาจารย์ส่วนหนึ่งใช้ร่วมกับเฟลโลว์หรือแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขานี้นั้น หมอที่มีตารางปฏิบัติงานต่างเดินเข้าๆ ออกๆ บ้างก็ชงกาแฟดื่มก่อนถึงเวลาต้องเข้าผ่าตัด บ้างก็แวะหาอะไรใส่ท้องก่อนลงไปคลินิกโรคเฉพาะทางในตอนบ่าย แต่วันนี้ที่ต่างออกไปคือไม่ว่าใครก็ใครจะต้องทักสมาชิกใหม่ของหน่วยที่กำลังอ่านวารสารทางการแพทย์อยู่มุมโต๊ะด้านใน และทุกครั้งลภก็จะวางหนังสือ ก้มศีรษะหรือยกมือไหว้พร้อมกับตอบคำถามตามแต่วาระ

เสียงเอ่ยทักทายอย่างเป็นกันเองทำให้บรรยากาศที่เคยคุ้นสมัยเรียนเฉพาะทางกลับมาอีกครั้ง ลภรู้สึกว่า เขาอยู่ในที่... ที่เป็นของตัวเองอย่างแท้จริง ถึงจะละภาระความรับผิดชอบอีกด้านหนึ่งที่บริษัทไปไม่ได้หมด แต่ก็ยังดีที่เขาทำงานในโรงพยาบาลได้เต็มที่เต็มเวลากว่าแต่ก่อน

อาจารย์ท่านหนึ่งเดินถือถ้วยกาแฟมานั่งลงข้างเขา เอ่ยขึ้นว่า “ยินดีต้อนรับหมอ... ตอนหมอมาสัมภาษณ์ผมไม่อยู่ นึกว่าจะไปทรอม่าเสียแล้ว”

อาจารย์หมายถึงหน่วยศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ยังจำได้ว่าลูกศิษย์เคยแสดงความสนใจเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ตอนเรียนศัลยศาสตร์ทั่วไป ลภพยักหน้า ตอบตามตรง 

“ความจริงตอนแรกผมก็ลังเลอยู่ครับ... แต่อยากลงละเอียดด้านนี้มากกว่า”

“มาวาสน่ะดีแล้วหมอ” อาจารย์ที่นั่งอยู่ใกล้กันเสริมขึ้น ‘วาส’ ย่อจากวาสคูลาร์ ที่แปลว่าเกี่ยวกับหลอดเลือดอันเป็นชื่อหน่วยศัลยศาสตร์ย่อยนี้นั่นเอง “ตอนนี้คนเป็นโรคหลอดเลือดกันเยอะ ทั้งเคสทั้งวิธีใหม่ๆ มีให้ได้ศึกษากันอีกมาก... ทรอม่าเขาต้องทำได้กว้างๆ ไว้ก่อน ถ้ายังไงเราก็ยังไปช่วยเขาได้”

นอกจากโรคที่จะเกิดได้กับหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง และระบบไหลเวียนน้ำเหลืองแล้ว ยังมีคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุซึ่งเส้นเลือดอาจได้รับบาดเจ็บเสียหาย บางกรณี กระดูกที่หักกดทับหลอดเลือดเอาไว้ จนอวัยวะส่วนนั้นขาดเลือดไปเลี้ยง ยิ่งทิ้งไว้นานก็ยิ่งอันตราย

แต่ถ้าเจอศัลยแพทย์เฉพาะทางหลอดเลือดเร็ว โอกาสที่ถึงกับต้องตัดอวัยวะจะน้อยลงมาก

“ความจริงผมยังคิด เผื่อหมอจะเปลี่ยนใจ กลับเข้ามาในราชการ” อาจารย์ท่านแรกเอ่ยขึ้นอีก ใช้ช้อนคนกาแฟก่อนจะวางลง “เสียดายคนเก่งๆ สมองไหลไปเอกชนหมด”

“เฮ่ย... พูดว่ากลับเข้ามาก็ไม่ถูก หมอลภไม่เคยอยู่ในราชการอยู่แล้ว” อาจารย์อีกท่านท้วงรุ่นน้อง จนคนพูดต้องรับ

“จริง เกือบลืม ก่อนเทรนศัลย์หมอไม่ได้จบในนี้ จบแล้วก็ไม่ต้องกลับไปใช้ทุน เห็นว่าทำงานบริษัทเครื่องมือแพทย์อยู่ด้วยใช่ไหม ดีที่ยังไม่เลิกแพรคทิซ กลับมาเรียนใหม่ก็ไม่ลำบากมาก... เอาเถอะ จะอยู่ที่ไหนก็ถือว่าช่วยกันรักษาคนไข้แล้วกัน”

“เงื่อนไขชีวิตคนเรามันต่างกันนี่ จริงไหมลภ” อาจารย์ตบบ่าเขาก่อนจะเดินออกไป ส่วนลูกศิษย์ถอนใจยาว

อาจารย์พูดถูก ภาระบางอย่างสลัดหลุดไปได้ยากจนกว่าจะถึงเวลาสมควร โดยเฉพาะ... เมื่อกำหนดจากเงื่อนไขในชีวิตของเขา

เฟลโลว์ปีสองเดินเข้ามา ปีนี้ปรากฎว่าเฟลโลว์ปีหนึ่งที่ควรจะเข้าพร้อมกับเขาสละสิทธิ์ด้วยสาเหตุบางอย่าง จึงเหลือลภเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีหนึ่งอยู่เพียงคนเดียว เมื่อเห็นเขารุ่นพี่ก็ถาม

“ตอนบ่ายผ่าอะไรน้อง”

“มีช่วยอาจารย์...” เขาเอ่ยชื่ออาจารย์จากหน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือดคนหนึ่งที่ไม่อยู่ในห้องนี้ก่อนบอกชื่อกระบวนการแล้วเสริม “ทำกับภาคอื่นน่ะครับ”

“อย่างลภ ช่วยรอบเดียว ครั้งหน้าก็ทำเองได้แล้ว ใช่ไหมคะอาจารย์” เฟลโลว์ว่าพลางยิ้ม ส่วนอาจารย์หัวเราะพร้อมกับพยักหน้า

ลภยิ้มจาง ฝีมือในการผ่าตัดของเขาที่ได้รับการยอมรับอาจเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความภูมิใจให้เกิดขึ้นได้ แต่เขาก็ไม่อยากให้คุณสมบัตินั้นเป็นสิ่งเดียวที่นิยามตัวตนอยู่ดี

เพราะไม่ต้องการจะเป็นศัลยแพทย์ที่ไม่มีแง่มุมอื่นในชีวิต นอกจากผ่าตัดเก่งเท่านั้น


พิธานกำลังเตรียมตัวเข้าช่วยอาจารย์จากภาคตัวเองผ่าตัดยึดตรึงกระดูกสันหลังในตอนบ่าย พอเจอหน้ากันในห้องชั้นในก่อนจะเข้าห้องผ่าตัด อาจารย์ก็ทัก

“อ้าว วันนี้ไม่ใช่เกี้ยวหรือ”

“พี่เขาให้ผมแทนครับ” พิธานตอบ ถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใดกรองพร ซึ่งเป็นแพทย์ประจำบ้านปีสี่และพ่วงตำแหน่งหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน อันหมายความว่าเป็นหนึ่งในผู้จัดเวรรุ่นน้องที่จะเข้าผ่าตัด ถึงได้ผิดวิสัยขอแลกตารางกับเขาอย่างปัจจุบันทันด่วน

อาจารย์พยักหน้ารับรู้ บอกว่า “วาสเขาเริ่มก่อนนะ แล้วเราต่อ สตาฟกับเฟลโลว์มาแล้ว”

เนื่องจากการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกสันหลังแบบผ่าเข้าไปจากข้างหน้านั้น จะต้องพบกับหลอดเลือดขนาดใหญ่ข้างบนสันหลัง ดังนั้นหลายครั้งศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์จึงผ่าตัดร่วมกับศัลยแพทย์หลอดเลือด เพื่อให้ช่วยย้ายหลอดเลือดเหล่านี้ไปข้างๆ แล้วจึงค่อยนำดิสก์ หรือหมอนกระดูกสันหลังที่เสื่อมออกเพื่อแทนที่ด้วยวัสดุแทนหมอนรองกระดูกสันหลังต่อไป

พิธานเดินตามอาจารย์เข้าไปในห้องผ่าตัด แพทย์จากหน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือดรออยู่ก่อนแล้ว ทุกคนใส่หน้ากากและชุดเตรียมผ่าตัดพร้อม อาจารย์บอกขั้นตอนกระบวนการที่จะทำ การผ่าตัดเริ่มต้นขึ้นโดยศัลยศาสตร์หลอดเลือดเป็นผู้ลงมีด

พิธานมองมือและนิ้วที่ห่อหุ้มด้วยถุงมือยางสีขาวเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วด้วยความรู้สึกคุ้นเคยอย่างประหลาด อันที่จริงเขาเคยดูอาจารย์และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดจากหน่วยต่างๆ ผ่าตัดมาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แต่คนนี้ คนนี้...

ทางออร์โธปิดิกส์กำลังจะเข้าไปรับช่วงต่อจากศัลยศาสตร์ที่ช่วยย้ายหลอดเลือดแล้ว เขาไล่สายตาจากท่อนแขน หัวไหล่ที่ปกคลุมด้วยชุดผ่าตัดผ้าหนาสีเขียวเข้ม ไปจนถึงใบหน้าที่ครึ่งล่างอยู่ภายใต้หน้ากาก

ตอนนั้นเองที่เฟลโลว์จากศัลยศาสตร์หลอดเลือดคนนั้นละมือออกไป และเงยหน้าขึ้นสบตาเขา

พิธานก้าวถอยหลังไปก้าวหนึ่ง พร้อมกับหัวใจที่กระตุกอย่างรุนแรง อาจารย์เหลือบมองพลางพยักหน้าให้เข้าประจำที่ เขาสูดหายใจลึก ไม่เคยยอมให้ตัวเองเข้าผ่าตัดโดยที่สมาธิไม่แน่วแน่เพียงพอ ทุกครั้งที่จับเครื่องมือ จิตใจจะอยู่ใน ‘โซน’ ที่จดจ่อกับกระบวนการและคนไข้ตรงหน้าเท่านั้น

แต่ครั้งนี้ ก่อนเข้าไปใน ‘โซน’ เขายังรู้สึกได้ว่า เฟลโลว์คนนั้นยังคงมองอยู่ นิ่ง นาน แล้วจึงออกไปจากห้อง


การผ่าตัดสำเร็จไปด้วยดี ห้าโมงเย็นแล้วเมื่อพิธานเสร็จจากการตรวจความเรียบร้อยทุกอย่าง และเดินออกมาพบกับเฟลโลว์คนเดิมที่ข้างหน้า

ใช่... เขาแทนที่ช่องว่างในความทรงจำตอนนี้ว่าเฟลโลว์ ก่อนหน้านั้นก็คงจะแทนว่าหมอ อีกฝ่ายเป็นหมอคนหนึ่ง เพราะยังไม่ยินยอมให้สถานะอื่นแทรกตัวเข้ามา แต่เมื่อได้ยินเสียงเรียกชื่อ ทำนบแห่งห้วงคำนึงก็ทลายลง

ภาพที่เขาหันไปพบนั้นทับซ้อนกับเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เขายังอยู่ปีห้า และเสียงแซ่ที่ทั้งเพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้องโจษกัน ก็ดูราวจะล่องลอยมาเข้าหูอีกครั้ง

‘เรสิเดนท์ศัลย์เข้าใหม่ พี่ลภน่ะ...’

‘จบโรงเรียนแพทย์ ระดับท็อปของอเมริกาเชียว เห็นว่าได้เทรนศัลย์ต่อที่โน่น เข้าปีหนึ่งไปแล้วด้วย’

‘อ้าว เข้าได้แล้วทำไมออกมาเทรนใหม่ที่นี่ล่ะ’

‘ไม่รู้สิ... ไม่มีใครรู้เหมือนกันว่าเขากลับมาทำไม’


นั่นสิ... กลับมาทำไม ทั้งตอนนั้น แล้วก็ตอนนี้...

พิธานหันกลับไปเผชิญหน้า พยายามไม่สนใจอะไรทั้งสิ้นนอกจากสิ่งที่ตัวเองตั้งใจจะพูด เขากดเสียงต่ำ

“คุณทำแบบนี้ นึกจะไปก็ไป จู่ๆ ก็กลับเข้ามาอีก...”

โรงเรียนแพทย์ในไทย เรียกพี่ เรียกน้อง เป็นระบบพี่สอนน้อง ลภเคยคิดว่า... เป็นธรรมเนียมที่น่ารัก เขาเรียนผ่านมาในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก สรรพนามที่ใช้แทนตัวผู้พูดและคู่สนทนาเหมือนกันไปหมดไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่... คนไข้ควรต้องไว้ใจหมอ คนเรียนต้องไว้ใจคนสอน... นับว่าสร้างความคุ้นเคยกันแต่แรกพบ เพราะเรามักจะไว้ใจญาติมากกว่าคนแปลกหน้า

ไม่รู้ตัวว่าคุ้นชินแค่ไหนกับการเรียกแบบนั้น โดยเฉพาะจากคนที่กำลังมองเขาราวคนไม่รู้จักกันอยู่... จนเมื่อได้ยินสรรพนามแตกต่างไป... เพิ่มระยะความห่างเหิน ใจเขาก็เจ็บหน่วงอย่างบอกไม่ถูก

“ถ้าเกิดผม...”

พิธานหยุด ไม่มีทางที่จะพูดออกไป ถ้าความไม่คาดคิดนั้นกระทบใจเขามากพอ... ทั้งยังเกิดก่อนจะเข้าผ่าตัด เพราะเท่ากับยอมรับว่า การปรากฎตัวขึ้นอีกครั้งของคนตรงหน้าส่งผลกับจิตใจตัวเองอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ลภก็เอ่ยราวรู้ว่าเขากำลังคิดอะไร

“ธานไม่มีทางยอมให้ตัวเองเข้าผ่าตัดถ้าทุกอย่างไม่เต็มร้อย ถ้าไม่โอเค ก็คงออกมาแล้ว เพราะธานไม่มีทางยอมเอาชีวิตคนไข้ไปเสี่ยง”

“อย่าพูดเหมือนรู้จักผมดีเลย” เป็นคำตอบราบเรียบ “ถ้าเลือกได้...”

ถ้าเลือกได้... อะไร? พิธานอาจจะหมายความว่าไม่อยากเข้าผ่าตัดกับเขา ไม่อยากทำงานร่วมกับเขา แต่วงการแพทย์นั้นไม่ได้กว้างใหญ่ไพศาล ยิ่งเมื่อเรียนอยู่ที่เดียวกันแบบนี้ด้วยแล้ว ถ้าเป็นเรื่องที่จะกระทบกระเทือนถึงคนไข้ แม้หมอไม่ชอบหน้ากัน ด้วยจรรยาแพทย์ถ้าจำเป็นต้องปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือก็ต้องทำ

หรืออาจจะเป็นเรื่องอื่น... เรื่องหลังระหว่างกัน ที่จนป่านนี้ ลภก็ยังไม่คิดว่าตัวเองเข้าใจต้นสายปลายเหตุดี

"ทำไม" บางทีเขาก็อยากจะ 'รวน' กลับไปบ้าง ความเจ็บปวดและไม่เข้าใจที่ฝังรากลึกอยู่เนิ่นนานเป็นแรงผลักดันคำพูด "พี่ยังไม่เห็นว่าอะไรคือปัญหา... หรือต้องเป็นหมอเมด ถึงจะยินดีให้ความร่วมมือ"

พิธานมองหน้าเขา และลภก็นึกเสียใจที่หลุดปากออกไปเช่นนั้น

เขามองตามร่างที่หันหลังจากไปโดยไม่พูดอะไรอีกแม้สักคำ ถอนใจเฮือก ก่อนทิ้งตัวพิงผนัง คลึงนิ้วโป้งลงหว่างคิ้ว

ทำไม... ถึงได้กลายเป็นแบบนี้ไปได้...


ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
คุณ malula ขอบคุณมากสำหรับการอ่านค่ะ นั่นสิ ต้องมีที่ปรึกษาเนอะ

คุณ iforgive ฝากอ่านต่อนะคะ เราจะต้องคลี่คลายกันไป

คุณ lizzii เดาคู่กันต่อไปก็ได้น้า 55 ฝากอ่านต่อด้วยค่า

คุณ ArgèntaR๛ ขอบคุณมากสำหรับการอ่านค่ะ อ่านไปเรื่อยๆ ก็ได้ค่ะ นั่นสิ ษิต... เอี่ยวแน่ๆ แต่ตัวษิตเองก็อาจจะมีชามมาม่าเหมือนกันนะ อิอิ

คุณ Sillyfoolstupid ขอบคุณมากสำหรับการอ่านค่ะ เรื่องนี้ลองอ่านเหมือนมันเป็นซีรีย์ก็ได้นะ แบบว่ามีตัวละครหลัก แต่ละคนก็มีเส้นเรื่องของตัวเอง แล้วก็มาพัวพันกัน 55 ฝากอ่านต่อด้วยนะคะ

คุณ oaw_eang ในเนื้อเรื่องจะมีอธิบายแทรกไว้เลยค่ะ แบบว่าจะไม่ให้มีคำไหนที่จู่ๆ ใช้โดยไม่อธิบาย แต่ก็ไม่อยากให้ต้องเลื่อนมาหาอภิธานศัพท์ข้างล่างอีก จะระวังมากขึ้นในบทต่อๆ ไปนะคะ

คุณ ゚゚ღ✿ศิลินส์✿ღ゚゚ หมอจริงๆ หลายคนก็เป็นแบบนี้นะ แต่จะให้หายทุกคนก็ไม่ได้ หมอก็มีหลากหลายนิสัยอยู่ค่ะ เหมือนคนในวงการอื่นๆ 55 แต่เกรียนมากขนาดเฮาส์นี่ไม่เก่งเทพจริงๆ (อีโก้จะเยอะด้วย) ก็ต้องหาหมอวิลสันเป็นของตัวเองซักคน อิอิ

คุณเกลียวคลื่น ขอบคุณที่แวะเข้ามาค่ะ แล้วแวะเข้ามาอ่านอีกนะ

คุณ SenzaAmore แวะมาอ่านก็ดีใจแล้วค่ะ เรื่องศัพท์เทคนิคถ้าใช้จะพยายามให้มีคำอธิบายแทรกไว้ในเรื่องเลยค่ะ จะระวังให้มากขึ้นในบทต่อๆ ไปค่ะ

คุณ afewn 55 หาข้อมูล (อย่างหนัก) บวกถามคนที่เป็นค่ะ พยายามเขียนให้ถูกเท่าที่จะทำได้นะ ถ้าชอบก็ฝากอ่านต่อด้วยนะจ๊ะ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังรู้สึกว่าพี่ลภเป็นตัวปริศนาของเราอยู่ 555 แต่ละคนมีความเข้าใจและเหตุผลที่ถูกในแง่ของตัวเองนะ ขอบคุณคนอ่านมากๆๆๆ เช่นเคยนะคะ :กอด1:

ออฟไลน์ B52

  • เป็ดZeus
  • *
  • กระทู้: 13216
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +420/-26
เนื้อหาวิชาการแน่นปึก ความสัมพันธ์ของบางคนยังไม่ค่อยเผย ติดตามอ่านเรื่อยๆจ้า

ออฟไลน์ iforgive

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 6805
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +844/-80
มมันมีอะไรกันเหรอ พี่ลภ อยากรู้

 

สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด


สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด