ฝากไว้ในมือเธอ [บทที่ 11] 22 ก.ย. 58 หน้า 6
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด

สนใจโฆษณาติดต่อ laopedcenter[at]hotmail.com คลิ๊กรายละเอียดที่ตำแหน่งว่างเลยครับ

สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด

ผู้เขียน หัวข้อ: ฝากไว้ในมือเธอ [บทที่ 11] 22 ก.ย. 58 หน้า 6  (อ่าน 43353 ครั้ง)

ออฟไลน์ malula

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 7216
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +622/-7
สองคนนี้ยังไงกันลภกับพิธาน
ส่วนอีกคู่ พัทธ์คงสนใจน้องษิตไม่น้อย ส่วนน้องเหมือนไม่รู้ตัว แต่จดจำเรื่องพี่ได้เยอะเลย

ออฟไลน์ ภาณุเมศพลัง

  • เป็ดเด็กช่าง
  • *
  • กระทู้: 238
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +144/-0
รู้สึกดีใจมากที่เห็นผลงานใหม่ของคุณเดหลี หลังจากตามไปอ่านเรื่องเก่าๆอย่างบ้าคลั่ง เเละย้อนกลับมาอ่านเรืองเดิมซ้ำๆเหมือนคนย้ำคิดย้ำทำมาพักใหญ่...ฮา

ขอบคุณคุณเดหลีที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งน่าติดตามเเละเป็นเเรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากขีดๆเขียนๆเล่าเรื่องของตัวเองบ้างนะคะ (เเต่สุดท้ายความขี้เกียจของเมศก็ชนะอยู่ดี...เเฮ่)

ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ เมศจะลุ้นคู่พิธานเป็นพิเศษ

ออฟไลน์ ゚゚ღ✿ศิลินส์✿ღ゚゚

  • เป็ดเด็กช่าง
  • *
  • กระทู้: 247
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +23/-4
เรื่องนี้จะมีพลิกล็อคไหมหนอ อ่านดูแล้วยังไม่รู้ว่าใครคู่ใครเลย ความสัมพันธ์หมอพิธานกับหมอลภก็ยังไม่เคลียร์

อ่านแล้วดูเหมือนจะลดศัพท์ไปเยอะอยู่เหมือนกันนะ อย่างชื่อโรคถ้าเป็นในชีวิตจริงหมอมานั่งคุยกันนี่ คงพ้นชื่อเฉพาะของโรคนั้นออกมาเป็นไฟแน่ ๆ ซึ่งคนอ่านคงไม่รู้เรื่องหรอก 555

ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
บทที่ 6

ช่วงบ่ายเป็นช่วงที่อาจารย์และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของภาควิชาออกตรวจดูคนไข้พร้อมรุ่นน้อง เสร็จสิ้นแล้ว ลภจึงเดินย้อนกลับไปเนื่องจากอาจารย์เรียกแพทย์ประจำบ้านคุย ส่วนนักศึกษาแพทย์ลงไปพักก่อนถึงเวลาขึ้นเวร เหลือปีสุดท้ายอยู่ในวอร์ดประปราย

เขาเห็นคนไข้มาใหม่นอนอยู่คนเดียว พอพลิกดูรายงานรับเข้าที่เอ็กซ์เทิร์นเขียนไว้แล้วก็คิดว่าหมดเวรต้องพูดกันสักหน่อยเนื่องจากแทบเหมือนกับที่แผนกผู้ป่วยนอกเขียนมาไม่ผิดเพี้ยน ไม่รู้ว่าได้ซักประวัติตรวจร่างกายเองเพิ่มหรือเปล่า แผนการว่าจะทำอะไรต่อจากนี้ก็ยังไม่ได้เขียน

พยาบาลเดินมาบอก “... เพิ่งมาเลยค่ะ จากออร์โธฝากนอนในวอร์ดเรา”

สาเหตุใหญ่ๆ ของการต้อง ‘ฝาก’ นั้นไม่ออร์โธปิดิกส์เตียงเต็ม ก็คนไข้มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดร่วมด้วย หรืออาจจะทั้งสองอย่าง ประวัติ... เคยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ซึ่งมีผลทำให้จำกัดการเคลื่อนไหวไประยะหนึ่ง ตอนนี้ขาบวมขึ้น สีผิวหนังเปลี่ยนไปเล็กน้อย 

เขาทักคนไข้ซึ่งเป็นหญิงวัยกลางคน ปัญหาที่ทำให้มาโรงพยาบาลนั้นคือปวดขา คุยถามอาการกันอยู่ครู่จึงขอตรวจ คลำตามเส้นเลือดไปเรื่อยๆ พลางถามเป็นระยะ "... กดตรงนี้เจ็บไหม"

คนไข้พยักหน้า

ลภถอยออกไปดูชาร์ตด้วยสีหน้าครุ่นคิด เขาเห็นบันทึกผลแล็บอื่นแล้วแต่ก็เอ่ยกับพยาบาล "มีคำสั่งให้อัลตร้าซาวนด์ด้วย"
"ค่ะ หมอเจ้าของไข้โทรปรึกษาแผนกรังสีไว้... ตอนนี้ผลน่าจะขึ้นมาแล้ว"

เขาขอบคุณพยาบาล ยิ้มเล็กน้อยให้คนไข้ บอกว่า “เดี๋ยวหมอมานะ ไปดูผลตรวจแล้วจะกลับมาคุยด้วย”

เขาเดินไปที่คอมพิวเตอร์ ที่นี่สามารถดูผลแล็บหลายอย่างได้หากใช้ล็อกอินของแพทย์ประจำบ้านขึ้นไป จากอาการและประวัติเขาสงสัยหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน บางทีภาวะนี้ก็ไม่แสดงอาการจำเพาะ ขาปวดบวมมา เป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ในกรณีนี้ คนไข้เข้ากับรายการความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคนี้ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเพิ่งได้รับการผ่าตัดที่ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ปวดขาไปตามหลอดเลือดดำ ขาบวมค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับข้างปกติและกดแล้วบุ๋มลงไป หมอที่ส่งขึ้นมาจากแผนกผู้ป่วยนอกน่าจะเห็นเหมือนกัน ถึงได้ส่งอัลตร้าซาวนด์ ถ้าคิดว่าเป็นลิ่มเลือดอุดตันจะให้นอนพักก่อนอยู่แล้ว

... ผลอัลตร้าซาวนด์ยืนยันความคิด จุดสีเทาเห็นชัดบนหน้าจอ อยู่ในเส้นเลือดที่ถูกบีบให้เรียบแบนที่สุด... หากมีลิ่มเลือดแล้ว จะไม่ราบลงเสมอกัน ถ้าหลุดไปที่ปอดอาจอันตรายถึงชีวิตได้

ประเด็นคือคนไข้หลอดเลือดอุดตันที่ขามักจะมีหลอดเลือดแดงที่ปอดอุดตันร่วมด้วย แม้ไม่มีอาการแสดงอย่างหายใจลำบากหรือไอ ตอนนี้คนไข้ก็ดูจะไม่รู้สึกอะไรนอกจากปวดขา เขาฟังหัวใจปอดแล้วไม่มีเสียงผิดปกติ แต่ก็ยังมีอย่างอื่นที่เข้ากันได้กับภาวะหลอดเลือดแดงที่ปอดอุดตัน เช่นประวัติเคยผ่าตัดใหญ่ และชีพจรออกจะเต้นเร็วไปสักหน่อย

ดังนั้น ขั้นต่อไปคือ... ส่งตรวจเพิ่มให้แน่ใจเรื่องหลอดเลือดแดงที่ปอด แล้วก็พิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด

ลภชะงักเมื่อเหลือบเห็นชื่อผู้ส่งตรวจอัลตร้าซาวนด์ที่มุมขวาบนของหน้าจอ

คนไข้ของพิธาน... จากปฏิกิริยาเมื่อวาน เขาไม่อยากให้เกิดเหตุผลที่อีกฝ่ายจะรู้สึกขัดเคืองขึ้นมาได้อีกเลยจริงๆ พูดนั้นต้องพูดกันแน่ เขาตั้งใจจะทำเช่นนั้นมาโดยตลอด มีโอกาสได้เข้ามาอยู่ในสถาบันเดียวกันอีกก็รีบฉวยไว้ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เจอหน้า หลังขาดการติดต่อกันทั้งๆ เขารู้ว่า... พิธานจงใจ เพียรพยายามหาตัว จนได้ข่าวว่ากลับมาเรียนที่เดิม

ลภถอนใจ จะอย่างไร ตอนนี้คนไข้ฝากนอนอยู่ในวอร์ดศัลย์ การดูแลใช้ทีมแพทย์หลายคนหลายชั้นเป็นเรื่องปกติ... เขาลงมือเขียนใบคำสั่ง ทั้งตรวจเพิ่มและให้ยา พอเสร็จก็กลับไปทางเตียงคนไข้ เพื่อคุยอธิบายเรื่องอาการและแนวทางการรักษา

พิธานคงจะเสร็จจากแผนกผู้ป่วยนอกเร็วในวันนี้ เพราะเจ้าตัวอยู่ตรงนั้นแล้วตอนเขาเดินไปถึง และน่าจะเห็นจากชาร์ตที่เขาบันทึกต่อไว้แล้วด้วยว่าหมอที่มาดูหลังส่งคนไข้ขึ้นวอร์ดชื่ออะไร ลภไม่มีลายเซ็นที่อ่านยาก หรือถึงจะยาก พิธานก็เห็นลายเซ็นเขามายาวนานตั้งแต่สมัยเรียน เกินพอที่จะรู้ว่าเป็นใคร

... อาจทำให้คนลากเก้าอี้มานั่งคุยกับคนไข้ที่ข้างเตียงวางสีหน้าเรียบสนิทได้อย่างแนบเนียนเมื่อเห็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเดินเข้าไปใกล้

ลภยืนฟังอีกฝ่ายอธิบายภาวะที่คนไข้เป็นและแนวทางต่อจากนี้โดยไม่ขัด พิธานคงดูผลอัลตร้าซาวนด์มาจากข้างล่างแล้ว เขาเพียงแต่เสริมเรื่องการส่งตรวจหลอดเลือดแดงอุดตันที่ปอด และอธิบายว่าเป็นอย่างไรเพื่อให้คนไข้รู้ล่วงหน้า

พิธานหันมามองเขาอย่างเฉยเมยแวบหนึ่ง ก่อนจะสนใจคนไข้ต่อ น่าจะคุ้นเคยกันมาเพราะเคยดูแลตั้งแต่ตอนผ่าตัดเมื่อเดือนก่อน คนไข้มีท่าทางสบายใจขึ้นเมื่อเห็นหน้าหมอที่รู้จัก ลภมองอีกฝ่ายปล่อยให้คนไข้จับแขนเอาไว้ขณะค่อยๆ พูดไปอย่างใจเย็น

วันเวลาเก่าๆ ที่เคยใช้ร่วมกันบนวอร์ดดูจะย้อนกลับคืนมาอีกครั้ง

แต่แล้วพิธานก็ลุกขึ้น ดูใบคำสั่งของเขา และเขียนลงไปใหม่

อันที่จริงยาละลายลิ่มเลือดแบบนี้จะให้วันละครั้งหรือสองครั้งก็ไม่มีนัยแตกต่างกันทางสถิติมากนัก ประสิทธิภาพและความปลอดภัยพอๆ กัน ถ้าปรับขนาดยาถูกต้องแล้ว

เขาแน่ใจว่าคนที่ใส่ใจอ่านงานวิจัยอยู่สม่ำเสมอ... รู้

รู้ แต่ก็ยังแก้

ลภไม่ปรารถนาจะทักท้วงต่อหน้าคนไข้และพยาบาล ได้แต่เดินตาม ‘เจ้าของไข้’ ออกจากวอร์ด จนมาทันกันที่หน้าลิฟต์

ลิฟต์ตึกศัลยกรรมนั้นค่อนข้างเก่าและช้า พอขึ้นมาแล้วบางทีผู้โดยสารต้องหลีกทางให้เตียงคนไข้ไปก่อน แล้วรอตัวถัดไป ดังนั้นแพทย์ประจำบ้านที่รอลิฟต์จึงทำได้เพียงถอนหายใจและดูนาฬิกา ในขณะคนเดินตามมาพูดเบาๆ

“... โมโหเพราะอะไร เพราะสั่งยาให้คนไข้ไปก่อน หรือเพราะ... เป็นพี่"

พิธานเงยหน้าดูเลขชั้นที่ขยับอย่างเชื่องช้าโดยไม่ตอบ

“แก้ขนาดยาเฟลโลว์ ไม่ถามสักคำ ธานคงไม่ทำกับคนอื่น”

อีกฝ่ายก้าวไปกดลูกศรลงอีกครั้ง กิริยาท่าทางอยากไปจากที่นี่เต็มแก่จนคนมองอดสะท้อนในใจไม่ได้

ลิฟต์ยังไม่มาจนแล้วจนรอด

เมื่อนั้นพิธานจึงพูด

“คนไข้ของผม เรื่องของผม ผมจัดการเอง คุณควรจะดูเอ็กซ์เทิร์นในวอร์ดของคุณมากกว่า ลอกโอพีดีการ์ดใส่แอดมิชชั่นโน้ตแบบนี้ จะตรวจร่างกายซักประวัติยังขี้เกียจ อีกหน่อยคงทิ้งเคส”

ลภคร้านจะอธิบายว่าเขาเห็นเรื่องเอ็กซ์เทิร์นเล่นง่ายเอาอาการจากรายงานของแผนกผู้ป่วยนอกมาเขียนรายงานรับเข้าวอร์ด ตั้งใจจะว่ากล่าวอยู่แล้ว แต่ที่พูดกันอยู่นี้เขาแน่ใจ... ปัญหาแท้จริงจรดลึก อยู่ไกลกว่านั้น และทำให้เรสิเดนท์ตรงหน้าพูดราวกับว่าเอ็กซ์เทิร์นดูจะไร้ความรับผิดชอบตามแบบเฟลโลว์

และถ้าพูดกันถึงเรื่อง ‘ทิ้ง’ จริงๆ... เขาก็อยากถามเหมือนกันว่า ใครกันแน่ที่ทิ้งใคร

ลิฟต์เปิดออก เตียงคนไข้ถูกเข็นออกมา ส่งผลให้แพทย์สองคนที่ยืนประจันหน้ากันอยู่ต้องก้าวถอยเพื่อหลีกทางให้

“มีเรื่องอะไร"

พิธานชะงัก ผู้ที่เดินออกจากลิฟต์เป็นคนสุดท้ายคือศาสตราจารย์นายแพทย์กอบชนม์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ อาจารย์กวาดสายตามอง คงจับสังเกตจากร่องรอยความขัดแย้งที่ยังกรุ่นอยู่ได้

เมื่อเฟลโลว์นิ่งเหมือนจะให้เขาเป็นคนพูดก่อน พิธานจึงต้องตอบ

"พอดี... เห็นไม่ตรงกันเรื่องให้ยาคนไข้นิดหน่อยครับ"

อาจารย์มองหน้าทีละคนอีกครั้ง พูดเรียบๆ

"หมอเรียนกันมากี่ปี... ถ้าผู้มีการศึกษาเป็นผู้เจริญ ก็ควรจะตกลงกันอย่างผู้เจริญแล้ว ด้วยเหตุด้วยผล"

พิธานเพิ่งรู้ว่าตัวเองเผลอกำมือแน่นอยู่ อาจารย์หันมาหา "หมอพิธานด้วย อย่าให้พวกศัลย์เขาพูดได้ว่าเราออร์โธนี่เตือนอะไรไม่ฟัง"

ศัลยศาสตร์กับออร์โธปิดิกส์ปกติไม่ได้ลงรอยราบรื่นไปเสียทุกเรื่อง แย้งกันได้ตั้งแต่แรงในการขันชะเนาะไปจนถึงจะวางแผนรักษาคนไข้ที่บาดเจ็บหลายระบบมาอย่างไร หลายครั้งต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าอีกฝ่ายดื้อแพ่งและมีอัตตาใหญ่เทียบเท่าภูเขา แต่ยังต้องทำงานร่วมกันอยู่ดี อาจารย์กล่าวกับลูกศิษย์ภาคตัวเองก็จริง แต่เหมือนบอกเฟลโลว์อีกภาคไปพร้อมกัน

พิธานจึงได้แต่รับคำ

อาจารย์หันไปถามเฟลโลว์ที่ว่าถึงคนไข้ในหน่วยที่บาดเจ็บหลอดเลือดมาร่วมกับเส้นประสาทแล้ว พิธานจึงถือโอกาสเลี่ยงเข้าลิฟต์โดยไม่มองใครอีก ซ่อมหลอดเลือดเป็นหน้าที่ศัลยศาสตร์หลอดเลือด แต่ซ่อมเส้นเอ็นเส้นประสาทนั้นของออร์โธปิดิกส์ ต้องทำงานประสานกัน คงเป็นสาเหตุที่อาจารย์ขึ้นมาที่หน่วย

ก่อนกลับไปถึงวอร์ด เขาเข้าห้องน้ำเปิดก๊อก วักน้ำขึ้นอย่างแรงก่อนจะปิด ลูบหน้าที่ยังมีหยดน้ำเกาะพราว มองเงาของตัวเองในกระจก

แววตาที่สะท้อนกลับมานั้นสั่นไหว ร่องรอยของความกระทบกระเทือนยังมีให้เห็น... ซึ่งเขาเกลียด พิธานละสายตาจากกระจก เปิดก๊อกวักน้ำขึ้นอีกครั้ง

... เขาบอกตัวเองแล้ว บอกตั้งแต่สามปีก่อน ว่าจะไม่รู้สึกอะไรอีก นอกจากเห็นใจในความทุกข์เวทนาของคนเจ็บคนป่วยที่หลั่งไหลมาหา ไม่แยแสอะไร นอกจากงานในหน้าที่ รักษาคนไข้ให้ดีที่สุด เมื่อได้ทุ่มเททั้งหมดลงกับชีวิตของการใช้ทุนแล้ว เขาก็พอจะผ่านแต่ละวันไปได้

เมื่อก่อน... อีกฝ่ายเป็นรุ่นพี่ ตอนนี้ ก็กลับมาเป็นรุ่นพี่ ที่เขาต้องฟัง ต้องยอมรับว่ามีความรู้และประสบการณ์มากกว่า ความยอมรับนับถือในครั้งนั้นก่อเกิดนำพามาซึ่งความรู้สึกอะไรอีกหลายต่อหลายอย่าง ในช่วงเวลาต่อมา...

คนที่เขาคิดว่าหัวนอก จบจากนอก มีชีวิตแตกต่างจากเด็กบ้านนอกคนหนึ่งอย่างเขาอย่างเทียบกันไม่ติด กลับถ่อมตน สุภาพ เอื้อเฟื้อต่อคนรอบข้าง ทั้งๆ ที่มาจากสภาพแวดล้อมที่เคร่งเครียดอย่างโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของอเมริกา และยังแข่งขันจนได้เข้าเรียนแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ที่นั่นแล้ว     

เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในสายกันมา ความใกล้ชิดสนิทสนมย่อมทวีขึ้นเป็นธรรมดา หลายครั้งสอนแบบเรียกได้ว่า ‘จับมือทำ’ จริงๆ แน่นอนว่า รุ่นพี่แพทย์ประจำบ้านนั้นย่อมสอนทุกคนในสาย แต่รอยยิ้มน้อยๆ ที่ส่งมาให้เมื่อถึงเวลาต้องลงจากวอร์ดทุกวัน รวมถึงสายตาที่สานสบกันโดยไม่รู้ตัวอยู่บ่อยครั้งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ในความต่างมีความเข้ากันได้ มีความคิดเห็นต่อเรื่องบางเรื่องที่คล้ายคลึง ไม่นานเลยที่จะพบว่า การใช้เวลาอยู่ด้วยกันเป็นความสุข

อย่างน้อย ก็ในช่วงเวลานั้น...

พิธานยอมรับว่าเขาเป็นคนมีกำแพง ง่ายกว่าที่จะคิดเสียว่า ชีวิตไม่ต้องมีใครก็ได้

เพราะตั้งแต่เข้าปีหนึ่งมาเขาก็อยู่แบบนี้ ในใบทะเบียนประวัตินักศึกษาของเขา บิดา... ถึงแก่กรรม มารดา... ถึงแก่กรรม ชื่อผู้ที่ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน ไม่มี...

พิธานจำได้ว่าอาจารย์ผู้สอบสัมภาษณ์ และต่อมาได้กลายมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาด้วยนั้นเงยหน้าขึ้นมองอย่างเห็นใจ ถามว่า

‘พ่อแม่เสียหมด แล้วอยู่กับใคร’

อาจารย์คงจะเห็นว่าเขาไม่ได้ใส่ชื่อผู้ปกครองอื่นใดอีก ความจริงพิธานไม่เคยเห็นหน้าพ่อ ท่านเสียตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องแม่ ส่วนแม่... ก็จากไปตอนเขาเรียนชั้นมัธยมปีที่สอง

ความทรงจำนั้นยังเด่นชัด และคงอยู่กับเขาไปจนวันตายทีเดียว แม่ป่วย ป่วยมากจนต้องส่งต่อ เส้นทางนั้นขรุขระคดเคี้ยว จนกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลใหญ่ ก็สายเกินไปเสียแล้ว หมอพูดกับเขา แต่เด็กมอสองในตอนนั้นก็ไม่เข้าใจคำตอบของหมอเลยสักคำ เหมือนหมออยู่อีกโลก พูดคนละภาษา

เขาเงยหน้ามองอาจารย์ ตอบว่า

‘หลวงลุงครับ... ท่านเป็นญาติห่างๆ ของพ่อ’

ถ้าเขาไม่ได้พบหลวงลุง ป่านนี้ อาจจะไม่ได้มานั่งอยู่ต่อหน้าให้อาจารย์สัมภาษณ์เข้าคณะแพทยศาสตร์ บ้านไม่มีเพราะเช่าอยู่ เงินน้อยนิดที่แม่อดออมไว้หายไปกับค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างรวดเร็ว... แต่หลวงลุงก็ให้เขาไปอยู่ด้วยที่วัด บอกให้เรียนหนังสือต่อ

ถึงท่านจะไม่เข้าใจศัพท์แพทย์หรืออาการของโรคซับซ้อนอะไร แต่ท่านก็เข้าใจชีวิต ไม่รู้กี่คืนต่อกี่คืนที่เขานั่งอ่านหนังสือธรรมะ อ่านพระไตรปิฎกออกเสียงในกุฎิให้ท่านฟัง อันที่จริง อาจจะกำลังอ่านให้ตัวเองฟังมากกว่าก็ได้ หลวงลุงบอกกับเขาว่า ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลา ความเป็นขึ้นและความดับ ต่อเนื่องสลับกันไป สิ้นกรรม สิ้นอายุขัย ก็สิ้นชีวิต...
 
แต่หลวงลุงก็ต้องรู้อีกเหมือนกันว่า เนื่องเพราะเขายังเป็นมนุษย์ ทุกข์ต่างๆ ก็ยังคงต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องสลับกันไปเช่นเดียวกัน
อาจารย์ก้มลงมองใบประวัติของเขา เคาะปากกาลงตรงช่องว่างนั้นอย่างครุ่นคิด เอ่ยว่า

‘แต่จะใส่ชื่อพระ ให้ติดต่อเวลามีเรื่องก็ไม่เหมาะ รบกวนท่าน...’

อาจารย์เงยหน้าขึ้นมองอีกครั้งเมื่อว่าที่นักศึกษาแพทย์ตอบว่า ‘หลวงลุงมรณภาพ ก่อนผมต้องขึ้นมาสอบสัมภาษณ์ไม่นานครับ’

เมื่อพิธานอยู่ชั้นมัธยมปีที่หก หลวงลุงก็อาพาธทรุดหนัก เขาวิ่งรอกระหว่างโรงพยาบาลกับโรงเรียน อ่านหนังสือสอบอยู่ข้างเตียงท่าน จนหลวงลุงประสงค์อยากกลับกุฏิ เขาปรนนิบัติดูแลท่านอย่างเต็มกำลัง สุดท้าย หลวงลุงละสังขารด้วยอาการสงบ...

เขามีเวลาบวชหน้าไฟให้ท่านเพียงสามวันก็ต้องนั่งรถโดยสารมาที่แพร่ แล้วจึงขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ด้วยสมองมึนชา มองสองข้างทางที่มืดมิดลับสายตาไปเรื่อยๆ ไม่ได้หลับเลยสักงีบเดียว

อาจารย์มองเด็กหนุ่มที่ยังอยู่ในชุดนักเรียนอีกครู่หนึ่ง แล้วจึงก้มลงเขียนในใบประวัติของเขา ในช่องผู้ที่ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน
... เป็นชื่อของอาจารย์เอง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงปรานี ปรานีต่อเขา สมชื่อ... ตลอดเวลาที่พิธานเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่นั้น ได้ท่านช่วยแนะนำดูแลในเรื่องต่างๆ จดหมายขอทุนเพิ่มเติมจากคณะท่านก็เป็นผู้รับรอง กระทั่งเรียกเขามาช่วยงานประชุม งานสัมมนา ลงท้ายด้วย ‘กินขนมเสียก่อนกลับนะ’

อาหารการกินในสัมมนานั้นเหลือเฟือด้วยแรงอุดหนุนของบริษัทยา แพทย์บางคนก็รีบกลับ หรือรีบไปทำธุระอย่างอื่นต่อ นักศึกษาแพทย์ช่วยงานและแม่บ้านจึงรับไป ตอนที่เขาไปกราบอาจารย์ สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านได้ช่วยเหลือเขา เต็มที่เท่าที่อาจารย์ที่ปรึกษาจะทำได้ อาจารย์ยังพูดกับเขาว่า   

‘ถ้าจะเรียนต่อ กลับมาที่นี่นะ...’

แต่เขาก็มีอันต้องรีบใช้วันลากลับมากรุงเทพฯ ด้วยเหตุไม่คาดคิด ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ อย่างที่หลวงลุงเคยบอก... ไม่ว่าเราจะต้องการหรือไม่ เตรียมใจรับไว้หรือไม่

อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง แต่อาจารย์ก็จากไปเพราะมะเร็ง บางทีชีวิตคนเราอาจจะเต็มไปด้วยความย้อนแย้งอย่างน่าประหลาดเช่นนี้

เขาคิดว่าไม่ควรจะ ‘ยึด’ ใคร การ ‘ยึด’ นำมาซึ่งความทุกข์... หลวงลุงคงพยักหน้า... ตัดทุกข์ได้เปลาะหนึ่ง แต่หลวงลุงใกล้ชิดพระศาสนากว่าเขาหลายเท่านัก รักของหลวงลุงจะต้องใจกว้าง เห็นแก่ผู้อื่นและลดตัวตนให้เหลือน้อยที่สุด คงเหลือแต่เมตตา... อยากให้มีความสุข

แต่สำหรับมนุษย์ธรรมดาที่ยังมีกิเลส ความรักย่อมผันแปรไปได้หลายลักษณะ บ้างรักแล้วจะยึด ยึดไว้เป็นที่พึ่ง ที่พอใจ เป็นความหวัง ความสุข เป็นของตัวเอง...

กับเพื่อนที่พอจะนับว่ารู้จักกันใกล้ชิดกว่าคนอื่น เขาก็ได้ยอมรับว่า เมื่อจบการศึกษา แยกย้ายกันไปใช้ทุนแล้ว คงยิ่งห่างไกลกันออกไป

ทุกคนที่สำคัญพอให้ยึดเหนี่ยวต่างทยอยจากไปทั้งสิ้น แม่ หลวงลุง อาจารย์ที่ปรึกษาผู้เมตตา

แม้กระทั่งคนที่บอกว่าจะไม่ไป ก็ไป...

พิธานไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นพวกรับความจริงไม่ได้ ถึงยากจะทำความเข้าใจ แต่ก็จะพยายามเข้าใจ... เข้าใจว่าคนเราย่อมผันแปรไปได้ และความรักอันคิดว่าเคยวางอยู่ที่หนึ่งอย่างมั่นคงก็อาจกลับกลายได้เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอีกฝ่ายต้องการปัจจัยอื่นเป็นเครื่องประกอบความรัก ซึ่งเขาให้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางสังคม ทรัพย์สินเงินทอง ชีวิตครอบครัวสมบูรณ์ตามขนบ

แต่ในที่สุดเขาก็จะเข้าใจ ดีกว่าปล่อยให้รู้จากคนอื่น และปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเองในภายหลัง อย่างที่ประสบมา

อย่างน้อยถ้าบอก จะได้จากกันด้วยดี เขาจะได้ยังนับถืออีกฝ่ายได้ โดยไม่สูญเสียความนับถือตัวเอง ไม่ต้องระวังตัวต่อต้านเหมือนเม่นพองขนเวลารู้สึกว่าถูกคุกคาม โดยที่ห้ามตัวเองไม่ได้แบบนี้

พิธานลูบน้ำออกจากใบหน้าจนหมด เขามองกระจก แววตาที่สะท้อนกลับมาแน่วนิ่งอีกครั้ง

... เส้นทางเดินที่คิดว่าเคยมีร่วมกัน คงเลยผ่านไปจนยากจะบรรจบได้อีกแล้ว


หญิงสาวในเสื้อกาวน์สั้นและกระโปรงพลีทยาวแค่เข่าผลักประตูร้านกาแฟชั้นล่างของตึก เดินเข้าไปอย่างรวดเร็วตามนิสัย เมื่อได้กาแฟแล้วก็กวาดตามอง ไม่เห็นโต๊ะว่าง แต่เห็นคนรู้จัก

เธอก้าวเข้าไปใกล้ ทักขึ้นอย่างร่าเริง

“พี่ลภ เกี้ยวนั่งด้วย”

ลภเงยหน้าขึ้น อดยิ้มบางตอบรอยยิ้มกว้างขวางนั้นไม่ได้ เมื่อตอนเรียน เขาเคยอยากรู้จักคนคนหนึ่งให้มากขึ้น... ไม่มีวิธีใดดีไปกว่าเลียบเคียงเอาจากนักศึกษาแพทย์ปีหกประจำสายเขาคนนี้ เอ็กซ์เทิร์นกรองพรผู้ได้รับการยืนยันจากเหล่าเพื่อนแพทย์ประจำบ้านว่า 'ไอ้เกี้ยวรู้เรื่องทุกคนในคณะ!'

และถึงแม้ว่ากรองพรอาจจะสังเกตว่าเขาถามถึงนักศึกษาแพทย์ปีห้าคนหนึ่งบ่อยเป็นพิเศษ ก็ไม่ได้มีท่าทีแปลกไปหรือแม้แต่จะปริปาก ไม่ว่าถามเขาหรือถามคนอื่นก็ตาม นอกจากนี้ เอ็กซ์เทิร์นกรองพรยังถือเป็นเอ็กซ์เทิร์นจำพวกมีประสิทธิภาพ ทุ่นแรงเรสิเดนท์ไปได้โข

กรองพรลงนั่งตรงข้ามเขา เหลือบเห็นหน้าจอเข้าแวบหนึ่งก็เอ่ย “โอ๊ะ เปเปอร์... เกี้ยวมากวนหรือเปล่า”

“ไม่หรอก เขียนเสร็จแล้ว พี่แค่อ่านทวนอีกครั้งเท่านั้น”

“นั่นสิ... พี่ลภน่าจะใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องกว่าภาษาไทยด้วยซ้ำ” กรองพรว่า คนกาแฟพลาง เมื่อเห็นอีกฝ่ายไม่ตอบก็เปลี่ยนเรื่อง “ไม่นับต้นเทอมเราเจอกันครั้งหลังสุดเมื่อไหร่นะ นานมาก...”

“วันรับปริญญาเกี้ยวละมัง”

"ใช่ๆ... เกี้ยวเป็นเอ็กซ์เทิร์นแล้วตอนพี่ลภเข้ามาเป็นเดนท์หนึ่ง เจอกันปีเดียวเกี้ยวก็จบออกไปใช้ทุนแล้ว แต่เรียนรู้อะไรไปเยอะเลย”

สิ่งที่กรองพรซึ่งเป็นเอ็กซ์เทิร์นที่สนิทสนมกับแพทย์ประจำบ้านปีที่หนึ่งในตอนนั้นพอสมควรยังไม่กล้าถามเพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว คือสาเหตุที่อีกฝ่ายออกจากโครงการแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่อเมริกา แล้วกลับประเทศไทย ถ้าเป็นเธอ หากได้เข้าเป็นแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำขนาดนั้น คงไม่ยอมละทิ้งโอกาสนี้ง่ายๆ

เธอยกกาแฟขึ้นจิบ ถามลอยๆ

“นี่เกี้ยวต้อง... หาแลกเวรห้องผ่าตัดอีกไหม”

ลภถอนใจ “ขอโทษเกี้ยวด้วย ตอนแรกพี่ไม่รู้จะเจอเขายังไง... แต่คงไม่ต้องกวนเกี้ยวแล้ว บ่อยเข้ามันจะไปกระทบเรื่องอื่น พี่น่ะ คนนอกภาค... แต่เกี้ยวเป็นชิฟเดนท์เขา”

กรองพรรู้ว่าอีกฝ่ายไม่ต้องการให้คนอื่นในภาคเริ่มตั้งคำถามถึงการจัดการบริหารเวรของเธอ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการทำงานในฐานะหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน เธอยิ้มน้อยๆ

“รุ่นน้องเกี้ยวคนนี้เขาก็นิสัยคล้ายพี่ลภ... ต่างกันตรงที่ว่าคนไม่ค่อยเข้าใจเขานี่สิ... เห็นอยู่คนเดียวออกบ่อย แต่นั่นแหละเกี้ยวอาจจะคิดแทนเขาก็ได้ เจ้าตัวอาจจะโอเคอยู่แล้วที่เป็นแบบนี้”

“เพื่อนเขาก็อยู่” คนนั่งตรงข้ามก้มลงมองหน้าจอแล้ว จึงเดาไม่ออกว่าพูดด้วยอารมณ์ใด

“อ๋อ หมอพัทธ์น่ะหรือ” กรองพรว่า แพทย์ร่วมรุ่นกับพิธานตอนเรียนและมาต่อเฉพาะทางพร้อมกันอีกในเวลานี้ก็มีแต่ธีรพัทธ์เท่านั้น “ก็จริง มีพัทธ์เป็นเพื่อนก็ยังดี อยู่คนละภาคแต่เห็นกินข้าวด้วยกันบ้างเหมือนกัน”

ลภไม่ตอบ กรองพรจึงพูดต่อ “เกี้ยวเห็นพิธานมาตั้งแต่ตอนเรียน อยู่ในสายเดียวกันตลอดตั้งแต่ขึ้นชั้นคลินิก รู้ว่าเขาตั้งใจทำงาน ฝีมือก็ดี แต่นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาเขาแล้ว อาจารย์คนอื่นจำพิธานได้เพราะเขาท็อป แล้วก็เรียกช่วยงานเพราะว่าเก่ง ไม่ใช่เพราะถูกนิสัยใจคอเป็นพิเศษ อาจารย์ไม่โปรดเหมือนพี่ลภ ไม่ได้ป๊อบปูลาร์กับรุ่นน้องหรือพยาบาลเหมือนหมอพัทธ์ เกี้ยวยังนึกเลยว่า หลายหนเขาทำงานลำบากกว่าที่ควร คนชอบเข้าใจเขาผิด... ไม่ใช่เรื่องสั่งการรักษานะ เกี้ยวคิดว่าเป็นเรื่องของบุคลิก”

“ตรงไหนกัน” ลภถาม ในสายตาเขาย่อมมองพิธานในแง่ดีที่สุดเสมอ จึงไม่เห็นว่าสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นปัญหาควรเป็นประเด็น

“... พิธานเขาชอบมีท่าทางเหมือนทำทุกอย่างคนเดียวได้ ซึ่งหลายหนเขาก็ทำได้จริงๆ คนที่พึ่งตัวเองมาตลอดอาจจะเป็นแบบนี้” กรองพรบอกอย่างที่เธอทราบ คือในความหมายของผู้ที่เสียทั้งพ่อและแม่ไป ต้องอยู่ตัวคนเดียว “แต่มันทำให้คนคิดว่าเขาไม่ต้องการให้ช่วย ทั้งๆ ที่เจ้าตัวเองไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น บางทีคนก็ไม่ค่อยอยากยุ่งกับพิธานมากเพราะเขาพูดตรงๆ...”

“พี่ว่า คนที่รับความจริงไม่ได้น่าจะเป็นปัญหามากกว่าคนพูดความจริง” ลภว่า บางส่วนในตัวเขาไม่ว่าเมื่อไรก็ยังจะแล่นเข้าปกป้องคนที่ถูกเอ่ยถึงอยู่ดี

“มันต้องมีวิธี บางครั้งก็ต้องอ้อมหน่อย... เกี้ยวยังเคยบอกพี่ลภเลยว่า อย่างพิธาน เหมาะกับสภาพแวดล้อมแบบฝรั่งมากกว่า”

เพราะเหตุนี้หรือเปล่า เขาจึงได้รู้สึกว่ามีบางอย่างที่เชื่อมโยงกันได้ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่พบกัน สภาพอนุรักษ์นิยมบางอย่างที่นี่ ที่เขาเคยมีปัญหาหนักใจ เขาก็ได้รู้ว่า มีคนคนหนึ่งคิดเหมือนกัน...

“พี่ไม่คิดว่าเขาต้องเปลี่ยน...” ลภบอกหลังจากนิ่งไปครู่หนึ่ง “พี่ไม่คิดว่าเขาผิดที่เป็นคนแบบนี้”

"อาจจะใช่... พี่ลภรู้จักพิธานเขาดีกว่าเกี้ยว" กรองพรว่า “บางเรื่องก็ไม่มีใครผิด ไม่มีคนผิดหรอก มีแต่เข้าใจกันผิด เหมือนคนที่ยังไม่รู้จักพิธานดีพอชอบนึกว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้”

ลภยิ้มจางให้หญิงสาว รู้ว่าอีกฝ่ายพยายามให้กำลังใจเขาอยู่

แต่เรื่องนี้ ถ้าจะมีคนผิด ก็คงเป็นเขา


ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
คุณ B52 นี่ก็จะค่อยๆ เผยมาเรื่อยๆ แล้วล่ะค่ะ ฝากอ่านต่อด้วยนะคะ

คุณ iforgive จริงๆ คนเขียนก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า พี่ลภแกรู้มั้ยว่ามันมีอะไรกันแน่ คือแกคิดว่าแกรู้หรือไม่ก็พอรู้น่ะนะ

คุณ malula คนมันมีอดีตอะค่ะ 555 ตอนนี้พัทธ์ษิตไม่โผล่ บทหน้านะ ยังพัวพันกันไปอีก

คุณภาณุเมศพลัง ดีใจค่ะที่มาอ่านเรื่องนี้ด้วย แต่การเขียนและการงานทำให้คนเขียนไม่มีเวลาไปอ่านของคนอื่นๆ เลยล่ะ ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้กับงานเขียนของคุณด้วยนะคะ ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะ พิธานนี่ต้องการการลุ้นมากเชียวล่ะ

คุณ ゚゚ღ✿ศิลินส์✿ღ゚゚ พัวพันกันไปสี่คนอย่างนี้ล่ะค่ะ เรื่องมันเกี่ยวกันอยู่ สองคนนี้ก็ประมาณมีอดีตนั่นแหละแต่รายละเอียดมันก็จะมาเรื่อยๆ อิอิ พยายามใช้ภาษาไทยเขียนไปให้มากที่สุดเพราะว่ายังไงนี่ก็นิยายภาษาไทยเนอะ 55 อยากให้อ่านได้ลื่นๆ ถ้าชีวิตจริงหมอคุยกันจะไม่พูดเป็นภาษาไทยยาวขนาดนี้ 55 (เปิดเกมหมอยอดนักสืบ ตอนปรึกษาเคสกันจะได้อารมณ์มาก)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ช่วงนี้การงานค่อนข้างโหดร้ายกับคนเขียนมาก ทั้งเอากลับมาทำที่บ้าน เสาร์อาทิตย์ก็ทำ T_T มันเลยจะช้าแบบนี้ไปอีกสักสองสามเดือน... ขอโทษด้วยนะคะ

เรื่องนี้จริงๆ ก็เป็นเรื่องของคนที่มาเจอกันอีกครั้ง (เท่าๆ กับคนที่เพิ่งเจอ 55) เพราะฉะนั้นมันต้องย้อนเป็นระยะ แต่อีกไม่เยอะค่ะ แล้วเราก็จะไปข้างหน้ากันเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน รับรองว่า... สุดท้ายเคลียร์

ขอบคุณคนอ่านมากๆๆ ค่ะ
:กอด1:

ออฟไลน์ iforgive

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 6805
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +844/-80
สงสารพิธานนะ และเข้าใจด้วยว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น
พี่ลภจะกลับมาซ้ำที่เจ็บอยู่เดิมหรือมาเพื่อแก้ไขกันล่ะ

ออฟไลน์ ภาณุเมศพลัง

  • เป็ดเด็กช่าง
  • *
  • กระทู้: 238
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +144/-0
คุณเดหลีรู้ไหม...เมศมารอคุณเดหลีที่บอร์ดทุกวันเลยนะ *ทำเสียงเย็นประกอบ*

โถๆ พิธานน่าเอ็นดูเเท้ๆ จะเข้มเเข็งมาจากไหนก็มีหัวใจเนอะ ว่าเเต่พี่ลภเถอะ 'รวน' เรื่อยเลย
ดูท่าทางเเล้ว เหมือนพี่ลภกับพิธานจะเเยกจากกันเพราะไม่คุยกันให้รู้เรื่องมากกว่าหมดรัก
เดาว่าคงมีเหตุให้ไม่ได้คุยกัน (เดาล้วนๆ)

ขอบคุณคุณเดหลี
ขอเป็นกำลังใจให้พ้นระยะงานยุ่งเร็วๆนะคะ
เเละขอชูป้ายไฟเป็นเเม่ยกน้องเม่นพิธานอย่างเป็นทางการค่ะ :)





ออฟไลน์ malula

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 7216
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +622/-7
เรื่องของหมอพิธานมันสะเทือนใจจริง ๆ เราคงรู้สึกเหมือนอาจารย์ที่สัมภาษณ์
คือถ้าพอช่วยอะไรได้ก็คงทำให้
นอกจากสาระเรื่องทางการแพทย์ บทนี้มีธรรมะแทรกเข้ามาด้วย รู้สึกเป็นประโยชน์มาก
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอลภและหมอพิธานต้องย่ำแย่อย่างนี้
ต้องเกิดการเข้าใจผิดอะไรแน่ ๆ รออ่านเฉลยจ้า


ออฟไลน์ B52

  • เป็ดZeus
  • *
  • กระทู้: 13216
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +420/-26
เจ็บอะสำหรับหลายๆคนเลย

ออฟไลน์ -west-

  • เป็ดนักขาย
  • เป็ดHephaestus
  • *
  • กระทู้: 1393
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +1875/-12
    • FACEBOOK PAGE
สงสารพิธานมาก
แต่พิธานก็เข้มแข็งมาก ๆ เหมือนกัน ^_^

CoMMuNiTY Of ThAiBoYsLoVE

ประกาศที่สำคัญ


ตั้งบอร์ดเรื่องสั้น ขึ้นมาใครจะโพสเรื่องสั้นให้มาโพสที่บอร์ดนี้ ถ้าเรื่องไหนไม่จบนานเกิน 3 เดือน จะทำการลบทิ้งทันที
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=2160.msg2894432#msg2894432



รวบรวมปรับปรุงกฏของเล้าและการลงนิยาย กรุณาเข้ามาอ่านก่อนลงนิยายนะครับ
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=459.0



สิ่งที่ "นักเขียน" ควรตรวจสอบเมื่อรวมเล่มกับสำนักพิมพ์
https://thaiboyslove.com/webboard/index.php?topic=37631.0






ออฟไลน์ lizzii

  • เป็ดAthena
  • *
  • กระทู้: 6284
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +271/-2
หมอพิธานน่าสงสารจัง เห้ออออ

ออฟไลน์ fuku

  • เป็ดAphrodite
  • *
  • กระทู้: 4479
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +462/-20
โอ๊ย จุกอก...
เหมือนตกลงไปในบ่อน้ำลึกๆ ขึ้นไม่ได้ ดิ้นรนเกาะผนังเอาตัวรอดไปวันๆ

ออฟไลน์ Nemasis

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 158
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +43/-1
อุ่ยเพิ่งได้มาตามต่องานยุ่งพอๆกับคนแต่งเลย
สงสารพิธานนนนน

ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
บทที่ 7

รักษิตโบกมือให้เพื่อนสนิทในกลุ่มจากใต้ตึก บอกให้ไปกินข้าวกันโดยไม่ต้องรอ เพราะวันนี้มีเวรในวอร์ดอายุรกรรม... โดยไม่มีคู่เวรแต่อย่างใด

ตั้งแต่ขึ้นปีห้า ด้วยเนื้อหาการเรียนเขาเจอคนไข้ที่มีภาวะฉุกเฉินมากขึ้น คนไข้ที่อาการค่อนข้างหนักอยู่แล้ว ราวนด์ตอนเช้าร่วมกับอาจารย์และพี่แพทย์ประจำบ้าน บางทียังไม่ทันเสร็จก็มีอันต้องวิ่งกลับไปปั๊มหัวใจเตียงแรกๆ เอากลับมาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง...

เขาเงยหน้าขึ้นมองเลขชั้นลิฟต์ที่ขยับช้าๆ ระบายลมหายใจยาว

ทุกครั้งเขายังไม่อาจขจัดความรู้สึกใจหายได้เมื่อพบว่าชีวิตอีกชีวิตหนึ่งที่พยายามดูแลประคับประคองได้ดับสูญลงไปเสียแล้ว แต่เมื่อเงยหน้าขึ้นเห็นเตียงเรียงราย คนไข้เหล่านั้นก็ยังอยู่ และมีแต่จะเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ รักษิตจึงรวบรวมกำลังใจ ทำงานต่อไป
ไม่อยากใช้คำว่าเข้มแข็งขึ้น แต่ก็รู้สึกว่ารับมือได้ดีขึ้น

เหมือนที่พี่พัทธ์เคยบอก...

หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านที่ดูสายเขา ก็คือพี่แพทย์ประจำบ้านคนเดิมที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทันทีที่เข้าไปในวอร์ดรักษิตก็เห็นธีรพัทธ์กำลังโน้มตัวอยู่เหนือเตียงหลังนอกสุด น่าจะเพิ่งทำหัตถการอะไรบางอย่างเสร็จ แต่ยังคุยกับคนไข้

รักษิตเซ็นชื่อเข้าเวร มองไปรอบๆ ยังไม่มีใครเรียก วอร์ดดูเงียบสงบดีจึงเตร่เข้าไปใกล้ ธีรพัทธ์หันมายิ้มให้นิดหนึ่งเมื่อเห็นรุ่นน้องปีห้าที่ขึ้นเวรวันนี้ พอดีคนไข้พูดต่อซึ่งคงเป็นเรื่องติดพันอยู่

"แหม หมอสมัยนี้ หล่อ..."

คนได้รับคำชมหัวเราะ หันมาพูดเบาๆ กับรุ่นน้อง

"คุณป้าชมทุกคน"

"ไม่จริงจ้ะ ชมเฉพาะคนหล่อ" คุณป้ายืนยัน "ไม่หล่อก็ไม่ชม"

รักษิตยิ้ม ถ้ายังมีแก่ใจจะชมหมอที่รักษาว่าสวยว่าหล่อ หรือสังเกตเห็นดอกไม้ที่เคาน์เตอร์พยาบาล ก็แสดงว่า... กำลังใจดี คนไข้มีหวัง ไม่ได้ชืดชา ทอดอาลัยกับชีวิตหรืออาการเจ็บป่วย กำลังใจที่ดีนั้นมีส่วนทำให้คนไข้กระตือรือร้นจะฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอ เพราะมีจุดมุ่งหมายในชีวิตอยู่...

“หนูด้วยนะลูก” คุณป้าจำหนึ่งในนักศึกษาแพทย์ที่คอยแวะเวียนมาดู รวมทั้งราวนด์ตอนเช้าและเย็นพร้อมคณะแพทย์ได้ “หน้าตาดี๊”

รักษิตอดหัวเราะไม่ได้เมื่อรุ่นพี่ก็หันมามองหน้าเขาอย่างพินิจพิจารณาเช่นกัน จำเป็นต้องยอมรับคำชมว่า ‘หน้าตาดี’ ไม่ถึงกับ ‘หล่อเลย’ เหมือนหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านอย่างที่คุณป้ามอบหมาย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้วันหยุด และถือเป็นเคราะห์ดีที่เหล่าเพื่อนสนิทในกลุ่มทุกคนรวมทั้งนักศึกษาแพทย์อนันต์ปลอดธุระพร้อมกัน ศิวัชจึงยืมรถจากที่บ้าน ตัดสินใจว่าจะออกไปหาอะไรกินกันที่อยุธยา

ทำไมต้องเป็นอยุธยา จริงๆ ก็ไม่แน่ชัดนัก เพียงแต่ญาดาเปรยขึ้นว่าเบื่ออาหารการกินแถวรอบคณะเต็มที เกตุวดีจึงว่า ถ้าจะออกไปต่างจังหวัดละก็ ขอที่มีที่เที่ยวประเทืองความรู้หน่อยก็ดี พิพิธภัณฑ์ก็ได้ หลังจากศิวัชค่อนเพื่อนว่า ‘เนิร์ดแม้กระทั่งนอกโรงพยาบาล’ และถูกตอกกลับว่าไม่สนอะไรนอกจากเรื่องกิน ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าจริงแล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่าไปอยุธยากัน

การณ์กลายเป็นว่าเกตุวดีได้ชมพิพิธภัณฑ์และดูวัดวาอารามอยู่ไม่ถึงสองชั่วโมง เพราะแป๊บเดียวก็หิวกันเสียแล้ว จึงยกขบวนออกมาตลาด ระหว่างที่อนันต์กับศิวัชวิ่งหาของกินและรักษิตกำลังรับหน้าที่ถ่ายรูปให้เพื่อนผู้หญิงอยู่นั้น ก็มีเสียงคุ้นๆ ทักขึ้น

‘อ้าว มาเยี่ยมถึงบ้านพี่เชียว’

เมื่อลดกล้องถ่ายรูปลงหันไป ก็พบธีรพัทธ์ยืนหิ้วข้าวของ ส่งยิ้มกว้างมาให้ เพื่อนผู้หญิงสองคนมองมาอย่างแปลกใจเล็กน้อย เนื่องจากเมื่อครั้งพวกเธอเวียนมาวอร์ดอายุรกรรม ธีรพัทธ์ก็ได้ใช้โรงพยาบาลต่างจังหวัดเป็นที่เรียนจนเกือบสิ้นสุดปีที่สองของการเป็นแพทย์ประจำบ้านจึงไม่ค่อยคุ้นหน้านัก ก่อนจะจำได้ในที่สุดว่าเป็นรุ่นพี่ที่เคยช่วยอาจารย์ประเมินในวิชาเวชศาสตร์ชุมชนเมื่อก่อนขึ้นปีสี่นั่นเอง

หลังจากนั้นก็คุยกันได้อย่างสนิทสนมดีเมื่อศิวัชและอนันต์ตามมาสมทบ เพราะทุกคนจับกลุ่มทำรายงานเวชศาสตร์ชุมชนกลุ่มเดียวกัน ธีรพัทธ์ลงนั่งรับประทานอาหารกลางวันด้วย รวมทั้งยกขนมที่ซื้อมาให้น้องๆ กินหลังจากนั้น เมื่อรักษิตท้วงก็ได้รับคำตอบว่า

‘เดี๋ยวซื้อใหม่ก็ได้ บ้านพี่เอง’

จนเมื่อศิวัชและอนันต์ไปดูของฝากอย่างอื่นให้ที่บ้าน และเพื่อนผู้หญิงชักชวนกันไปหาห้องน้ำเข้าแล้ว จึงเหลือรักษิตนั่งรออยู่กับรุ่นพี่ที่โต๊ะเพียงสองคน ธีรพัทธ์ถามขึ้น

‘น้องไม่ไปซื้อบ้างหรือ ขนมก็ได้ ที่นี่อร่อยหลายอย่าง’

รักษิตส่ายหน้า เขาเองก็อยากซื้อไปฝากพี่ๆ คนทำงานที่บ้านอยู่หรอก ติดแต่ว่าหลังจากวันนี้เขาคงกลับหอเลยยังไม่ได้ไปบ้าน และตารางเรียนรวมทั้งเวรแน่นจนไม่ได้กลับอีกพักใหญ่ ของจะเสียเปล่าๆ แม่ไม่อยู่อีกแล้ว ส่วนพี่ลภ... พี่ลภไม่ชอบกินขนม

‘ฝากตี๋กับเอ้ซื้อฝากรูมเมตแล้วละครับ’ เขาตอบแค่นั้น และแม้รุ่นพี่อาจจะแปลกใจที่เขาไม่ได้พูดถึงบ้านก็ไม่ได้ถาม กลับเล่าเรื่อยๆ

‘เดี๋ยวน้องๆ กลับกันแล้ว พี่ค่อยไปซื้อของให้พี่สาว... พี่สาวพี่เป็นอัยการอยู่ที่นี่แหละ พอกลับมาเรียนต่อแล้วไปอยู่หอ พี่ก็เอารถมาฝากไว้ ก่อนไปทำงานค่อยมาเอา’

‘พี่สาว...’ รักษิตทวน รุ่นพี่พยักหน้า

‘อายุห่างกันตั้งรอบกว่า เลี้ยงมาเหมือนเป็นแม่เลย พ่อแม่พี่เสียตั้งแต่พี่อยู่ปอหกเอง... ตอนนั้นพี่สาวพี่ก็เรียนจบทำงานแล้ว จบเนติแล้วด้วย สอบเข้าได้ ต้องย้ายมาทำงานที่นี่พอดี พี่ก็เลยย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน...’

เขาจำได้ว่าธีรพัทธ์หัวเราะน้อยๆ ดังจะขำตัวเอง ‘สมัยวัยรุ่นเกกมะเหรกน่าดู ถ้าไม่มีพี่ ไม่รู้จะโตมายังไง’

ธีรพัทธ์หันไปทางรุ่นน้องที่เท้าคางสนใจฟัง บอก ‘จนถึงตอนเรียนหมอ เวลาพี่มีเคสยาก ถึงได้หยุด กลับบ้านมาก็ยังนั่งคิดถึงเคส หรือบางที คนไข้ไม่อยู่แล้ว แต่ยังคิดถึงเคสนั้นอยู่ พี่สาวพี่จะบอกว่า นี่... ถึงทำสำนวนเต็มที่ นำเสนอต่อศาลเต็มที่ ก็ไม่ได้ชนะคดีทุกครั้ง บางที บางเรื่องก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่พอมีคดีใหม่ ก็... เต็มที่อีก’

รักษิตพยักหน้า ไม่ต่างอะไรกันนักกับการทำงานของหมอ รุ่นพี่อาจจะคิดว่าเขายัง ‘จิตตก’ อยู่เมื่อมีคนไข้ตายถึงได้เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง แต่รักษิตรู้สึกว่าเขาจะค่อยๆ เรียนรู้และจัดการไป ไม่ให้รุ่นพี่ต้อง ‘ห่วง’

เขาไหวตัวเล็กน้อยเมื่อธีรพัทธ์เปลี่ยนเรื่องถาม ‘เหมือนน้องเคยพูดว่ามีพี่สาวเหมือนกัน’

รักษิตไม่รู้ว่ารุ่นพี่เก็บความสงสัยไว้ตั้งแต่คราวส่งเวรเมื่อตอนเขายังอยู่ปีสี่ ถึงไม่มีนิสัยชอบขุดคุ้ย แต่เพราะทั้งตอนนั้นและตอนนี้ เมื่อนึกถึงหรือได้ยินคำว่า ‘พี่สาว’ แววตารุ่นน้องจะหม่นเศร้าลง ธีรพัทธ์นึกเสียดายที่มันบดบังประกายสดใสในยามปกติไปเกือบหมด

‘ก็...’ รักษิตถอนใจยาว ‘พี่สาวผมเสียแล้วละครับ ผมเพิ่งขึ้นปีสองได้ไม่นาน ความจริง พวกเรา หมายถึงที่บ้าน... ผมกับแม่ควรจะเตรียมใจ เพราะพี่ก็ป่วยมานาน เราหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ ก็... เกือบจะเป็นอย่างนั้น แต่สุดท้าย...’

ธีรพัทธ์ฟังด้วยความเข้าใจ ถึงรักษิตจะไม่ลงรายละเอียดในตอนนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะใจความสำคัญอยู่ที่นั่น ‘ควรจะเตรียมใจ’ หรือ... ไม่มีใครเตรียมใจรับความตายที่ใกล้จะมาถึงของญาติสนิทได้ง่ายหรอก เพราะหมายรวมถึงการยอมรับว่า จะไม่หาย ไม่ดีดังเดิมแล้ว

กลุ่มเพื่อนเดินคุยกันเฮฮากลับมา รักษิตยิ้มให้เขาน้อยๆ เหมือนมีชิ้นส่วนเรื่องราวที่ได้แบ่งปันกันระหว่างสองคน และธีรพัทธ์ก็ยิ้มตอบ

ส่วนตอนนี้ เมื่อเสร็จจากเตียงคุณป้าผู้อุตส่าห์ชมหมอว่าหล่อและหน้าตาดีแล้ว รุ่นพี่ก็บอกกับเขาว่า

“มาช่วยพี่หน่อย”

รักษิตเดินตามหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านมาที่อีกเตียง คนไข้ใส่ท่อระบายลมจากโพรงปอดอยู่ ได้รับการประเมินว่าน่าจะถอดได้แล้ว

แต่คนที่จะให้ ‘ช่วย’ กลับไม่ยักใส่ถุงมือ ยืนมองเขาเฉยอยู่ รักษิตจึงต้องดำเนินการต่อไปทั้งรู้สึกกดดันหน่อยๆ ทั้งการใส่การถอด เขาก็เคยฝึกแต่กับหุ่นจำลอง เห็นรุ่นพี่ทำกับคนไข้จริงไม่กี่ครั้งเอง

เมื่อจัดท่านอนคนไข้เรียบร้อย รักษิตใส่ถุงมือ เปิดผ้าปิดแผล ทำความสะอาดรอบๆ ตัดไหมที่ติดกับสายท่อ พยายามทวนขั้นตอนในหัวไปด้วย จนปิดแผล บอกให้ผู้ป่วยหายใจเข้าให้สุดและกลั้นไว้ แล้วค่อยๆ ดึงท่อออก โดยใช้อีกมือกดปิดแผลเอาไว้ด้วย

เมื่อท่อหลุดแล้ว เขาจึงบอกให้คนไข้หายใจตามปกติ ปิดพลาสเตอร์ทับผ้าก๊อซ เป็นอันเสร็จ

เขาหันไปมองธีรพัทธ์ รุ่นพี่ยกหัวแม่โป้งสองมือ ยิ้มอย่างที่ทำให้อยากยิ้มตอบกลับมาอีกครั้ง

... ก่อนจะกระซิบว่า “ดีแล้ว แต่ทีหลัง ตอนบอกให้คนไข้กลั้นหายใจ หมอไม่ต้องกลั้นไปด้วยนะ”


ลภกดลิฟต์ลงเมื่อหมดเวลาทำงาน ทั้งๆ ที่รู้สึกล้าไปหมดจากเคสหนักๆ ในวันนี้ของหน่วย แต่ใจก็ยังอดประหวัดนึกถึงคนอีกภาคไม่ได้ วันนี้จะ...

เสียงกระแอมดังขึ้นขัดห้วงความคิดของเขา เมื่อหันไปก็พบอาจารย์จากหน่วยเดียวกันก้าวเข้ามายืนรอลิฟต์ด้วย เขาจึงยกมือไหว้

อาจารย์รับไหว้ แล้วเลยพูดว่า “เจอหมอก็ดี กำลังมีเรื่องอยากคุยด้วย มีผู้บริจาคแสดงความจำนงว่าอยากซื้ออุปกรณ์ให้เรา คุยกับหัวหน้าภาคแล้วก็รังสีฯ เรียบร้อย เครื่องอัลตร้าซาวนด์เครื่องเดิมมันเก่ามาก พอดีเลยได้ซื้อใหม่จากเงินตรงนี้ งบสักสี่ล้านนะหมอ”

เมื่อนั้นลภจึงได้รู้ว่า อาจารย์พูดเรื่องนี้กับเขาทำไม ไม่ใช่การบอกกล่าวกับเฟลโลว์ในหน่วยว่าภาควิชาศัลยศาสตร์กำลังจะมีเครื่องอัลตร้าซาวนด์รุ่นใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นอีกเครื่อง 

แต่บอกให้เขา... จัดหาให้

อาจารย์พูดต่อ “หมอเข้าไปที่บริษัท ก็เอาแคตาล็อกไปทิ้งไว้ห้องพี่หน่อย หรือจะส่งไฟล์มาก่อนก็ได้ ถ้ามี... พี่จะได้ดูสเปคเลย”

อาจารย์ถึงกับเลิกคิ้วอย่างประหลาดใจเมื่อเฟลโลว์ถาม “... ไม่ประกวดราคาหรือครับ”

“คณะไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อ... มีคนอยากซื้อให้ สามีเขาเคยมาผ่าตัดที่หน่วยเรา ได้ผลดี เขาเองก็อยากจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อยก่อนไปต่างประเทศกับสามี พี่ถึงได้บอกหมอ”

แปลว่า ด่วน...

บริษัทยา หรือบริษัทขายเครื่องมือและวัสดุทางการแพทย์จะกัน "เงินสวัสดิการ" ซึ่งเป็นเงินพิเศษ ตามเปอร์เซ็นต์ของยอดการสั่งซื้อเอาไว้ ตามปกติเงินนี้ก็คงเข้าโรงพยาบาล แต่ที่เพิ่มเติมจากนั้นอาจออกมาในรูปแบบของตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม ของขวัญ อะไรก็ได้ ให้กับหมอที่มีส่วนช่วยตัดสินใจสั่งซื้อ เพื่อผูกใจให้เป็นลูกค้าต่อไป

ส่วนนี้ลภไม่เคยยุ่งเลยในบริษัท รู้สึกกระดากที่จะต้องมาคิดหาสินน้ำใจจากเหตุผลเชิงพาณิชย์แถมให้เพื่อนร่วมวิชาชีพ แม้แพทย์บางคนจะเลือกไม่รับก็ตามที จึงยกให้คุณตรีรัตน์จัดการทั้งหมด ดังที่เธอเคยพูดเอาไว้

‘บริษัทอื่นทำกันทั้งนั้น ถ้าเราไม่ทำก็เสียเปรียบ’

แต่ตอนนี้เหตุการณ์ที่เขาพยายามหลีกเลี่ยง คิดว่าจะพ้นเมื่อเข้ามาเรียนต่อเต็มตัวกลับติดตามมาอีกครั้ง ลภได้แต่ยิ้มฝืน ก้าวเข้าไปในลิฟต์พร้อมอาจารย์ ซึ่งยังดึงตัวเขาไว้พูดเรื่องเครื่องอัลตร้าซาวนด์ต่อไป

อย่างน้อย ตอนที่ยังเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอยู่ในที่นี้ เขาก็แค่อยากทำหน้าที่หมอ ไม่ได้อยากขายของ...


ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
บทที่ 7 (ต่อ)

เย็นวันต่อมา พิธานนั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องประชุมเล็กของภาควิชาออร์โธปิดิกส์ ซึ่งในบางครั้งก็กลายเป็นห้องพักแพทย์ด้วยอย่างเย็นนี้ที่อาจารย์นัดแพทย์ประจำบ้านปีสามและสี่เรื่องงานวิจัย ได้ยินเสียงกรองพรคุยแจ้วๆ กับเพื่อนชั้นปีเดียวกันและรุ่นน้อง ทุกถ้อยคำผ่านหูแต่ไม่กระทบสมาธิเขา จนกระทั่งพี่ปีสี่คนหนึ่งเอ่ยว่าได้ผ่าตัดคนไข้ที่ส่งต่อมาจากหน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือดนั่นแหละ

พิธานพยายามทำหูทวนลมตั้งแต่ได้ยินชื่อศัลยแพทย์ และคำชื่นชมว่า ‘งานเนี้ยบ’ อะไรต่างๆ นานา โดยมีกรองพรเป็นลูกคู่สรรเสริญรุ่นพี่ที่เจอกันมาตั้งแต่เธอยังอยู่ปีหก แต่ก็พบว่าตัวเองอ่านหนังสืออยู่บรรทัดเดิมนี้มาห้านาทีแล้ว

คนไข้ที่บาดเจ็บโดยหลอดเลือดและกระดูกเสียหายร่วมกันเสี่ยงจะเสียอวัยวะสูงมากกว่าคนไข้ที่บาดเจ็บแต่หลอดเลือดหรือกระดูกหักร้าว บางกรณีต้องจัดการกระดูกให้อยู่กับที่ในห้องฉุกเฉิน ส่งซ่อมหลอดเลือด แล้วค่อยส่งมาออร์โธปิดิกส์ แต่บางกรณีต้องดูแลทางเดินของเลือดชั่วคราวไว้ก่อน ยึดตรึงกระดูกภายนอกแล้วจึงซ่อมแซมหลอดเลือดอีกที คนไข้บาดเจ็บมาแบบนี้จึงต้องอยู่ในความดูแลของทั้งศัลยแพทย์หลอดเลือดและศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ที่ต้องคุยตกลงลำดับการผ่าตัดกันด้วย

ทำงานร่วมกัน เกี่ยวข้องกันต่อไป...

พิธานถอนใจ เขาก็เคยเฝ้ามองการผ่าตัดของรุ่นพี่แพทย์ประจำบ้านคนนี้ด้วยความทึ่ง และศรัทธา... เฉกเดียวกัน จำได้ถึงการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว สวยงาม ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใด หรือแม้กำลังเย็บปิดอยู่ก็ตาม เฝ้ามอง จนยังเคยพลั้งบอกจากปากตัวเองเลยด้วยซ้ำ

‘... พี่ลภมือสวย’

แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปนานแล้ว หยุดไว้ ณ จุดหนึ่งในความทรงจำ ที่หลังจากนั้นเขาเลือกจะเดินจากมาเพียงผู้เดียว

กรองพรสรุปด้วยน้ำเสียงร่าเริง “เห็นมั้ย เพราะงั้น เราต้องสมานฉันท์กับวาสไว้นะจ๊ะ”

“เมื่อประชุมคราวที่แล้วเจ๊ก็บอกให้สมานฉันท์กับพลาสติก” รุ่นน้องอีกคนท้วงพลางหัวเราะ หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านว่า

“หมด... พลาสติก รีแฮบ เรดิโอ ดมยา เมด...”

“ทั้งโรงพยาบาลแล้วเจ๊” รุ่นน้องคนเดิมว่า แม้จะยอมรับว่าออร์โธปิดิกส์ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับแพทย์อื่นอีกหลายสาขาหากมีคนไข้ที่บาดเจ็บซับซ้อนรุนแรงมา ทั้งศัลยศาสตร์ตกแต่ง เวชศาสตร์ฟื้นฟู รังสีวิทยายิ่งสำคัญจะได้เห็นสภาพความเป็นไปทั้งก่อนและระหว่างรักษาจนหาย ส่วนถ้าจะผ่าตัดก็ต้องปรึกษาวิสัญญีแพทย์ บางกรณีก็รวมอายุรแพทย์ด้วย

“เอ๊า...” กรองพรเสียงสูง “ไม่งั้นลำบากนะ... จำมหากาพย์สงครามศัลย์-ดมยาปีที่แล้วไม่ได้หรือไง คู่กิ่งทองใบหยก รักข้ามภาค ตอนดีๆ กันอยู่มันก็ดีหรอก พอทางใครทางมันเท่านั้นแหละ ศัลย์ขอเซ็ทเคส แป๊บเดียวโดนออฟ ศัลย์บอกด่วน ดมยาบอกรอได้... เป็นไงล่ะ”             

ในห้องพยักหน้ากันอย่างจำได้ดี จากเรื่องส่วนตัว ก็ลามไปเรื่องอื่น เพื่อนสองฝ่ายพลอยทะเลาะกันไปหมดเนื่องเพราะสถานการณ์ทำให้เลือกข้าง ความจริง ถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าเร่งด่วนก็ต้องได้รับการผ่าตัดด่วนอยู่แล้วโดยวิสัญญีเห็นพ้องจากสัญญาณต่างๆ ของคนไข้ แต่บางกรณีที่ขอมา ‘ด่วน’ นั้นก็จะได้สะดวกกับศัลยแพทย์ ไม่ต้องหิ้วเวรค้างเติ่งกันไป ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากวิสัญญี และศัลยแพทย์ควรเข้าใจเช่นกันหากถูก ‘ออฟเคส’ หรือยกเลิก เนื่องจากมีกรณีด่วนกว่าที่ต้องใช้ห้องผ่าตัด

“แล้วเจ๊เองล่ะ...” เสียงกระเซ้าดังขึ้น กรองพรยักไหล่ กับคนอื่นอาจจะดูขัดตา แต่พอเป็นกรองพรก็เก๋เข้ากับบุคลิกของเธอดี

”ไม่รู้ มีแฟนแต่ละคนไม่เคยเป็นหมอ ก็เลยไม่ต้องลำบากใจมาเจอหน้าอีกในแวดวงเดียวกัน”

“สรุปว่า... ออร์โธมีนโยบายสมานฉันท์กับทุกหมู่เหล่า...”

“ถูก โดยเฉพาะวาส เพราะเราไม่ได้มีโอกาสประชุมข้ามภาคกันบ่อยเหมือนกับพวกพลาสติกหรือรีแฮบ” กรองพรบอก ก่อนหันไปหารุ่นน้องที่มีหนังสืออยู่ตรงหน้า “พิธาน...”

คนถูกเรียกเงยหน้าขึ้นมองเป็นเชิงถาม รุ่นพี่หัวเราะ “อ้าว เห็นถอนใจแล้วส่ายหัว พี่ก็คิดว่าเรามีเรื่องอะไรจะแย้งพี่น่ะซี”

“อาจจะเถียงกับหนังสืออยู่ก็ได้พี่เกี้ยว” เพื่อนปีสามอีกคนเอ่ยเป็นเชิงเย้า เขายิ้มนิดๆ

แต่เมื่อกรองพรยังมองอยู่เหมือนจะรอคำตอบ พิธานจึงต้องพูด "ผมแค่คิดว่า... บางที ไม่มีเขา เราก็ต้องทำกันไปให้ได้"

อีกไม่ถึงสองปี เขาก็จะต้องกลับไปทำงานตามที่ได้ทุนมาเรียน โรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ห่างไกล... มีเขาเป็นศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เพียงคนเดียว หรืออาจจะเป็นคนเดียวในระยะรัศมีหลายกิโลเมตร ไม่มีศัลยแพทย์เฉพาะทางซึ่งมักประจำอยู่โรงพยาบาลใหญ่

... และก็คงไม่มี ‘ใคร’ ทั้งนั้นด้วย

กรองพรยิ้ม บอกช้าๆ ดังจะพูดกับเขาเพียงสองคน "แต่ตอนนี้เรายังอยู่ในโรงเรียนแพทย์ มีผู้เชี่ยวชาญให้ปรึกษา ให้ขอความช่วยเหลือ ก็ดีแล้วนี่น้อง”

พิธานไม่อยากเถียงรุ่นพี่ที่เขารู้ว่าหวังดี ในเมื่อพื้นฐานการจะไม่เห็นด้วยอาจมาจากเหตุผลส่วนตัวเกินครึ่ง จึงพยักหน้าพร้อมรับคำ
อย่างน้อย เพื่อคนไข้ เขาก็พร้อมทำงานร่วมรวมทั้งปรึกษาอยู่แล้ว และบอกตัวเองว่า ไม่เกี่ยงจะเป็นใครด้วย

ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ... ก็แค่ ‘ต้อง’ ทำงานร่วมกัน

... อีกแค่ไม่ถึงสองปี

“แล้วนั่นสองคน ทำอะไรกัน”

ประโยคนี้กรองพรหันไปถามรุ่นน้องซึ่งงุบงิบกันอยู่ที่หัวโต๊ะฝั่งตรงข้ามนานแล้ว พิธานก้มมองหนังสืออีกครั้งเมื่อจุดสนใจจากทั้งเพื่อนๆ และรุ่นพี่ย้ายไปสู่ทั้งคู่แทน จนต้องเงยหน้าขึ้นมาอีกเมื่อคนถูกถามตอบเสียงอ่อย

“เอ้อ พอดี... เพื่อนเขาอยากซื้อของ... ค่ะ พี่”

“โอ๊ย... ให้ลงไปก่อนไหมจ๊ะ พวกเธอ อาจารย์กอบมาเห็นเข้าก็โดนดุเท่านั้นหรอก แทนที่จะคิดว่าเดี๋ยวจะตอบเรื่องวิจัยอาจารย์ว่ายังไง หรือไม่ก็มาคุยกับฉันก็ยังดี”

รุ่นพี่ปีสี่ซึ่งรับตำแหน่งหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านอีกคนเดินเข้ามา ทันได้ยินกรองพรพูดกับรุ่นน้องเข้าก็หัวเราะลั่น

“อาจารย์ยังไม่มา หาดาวน์ไลน์เลยหรือน้อง”

“หนูไม่ได้จะเป็นดาวน์ไลน์ แค่ซื้อของมาใช้เฉยๆ” ผู้ซื้อยังอุตส่าห์ประท้วงโดยมีเพื่อนที่นั่งข้างๆ พยักหน้าหงึกหงักว่าไม่ได้จะหาผู้ขายต่อเช่นกัน “จารย์กอบก็เคร่งไปไหนไม่รู้ ขนาดปากกาบริษัทยาแจกยังไม่ยอมใช้”

หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านมองหน้ากัน รู้ดีว่าศาสตราจารย์นายแพทย์กอบชนม์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์นั้นมี ‘หลักการ’ ส่วนตน ท่านไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมงานตามมารยาทอันดีก็จริง แต่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดย่อมรู้ว่าสำหรับตัวท่านเองแล้ว อะไร ‘ได้’ หรือ ‘ไม่ได้’

“แต่ใครจะใช้อาจารย์ก็ไม่ได้ว่า ตอนจะเซ็นชื่อหรือเขียนคำสั่งในวอร์ด หาปากกาเขียนติดได้ก็บุญแล้ว” กรองพรบอก จนแพทย์ประจำบ้านปีสามที่เย้าเรื่องพิธานทะเลาะกับหนังสือเอ่ยขึ้น

“พกปากกาติดกระเป๋าเสื้อแบบอาจารย์เลยสิ... ไม่ต้องเป็นพรีเซนเตอร์”

“อาจารย์บางคนก็เอาไปให้ลูกหลานใช้น่ะ... จะได้ไม่เสียของ ดีเทลยามาทีของกองพะเนิน ดินสอปากกา แฟ้ม อยู่ในมือเด็กประถมกับอาจารย์หมอก็ไม่เหมือนกันแล้ว คนเห็นเข้าในโรงเรียนจะรู้จักชื่อบริษัทยาสักกี่คน” หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านที่เพิ่งเดินเข้ามาใหม่ว่า “นี่เห็นใจน้องๆ นะไม่ใช่ไม่เห็นใจ บางคนเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ภาระค่าใช้จ่ายมันเยอะ เดนท์ที่รับจ๊อบตามโรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่ปีหนึ่งก็อะลุ้มอล่วยกันไปแล้ว ตราบใดที่งานในหน้าที่ไม่เสีย”

“พี่จำรุ่นพี่คนหนึ่งได้ไหมที่เราเคยไปตามกันอยู่ที่โอพีดี” กรองพรเอ่ยถามกลั้วหัวเราะ “ตอนจะเรียกคนต่อไปมาเลยเพราะคนไข้ยาวเป็นกิโล ชีบอกแป๊บนึง ขอสองนาที”

รุ่นน้องฟังกันอย่างสนใจ ส่วนคนถูกถามหัวเราะหึๆ บอกว่าจำได้ กรองพรจึงเล่าให้น้องๆ ฟังต่อ

“ชะโงกหน้าเข้าไป ชีจ้องตารางหุ้นอยู่จ้ะ แหม... แต่พอคนไข้เข้ามาหลังสองนาทีนั่นแล้วชีก็สนใจคนไข้เต็มที่เหมือนกัน สุดท้ายมันก็วกกลับมาเรื่องแบ่งเวลาอีกนั่นแหละ ทีหลังช่วยดูตอนพักก็จะดีหรอก”

รุ่นน้องพากันหัวเราะ แต่เรื่องเล่านี้ก็แฝงไปด้วยความจริงที่ว่าเงินเดือนช่วงกลับมาเรียนต่อนั้นน้อยนิดเหลือเกินพอๆ กับค่าเวร สำหรับแพทย์ที่มีภาระค่าใช้จ่ายทางบ้าน หรือมีครอบครัวต้องเลี้ยงดูแล้ว ก็ได้แต่กระเสือกระสนหางานพิเศษทำกันไป ไม่ว่าจะเป็นการรับเวรนอก หรือทำธุรกิจอื่นก็ตามที เพียงแต่ตอนทำหน้าที่แพทย์ต้องไม่เสียจรรยา เช่นจะขายของคนไข้ก็ขายด้วยความยินยอมพร้อมใจของคนซื้อ ไม่ใช่อ้างว่าเพราะเป็นหมอจึงรับรองคุณภาพได้ เป็นต้น

“คิดแล้วก็อิจฉาคนตัวเปล่าอย่างพิธานเหมือนกันเว้ย” เพื่อนปีสามคนเดิมยังพูดต่อ “ไม่ค่อยเห็นซื้ออะไรด้วย เก็บเงินตอนใช้ทุนได้เยอะเลยสิท่า”

คนถูกพาดพิงตอบทั้งๆ ก้มอ่านหนังสือ “ก็มันไม่จำเป็น... แต่บางคนคงได้โอกาสทางธุรกิจตอนมาเรียนต่อ”

เพื่อนๆ และรุ่นพี่คนอื่นหัวเราะอย่างไม่เห็นเป็นเรื่องเป็นราวอะไร มีแต่กรองพรเท่านั้นที่ยังมองรุ่นน้องอยู่ พิธานไม่ได้สะสมทรัพย์ ไม่ได้แสวงหาความร่ำรวย อย่างตอนเรียนทำงานพิเศษในมหาวิทยาลัยอยู่บ้างเพื่อช่วยค่าใช้จ่าย แต่พอเรียนปีสูงๆ ซึ่งต้องทุ่มเทเวลามากขึ้น อาจารย์ที่ปรึกษาก็ช่วยเขียนจดหมายรับรองทุนเพิ่มจากคณะให้ เพื่อที่เด็กเรียนดีอย่างลูกศิษย์จะได้ไม่ต้องเบียดบังเวลาอ่านหนังสือ หากใช้จ่ายอย่างประหยัด

เรื่องลภมีตำแหน่งสำคัญอยู่ในบริษัทเครื่องมือแพทย์นั้นเธอก็รู้ แต่ไม่คิดว่ารุ่นพี่จะอาศัยการเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดในตอนนี้หาผลประโยชน์เข้าตัวอย่างนั้น ขณะคนอื่นในห้องพูดคุยกันด้วยเรื่องสัพเพเหระหรือบางคนก็ก้มทวนเอกสารวิจัยของตนเอง เธอก็ถามเบาๆ

“หมายถึงใครหรือ”

พิธานไม่ตอบ เขาก็แค่... เผอิญอยู่ในห้องเตรียมผ่าตัดตอนที่อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์สองคนเดินคุยกันเข้ามาด้วยเรื่องซื้อเครื่องอัลตร้าซาวนด์ใหม่จากเงินบริจาค เงินเป็นก้อนซึ่งติดต่อบริษัทเครื่องมือแพทย์เพียงเจ้าเดียวที่มี ‘ตัวแทน’ อยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว

แต่กรองพรไม่ได้ยินเหมือนที่เขาได้ยิน

จู่ๆ พิธานก็รู้สึกเหนื่อยขึ้นมา เขาเองก็เคยศรัทธาฝีมือ อุดมการณ์ หัวใจ... ของแพทย์คนที่กรองพรนับถือ เขารู้ว่าหมอทุกคนไม่เหมือนกัน การตัดสินใจในชีวิตย่อมต่างกัน ไม่ผิดอะไรเลยที่หมอหลายต่อหลายคนจะเลือกทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย เน้นงานวิจัยมากกว่ารักษา ออกจากราชการไปทำโรงพยาบาลเอกชนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า หรือแม้กระทั่งเลิกเป็นหมอไปทำอย่างอื่นโดยสิ้นเชิง

เขาไม่อาจล่วงรู้แรงกดดันหรือเงื่อนไขในชีวิตของเพื่อนร่วมวิชาชีพทุกคนได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ได้คาดหวังหรือโทษใครทั้งนั้นเมื่อธีรพัทธ์เล่าให้ฟังในบางคราวว่า ‘เพื่อนคนนั้นออกจากราชการไปแล้ว’ หรือ ‘พี่คนนั้นเลิกเป็นหมอไปทำธุรกิจที่บ้านแทน’ หรือ... อะไรก็ตาม

พิธานตระหนักดี เอาคำว่าอุดมการณ์มาตัดสินเพื่อนร่วมวิชาชีพไม่ได้ ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นบางคนมีสิทธิ์จะเห็นว่าเขาต้อง ‘ใช้ทุนดักดานอยู่บ้านนอก’ หลังเรียนจบเฉพาะทาง ไม่เคยได้ไปเปิดหูเปิดตาที่เมืองนอกเมืองนาอันเป็นโอกาสงาม เขาก็มีสิทธิ์จะไม่เห็นด้วย และกลับไปทำงานในที่ที่ให้ทุนมาเรียนอย่างที่ตั้งใจไว้ดังเดิม โดยไม่ต้องยกตัวว่ามี ‘อุดมการณ์’ มากกว่าใครด้วย ก็แค่... เป็นการตัดสินใจของเขาเท่านั้นเอง

เขาไม่คาดหวังกับใคร กับคนอื่นเขาไม่ติดใจเลย เพียงแต่... เขาเคยคาดหวังกับหมอคนหนึ่ง หมอคนเดียวที่คิดไปเองว่าเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของกันและกัน และจึงจะเข้าใจ... ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยเช่นกัน

กลายเป็นว่าเขาก็ยังไม่เข้าใจอะไรเลยสักอย่าง

และอาจจะไม่อยากเข้าใจอีกแล้ว


หลังคุยเรื่องงานวิจัยกับอาจารย์เสร็จ แพทย์ประจำบ้านปีสามและสี่ต่างเก็บของกันออกจากห้องเพื่อกลับไปทำงานในเวร ถ้าไม่มีเวรก็กลับไปพักผ่อนเสียที กรองพรหอบหนังสือกำลังจะออกไป เห็นคนเดินสวนเข้ามาเร็วๆ ก็ร้องทัก

“อ้าวน้องพัทธ์ วันนี้มาถึงนี่”

ธีรพัทธ์ทำความเคารพรุ่นพี่ กรองพรเย้าขึ้นอีก

“เยินเชียวนะวันนี้”

“วันนี้วอร์ดยุ่งน่ะครับ” รุ่นน้องตอบ “แต่ผมส่งเวรแล้ว แวะมาหาพิธาน ได้ยินว่าอยู่แถวนี้”

กรองพรพยักหน้า “เก็บของอยู่แน่ะ... พี่ไปก่อนนะ”

ธีรพัทธ์ก้าวเข้ามาในห้อง พิธานลุกขึ้นแล้ว มองด้วยความประหลาดใจที่เห็นเพื่อนทิ้งตัวลงกับเก้าอี้ สองแขนเหยียดยาวไปบนโต๊ะพร้อมกับคราง

“ปวดหลัง...”

คนเป็นเพื่อนถอนใจ “ไปหาหมอออร์โธสิ”

ธีรพัทธ์มองเหมือนจะบอก ‘ก็นี่ไงหมอออร์โธ’ พิธานเคยบอกแล้วว่าเขายังไม่จบ ยังไม่ได้บอร์ด ไม่มีอะไรทั้งนั้น แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาแบบนี้ธีรพัทธ์ก็ยังมาอยู่ดี

เขาจึงได้แต่วางของลงแล้วเริ่มถาม “ไม่มีไข้?”

ความจริงก็ควรต้องวัด แต่เขาคิดว่าอย่างน้อยหมออายุรกรรมน่าจะรู้ว่าตัวเองมีไข้หรือไม่มีกระมัง

ธีรพัทธ์ส่ายศีรษะ

“ร้าวไปตรงไหนไหม”

เท่าที่รู้ธีรพัทธ์ไม่มีโรคประจำตัวอะไร พิธานถามอย่างซักประวัติต่อไปอีกจนเพื่อนบอกว่า “จู่ๆ มันเป็นขึ้นมาเลย”

‘หมอ’ ลองให้ยืนเอี้ยวตัวไปมา ปรากฎว่าไม่ได้เจ็บมากกว่าเดิม เขาทุบลงไปข้างๆ แนวสันหลัง ไม่เบาไม่แรงนัก ธีรพัทธ์ร้องโอ๊ย แต่ต่อมาก็บอก “... เหมือนดีขึ้นหน่อยนึงแฮะ”

เสียงแว่วจากหน้าห้องที่เปิดประตูแง้มไว้ พิธานเห็นเงาชุดสีขาวไวๆ น่าจะเป็นพยาบาล เอ่ยว่า “อาจารย์ให้หมอรอในนี้ค่ะ เดี๋ยวอาจารย์มา ติดเคสอยู่”

ธีรพัทธ์หันไปมองเมื่อได้ยินเสียงผลักประตู เป็นคนที่เขาไม่คาดว่าจะเห็นในที่นี้ อึ้งไปพักหนึ่งก่อนจะผงกศีรษะให้ เพราะอย่างไร อีกฝ่ายก็เป็นรุ่นพี่

ลภพยักหน้ารับ แต่สายตาจับอยู่ที่อีกคน

ธีรพัทธ์ลอบมองเพื่อน เห็นเพียงสีหน้าเรียบเฉย เขาที่ไม่เคยขัดเขินอะไรกับการตั้งต้นบทสนทนา กลับหาอะไรมาเริ่มประโยคไม่ได้ ตั้งแต่จบปีหก เขาก็ไม่ได้เจอทั้งคู่อีก แต่บรรยากาศครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นก่อนไปใช้ทุน... ไม่ใช่อย่างนี้แน่ ตอนนั้น ทั้งลภและพิธานไม่ต้องพูดกัน หรือแม้กระทั่งอยู่ใกล้กันก็ได้ แต่ก็ทำให้เขาซึ่งไม่มีใครถึงกับเหงาแปลบขึ้นมาได้ทุกทีนั่นแหละ

ต่างจากตอนนี้... แม้อยู่ในห้องเดียวกัน แต่ก็เหินห่างชัดเจน

พิธานยืดตัวขึ้น บอกเพื่อนว่า “ไปเถอะ อาจจะต้องใช้ห้อง”

“เอ้อ...” ธีรพัทธ์ลุกขึ้นตาม บอก “จริงๆ ไม่ถึงกับต้องเต็มรูปแบบ...”

ลภมองคนที่รวบหนังสือเอกสารขึ้นมาลวกๆ โดยไม่ยอมมองเขา ก็ ‘เต็มรูปแบบ’ ของการตรวจออร์โธปิดิกส์นั่นน่ะคนถูกตรวจต้องถอดเสื้อผ้าออกหมด เหลือไว้ชิ้นเดียวเท่านั้นแหละ... จะได้ดูทั้งสันหลังสะโพกขาให้ละเอียดเพื่อหาความผิดปกติ

หลังจากวันนั้นไม่ใช่เขาไม่เห็นหน้าอีกฝ่าย แต่ก็เจอต่อหน้าคนอื่น ซึ่งพิธานคงมีข้ออ้างอย่างดีในการจะไม่พูดกับเขาโดยตรง ในหมู่ผู้คนก็คงไม่มีคนผิดสังเกตอะไร

แต่ตอนนี้ เขาคิดว่า ‘เพื่อนสนิท’ คนนี้คงรู้แล้ว

เรื่องพิธานอยากตรวจ ‘คนไข้’ อย่างไรนั้นก็ช่างเถอะ ถ้าเพียงแต่อีกฝ่ายจะแสดงให้เขารู้สักเล็กน้อยว่ายังสนใจความรู้สึกนึกคิดของเขาบ้าง...

ลภก้าวตามคนที่เดินนำเพื่อนออกไปจากห้อง อีกฝ่ายเดินลิ่ว ส่วนอาจารย์ที่นัดเขาเพื่อดูเคสคนไข้ก็สวนเข้ามาพอดี ถึงกับทักอย่างประหลาดใจ “อ้าว หมอจะไปไหน นี่เราไม่ค่อยมีเวลานะ”

ลภมองแฟ้มประวัติคนไข้ในมืออาจารย์

ในเวลางานของหมอ... คนไข้สำคัญที่สุด


ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
บทที่ 7 (ต่อ)

พ้นออกจากห้องประชุมมานอกวอร์ด ยังไม่ทันต้องเข้าห้องตรวจอะไร พิธานก็พูดเร็วๆ ว่า “พัก ประคบเย็น ถ้าไม่ดีขึ้น จะเขียนชื่อยาคลายกล้ามเนื้อให้”

ธีรพัทธ์มองเพื่อน จากที่ดูกันไปเมื่อกี้เขาก็เริ่มรู้ว่าถ้าเป็นปัญหากระดูกหรืออะไรลึกๆ ละก็ ทุบอย่างไรก็ไม่มีทางรู้สึกดีขึ้นมาได้ อาการบ่งชี้ว่าเป็นกล้ามเนื้อมากกว่า แต่ตอนนี้เรื่องที่ติดใจไม่ใช่เรื่องหลังตัวเองแล้ว

”เมื่อกี้มันเกิดอะไรขึ้น เล่นเอาไปไม่ถูก”

พิธานนิ่ง ธีรพัทธ์ถอนใจ ในช่วงเวลาสามปีที่เขาไม่เจอพิธาน เกิดอะไรขึ้นบ้าง... สิ่งเดียวที่เขายังรักษาไว้ได้คือมิตรภาพ กับคนอื่น มิตรภาพแบบที่ไม่เข้าไปล่วงรู้เรื่องราวส่วนตัวอาจจะทำให้ ‘มิตร’ ห่างเหินจากกัน... แต่พิธานก็เป็นคนแบบนี้ ถ้าสอดแทรกมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเจ้าตัวยังไม่พร้อมสิ จะยิ่งถูกกันให้ห่างออกมาอีกมากกว่า

เท่าที่เห็นผ่านมา ธีรพัทธ์ก็พอประมวลได้แล้วว่า... ไม่เหมือนเดิม

ถ้าเป็นสัก... แปดปีก่อน เขาอาจจะดีใจก็ได้ ดีใจที่อาจจะมีโอกาส แต่ตอนนี้ที่เห็นคือ สิ่งที่ ‘ไม่เหมือนเดิม’ นั้น ไม่ได้ทำให้เพื่อนมีความสุขขึ้นเท่าไรเลย

พิธานพูดกับเขาแค่ว่า “บางทีมันก็ไม่ใช่อย่างที่คิดว่าใช่ เท่านั้นเอง”

เป็นคำตอบที่ธีรพัทธ์รู้สึกว่า... กันลภออกจากความผิดหรือการกล่าวโทษที่เขาอาจจะอยากให้มี กลายเป็นเรื่องของคนสองคน และความผิดหรือการกล่าวโทษนั้นถ้าจะมี พิธานก็คงพิจารณาเอง ไม่ใช่หน้าที่คนอื่น

“เอ๊อ... ไปหาคนนวดดีกว่า” ธีรพัทธ์เปรย ไม่อยากคาดคั้นอะไรมากไปกว่านั้น “เมื่อกี้พอทุบๆ แล้วสบายดีเหมือนกัน”

“ที่ต้องเปลี่ยนคือนิสัยการทำงาน ไม่อย่างนั้นก็เคยตัว” ตามเคย ถ้าเป็นเรื่องอาการความเจ็บป่วย พิธานอดตอบไม่ได้ “ชินต้องนวด พอไม่ได้นวดก็ปวดกว่าเดิม ไม่อยากให้ใช้ยาแก้ปวดพร่ำเพรื่อ”

เคยตัว... และถ้าไม่มีอย่างที่เคยมี ก็จะทรมานมากทีเดียว


เช้านี้เป็นเช้าที่ไม่สดใสเอาเสียเลยสำหรับนักศึกษาแพทย์ปีห้าสองคน ศิวัชกับรักษิตเจอกันในห้องน้ำสุดปลายทางเดินของหอพักประมาณห้ารอบได้แล้วเมื่อคืน และลากสังขารลงมานั่งมองข้าวต้มในตอนเช้าตรู่ด้วยความโทรมสุดขีด

ศิวัชคนข้าวต้มไปมา ผิดวิสัยปกติที่เจริญอาหารได้ตลอด บ่น “พะอืดพะอมว่ะ... อยากอ้วก”

“หอยดองเลย” รักษิตว่า เขาไม่ได้กินเข้าไปมากเท่าเพื่อน แต่ขนาดนั้นก็ยังต้องไปเข้าห้องน้ำพอๆ กัน ไม่อยากคิดว่าถ้ากินมากกว่านี้อาการจะขนาดไหน

เมื่อคืนศิวัชมาเคาะห้องเขาชวนไปกินข้าวตอนสามทุ่ม ความจริงรักษิตเรียบร้อยตั้งแต่หกโมง แต่หลังจากอ่านหนังสือไปพักก็หิวขึ้นมาอีกเหมือนกัน ถ้าอนันต์อยู่คงจะลงไปกินด้วย แต่นี่รูมเมตกลับบ้าน เพื่อนร่วมห้องรักษิตเองก็มีเวรทั้งคู่

‘หิวโคตรๆ เหมือนวันนี้ไม่ได้กินข้าว’ ศิวัชว่า ท่าทางหิวโซเหมือนที่บอก แล้วยังเร่งเขา ‘เอ้า เดินเร็วๆ สิ’

‘แล้วกินหรือยัง ตั้งแต่กลางวันน่ะ’ รักษิตอดถามไม่ได้

เพื่อนกลับลังเล ‘เออ... กินยังวะ’

‘อาการหนักแล้วนะตี๋’

ศิวัชบ่นทำนองว่าวอร์ดยุ่งจนลืม พอถึงร้านก็โซ้ยไม่สนใจใคร พอตกดึกเท่านั้นแหละ...

“ทำไมเราซวย” ศิวัชครวญ หลังจากกินข้าวต้มไปได้ครึ่งชามและวิ่งเข้าห้องน้ำไปอาเจียนจนได้ “ร้านนี้คนอื่นกินไม่เห็นเป็นไร เรียนหมอแล้วร่างกายอ่อนแอ”

รักษิตคร้านจะตอบ เขาให้เพื่อนนั่งรอหน้าตึก ส่วนตัวเองโทรหาเกตุวดีขอยาจำเป็นพวกยาธาตุ ผงเกลือแร่เตรียมไว้ก่อน ถ้านักศึกษาแพทย์จะเบิกยา ต้องไปผ่านแผนกผู้ป่วยนอกตามปกติ การ ‘ขอยาเกด’ ซึ่งเจ้าตัวแทบจะเป็นตู้ยาสามัญเคลื่อนที่จึงเป็นสิ่งจำเป็นในยามเร่งด่วน

ศิวัชบอก “เหมือนจะไข้ขึ้น”

รักษิตรีบกรอกเสียงลงโทรศัพท์ “พาราด้วยนะเกด”

ไม่ช้าไม่นานเกตุวดีก็เดินแกมวิ่งจากหอหญิงมาหา ดูสภาพทั้งคู่แล้วต้องถาม “ไหวไหมนี่ ลาไหม”

“ไหว!” ศิวัชที่หน้าซีดเซียวรับปรอทแบบใช้แล้วทิ้งจากเพื่อนมาวัดตัวเอง สรุปว่ามีไข้จริงเลยกินพาราก่อน “ตอนนี้ขาดไม่ได้!”

‘คะแนนขยัน’ นั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องเดียว ที่ ‘ขาดไม่ได้’ นั้นน่าจะมาจากภาระความรับผิดชอบในหน้าที่ต่างหาก

รักษิตถอนใจ บอกว่าตอนเย็นเจอกันที่เดิมเผื่อไม่ใครก็ใครต้องหิ้วกันกลับหอ ก่อนจะแยกย้ายขึ้นวอร์ด

... และแวะเข้าห้องน้ำเสียอีกทีหนึ่ง

เขาโผเผเข้าไปในวอร์ดอายุรกรรม เวียนหัวเต็มทีแต่ก็พยายามจิบน้ำไปเรื่อยๆ หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านประจำสายไปดูไอซียู พี่ปีสองจึงนำราวนด์แล้วอาจารย์มาตรวจอีกทีหนึ่ง รักษิตเดินลากเท้ารั้งท้าย ไม่มีคนสนใจเขานอกจากอนันต์ที่กระซิบถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ผ่านวันนั้นมาได้ อนันต์ติดคุยเรื่องรายงาน รักษิตจึงเดินลงมาเจอศิวัชนั่งหมดสภาพอยู่ที่ใต้ต้นหูกวาง บอกเสียงแหบ

“แย่”

รักษิตทรุดตัวลงนั่ง “ผงเกลือแร่ให้ละลายใส่ขวดน้ำ กินหรือเปล่า”

“ก็... กิน... แต่มันอ้วก” เพื่อนว่า “เวียนหัวว่ะ ปากแห้งไปหมด”

“เออ ไม่ไหวแล้วล่ะ” รักษิตบอก พยุงเพื่อนขึ้น

นอกเวลาราชการไปแล้ว ก็มีแต่ห้องฉุกเฉิน ถ้าถ่ายท้องและอาเจียนแบบนี้ ที่ต้องระวังก็คืออาการขาดน้ำ เวียนหัว ปากแห้ง หน้ามืด อย่างที่ศิวัชเป็น เขายังคิดว่าตัวเองไหว... เอาเพื่อนไปส่งก่อน

ย่างเข้าไปในห้องฉุกเฉิน ยังไม่ถึงกับแออัดมาก พี่เอ็กซ์เทิร์นเคยบอก ‘อุบัติเหตุหนักมักมาหลังเที่ยงคืน’ แต่ก็มีคนคับคั่งพอสมควร นักศึกษาแพทย์ใส่เสื้อกาวน์ยาวสองคนยืนอยู่โดยไม่มีใครสนใจ

“เขียนประวัติกันก่อนแล้วกัน” รักษิตตัดสินใจ พยุงเพื่อนไปนั่งเก้าอี้ไม้ข้างๆ “ไหวไหมตี๋”

เสียงเก้าอี้ล้มโครม เพื่อนคว่ำลงไปแล้ว รักษิตตามไปหอบหิ้วขึ้นมา นักศึกษาแพทย์สองคนยืนยักแย่ยักยันกันอยู่

เมื่อนั้นในห้องฉุกเฉินถึงได้รู้ว่า... หมอก็จะมาหาหมอนี่

“โทษที หน้ามืด” ศิวัชยังอุตส่าห์บอกเขา ก่อนจะได้ขึ้นเตียง และให้น้ำเกลือ

ประโยคสุดท้ายที่เพื่อนบอกก่อนหลับไปด้วยความเพลีย คือ

“ถ้าอยู่ในปางทรงกาวน์นี่นะ... ห้ามสาย ห้ามพลาด ห้ามป่วยด้วย... ถ้าจะตายก็ตายเลย”

ท้ายประโยคเบาลงไปเรื่อยๆ รักษิตตบหลังมือเพื่อนข้างที่ไม่มีสายน้ำเกลือ นึกถึงเรื่องที่รุ่นพี่เล่าให้ฟังว่าถ้ายังลุกได้ ก็ต้องลุกมาราวนด์ได้ มีหมอลากสายน้ำเกลือหรือไม้ค้ำยันราวนด์มาแล้ว พูดกับเพื่อนๆ กันว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือรุ่นพี่เพียงแต่เล่าให้เกินจริงเพื่อให้รุ่นน้องเห็นภาพความเสียสละที่หมอควรจะมี

เขาคิดว่า อาจจะไม่ไกลจากภาพความจริงนัก

คิดว่าจะบอกให้เพื่อนผู้หญิงรู้ แต่เหนื่อยเพลียเต็มทีเหมือนกัน ปกติงานในวอร์ดก็หนักอยู่แล้ว ถ้าสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ยิ่งเหนื่อยหนักอีกเป็นทวีคูณ ระยะทางที่เขาต้องเดินกลับหอดูจะไกลเหลือเกินในเวลานี้

รักษิตนั่งลงที่เก้าอี้ข้างเตียงเพื่อน เตียงที่ศิวัชนอนอยู่มุมในสุดติดกับผนังห้อง ไม่ค่อยวุ่นวายเท่าไรนัก คิดว่าจะงีบเสียหน่อย ตื่นมาดูว่าเพื่อนเป็นอย่างไร แล้วค่อยเดินกลับ พรุ่งนี้หยุด เขาคงตื่นสายได้เล็กน้อย...

มารู้สึกตัวเมื่อได้ยินเสียงเรียกห่วงใย “ษิต... ษิต... มานอนอะไรตรงนี้ กลับบ้าน พี่ไปส่ง”

รักษิตยันตัวขึ้นจากเก้าอี้ไม้แข็งด้วยความเมื่อยขบ เห็นดวงหน้าพร่าเลือนแต่แล้วค่อยชัดเจนขึ้น เขาเรียกเบาๆ “พี่ลภ...”

ปิดเทอมก่อนขึ้นปีสามเขาเคยไม่สบาย นอกจากแม่ก็เห็นแต่หน้าหมอลภ ทั้งๆ ที่จบศัลย์ แต่รักษาและอยู่เฝ้าไข้เลือดออกของเขาเองจนหาย

“เดินไหวไหม”

รักษิตพยักหน้า แต่ก็ยอมให้อีกฝ่ายจับต้นแขนพยุงขึ้นมา เหลือบมองไปทางเตียง ถามว่า “เพื่อนษิต... ไปไหนแล้ว”

“คนที่ตี๋ๆ ขาวๆ หรือเปล่า พี่เข้ามาสวนกัน เห็นญาติมารับไปแล้ว ปู่เขามั้ง”

รักษิตเพิ่งระลึกว่าได้ยินเสียงเพื่อนเรียกแหบๆ เบาๆ อยู่เหมือนกัน คงบอกว่าจะกลับแล้วเขาจะได้ไม่ต้องห่วง แต่ด้วยความเพลียที่สะสมมาเขาจึงยังตื่นไม่เต็มตา นี่คงมีคนโทรหาผู้ปกครองให้ ของเขาใส่ชื่อไว้สองคน แม่กับหมอลภ... โทรไม่เจอแม่อีกตามเคย

“กลับบ้านกัน”

“คืนนี้พี่ลภจะค้างที่บ้านไหม”

รักษิตถาม แล้วก็กลัวคำตอบปฏิเสธ เขาแค่อยากเห็น ‘ครอบครัว’ ของเขากินข้าวพร้อมหน้ากันบ้าง พรุ่งนี้วันหยุด แต่แม่อาจจะไม่หยุด พี่ลภก็อาจจะมีงานเหมือนกัน

“ถ้าษิตป่วย พี่ก็ต้องอยู่สิ” เป็นคำตอบอย่างไม่ลังเลเลยสักนิดเดียว


ธีรพัทธ์ถูกตามตัวมาดูคนไข้ที่ห้องฉุกเฉิน ความจริงก็ควรจะตามลำดับชั้น แต่ปีสองเกิดตามตัวไม่ได้ จึงต้องหาหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านเพราะอาการคนไข้ค่อนข้างหนักด้วย เขาเกือบจะกลับออกไปแล้วถ้าไม่เห็นรุ่นน้องในสายกำลังเดินช้าๆ มาที่ประตู โดยมีรุ่นพี่เมื่อสมัยเขายังเรียนตามมา แต่จากท่าทางก็พอจะรู้ว่า ดูอยู่ทุกย่างก้าว

ธีรพัทธ์เดินเข้าไปหา ผงกศีรษะให้รุ่นพี่นิดหนึ่ง แต่ความสนใจอยู่ที่รุ่นน้อง “เป็นอะไรหรือเปล่า... หน้าซีด”

“อาหารเป็นพิษนิดหน่อยน่ะครับ” รักษิตตอบ “ไม่เป็นไรมาก พี่ลภกำลังจะไปส่งที่บ้าน”

ธีรพัทธ์อดขมวดคิ้วไม่ได้ เขาไม่รู้และไม่แน่ใจในความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ญาติหรือ... ห่างเกินไปที่จะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่รู้จักกันในโรงเรียนแพทย์ หรือว่าเกี่ยวดองทางอื่น หรือผู้บริหารที่ได้รับความไว้วางใจไปส่งลูกชายเจ้าของบริษัท?

“พี่ลภเป็น... เป็นพี่ผม” รุ่นน้องยังบอกเมื่อเห็นเขาเงียบไป “แต่ตอนนี้มาเรียนต่อ... พี่ลภ พี่พัทธ์นี่ไงที่ษิตเคยเล่าให้ฟังว่า...”

“ไปกันเถอะ ษิตจะได้พัก” ลภตัดบท

“นอนที่นี่ไหม คืนหนึ่ง มีหมอ...” ธีรพัทธ์กำลังจะพูดต่อว่า และเขาก็จะมาดูเป็นระยะ ถึงแม้รักษิตต้องใช้เตียงในห้องดูอาการในห้องฉุกเฉินไปก่อน

“ที่บ้านก็มีหมอ” รุ่นพี่พูดด้วยเสียงเดิม ธีรพัทธ์ขยับจะพูด พอดีเสียงข้อความดังขึ้น

“เอ๊ะ พิ...”

ลภมองเขาทันที นางพยาบาลในห้องฉุกเฉินคนหนึ่งวางหูโทรศัพท์ กวาดสายตามอง เมื่อเห็นหมอที่ตามอยู่ก็รีบเดินมาหา

“ออร์โธได้ยินเสียงตามหมอธีรพัทธ์มาห้องฉุกเฉิน เลยโทรมาว่าถ้าหมอเสร็จเคสแล้วอย่าลืมประชุมค่ะ หมอพิธานฝากบอกว่าสำคัญ ไม่นาน”

ธีรพัทธ์เพิ่งนึกได้ว่าตัวเองลืมเสียสนิทเรื่องประชุมข้ามภาควิชา ซึ่งเป็นของใหม่เพราะปกติออร์โธปิดิกส์ประชุมบ่อยอยู่กับรังสีวิทยา พยาธิวิทยา และเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีศัลยศาสตร์ตกแต่งบ้าง แต่ศาสตราจารย์นายแพทย์กอบชนม์เห็นว่าการดูแลคนไข้ก่อนหลังผ่าตัดก็สำคัญ ควรให้อายุรกรรมส่งตัวแทนมา โดยเฉพาะหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

เขารู้ว่าเพื่อนไม่ใช่คนที่สักแต่ว่าตามๆ ตัวพอให้มีคนนั่งในห้องประชุม ถ้าไม่ ‘สำคัญ’ จริงอย่างที่บอก พิธานเห็นการดูคนไข้มาก่อนการประชุมด้วยซ้ำ

... ความจริงอีกอย่างก็คือ ถ้าพิธานเรียก เขาไม่เคยไม่ไปมาก่อน

ธีรพัทธ์ได้แต่บอก “เดี๋ยวก็หายแล้วนะ จะได้มาช่วยพี่ต่อ”

รุ่นน้องยิ้มให้เขา จนธีรพัทธ์เดินออกไปแล้ว จึงได้ค่อยๆ เดินต่อโดยมีลภตามหลังมาเหมือนเคย

“แล้วพี่ลภไม่ต้องประชุมหรือ เหมือนตามหลายภาค” รักษิตมานึกได้เมื่อขึ้นรถ ไม่อยากให้อีกฝ่ายเสียงาน

"เขาไม่ได้ตามพี่" ลภตอบราบเรียบ ก่อนจะสตาร์ทรถ

เมื่อเหลือบมองอีกครั้งก็พบว่ารักษิตเอนพิงพนัก หลับตาลงแล้ว รถติดไฟแดง เขาวางมือข้างขวาบนพวงมาลัย เอื้อมอีกข้างไปลูบศีรษะคนข้างตัวแผ่วเบา

พี่สาวของรักษิต... รสริน ผู้หญิงสาวที่ควรจะได้ชื่นชมกับชีวิต ไม่ต้องทนกับอาการเจ็บป่วยที่ทำให้เธอไม่สามารถใช้มันอย่างใจหวังได้แม้เกิดมาพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง พรข้อเดียวที่ไม่ได้ คือสุขภาพที่แข็งแรง...

ถ้าน้องชายคนเดียวที่เธอฝากเอาไว้ป่วยไข้ลง ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ลภก็ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องดูแล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง สำหรับครอบครัวพิพิธนันท์


ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
คุณ iforgive จะทำให้ดีขึ้นโดยที่อีกคนไม่ค่อยร่วมมือได้หรือเปล่าน้า

คุณภาณุเมศพลัง ขอบคุณมากค่ะที่รออ่านนะ พี่ลภแกก็ไม่เข้าใจเหมือนกันแหละถึงได้พูดออกไปแบบนั้น ตอนนี้งานก็ยังยุ่งอยู่ แต่ก็แฮปปี้ที่ได้เขียนก็จะพยายามเขียนต่อไปเรื่อยๆ พิธานมีอิเมจเป็นเม่นไปซะแล้ว 555 เม่นน่ารักอยู่นะ

คุณ malula ขอบคุณมากสำหรับการอ่านค่ะ คือคนมันไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดกันเลยนี่สิ พิธานก็อาจจะคิดว่าให้มันจบๆ ไปดีกว่าก็ได้นะ เป็นเพื่อนร่วมงานกันไปแบบไม่ต้องเจออะไรกันมากเดี๋ยวไม่ถึงสองปี ก็ไม่ต้องเจอกันอีกละ (เหรอ) อิอิ

คุณ B52 เจ็บนะ... แต่ก็ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป...

คุณ -west- ขอบคุณที่แวะเข้ามาค่ะ จริงๆ พิธานก็มีดวงคนอุปถัมภ์มาตลอด เพียงแต่จากไปเร็วเท่านั้นเอง อยู่คนเดียวก็ต้องแกร่งหน่อยค่ะ

คุณ lizzii อ่านต่อไป อาจจะมีใครน่าสงสารกว่านี้ก็ได้น้า ขอบคุณมากสำหรับการอ่านค่ะ

คุณ fuku ขอบคุณที่เข้ามาอ่านค่า อ่านเมนต์แล้วเห็นภาพเลยย

คุณ Nemasis ขอให้งานหายยุ่งเร็วๆ ค่ะ อิอิ คนเขียนนี่อีกพักใหญ่เลยแต่ก็จะพยายามมานะ ฝากอ่านต่อด้วยน้าา
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ความรู้สึกของคนเป็นสิ่งซับซ้อน... (นี่ก็เหมือนเคยพูดมาละ) จริงๆ พัทธ์ธาน ษิตพี่ลภก็ดีอยู่นะ... อ่อคราวที่แล้วมีแต่คนสงสารพิธาน เจ้าตัวน่าจะเป็นพวกไม่ค่อยให้คนอื่นรู้เรื่องส่วนตัวเพราะยังงี้ แต่นี่เป็นคนอ่านอะเนอะ ก็ต้องได้รู้อยู่แล้ว อิอิ ว่าแต่ต่อไป คนอ่านอาจจะสงสารคนอื่นมากกว่าพิธานก็ได้นา

ขอบคุณคนอ่านมากๆ นะคะที่อ่านอยู่ค่ะ เรื่องนี้ค่อนข้างสูบพลังคนเขียน แต่ก็สนุกที่ได้เขียนนะ เหนื่อยแต่สนุกอะ 555 จะพยายามมาเรื่อยๆ ค่ะ

ขอบคุณคนอ่านทุกท่านอีกครั้งค่ะ :กอด1:

ป.ล. ตอนนี้แอบยาว อิอิ

ออฟไลน์ B52

  • เป็ดZeus
  • *
  • กระทู้: 13216
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +420/-26
ความอึดอัดมันแผ่ซ่านไปหมด แต่ละคนก็มีเหตุผลและความจำเป็นในชีวิตไม่เหมือนกันหรอก ฉะนั้นไม่รู้ก็ไม่ต้องไปคิดแทนว่าควรจะเป็นอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ นี้คือข้อคิดที่ได้จากตอนนี้ ***ขอบคุณสำหรับตอนใหม่ ติดตามอ่านอยู่ตลอดจ้า

ออฟไลน์ warin

  • รถไฟขบวนนั้น ได้แล่นผ่านไปแล้ว
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1938
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +60/-1
    • -

ออฟไลน์ warin

  • รถไฟขบวนนั้น ได้แล่นผ่านไปแล้ว
  • เป็ดแสนดี
  • เป็ดDemeter
  • *
  • กระทู้: 1938
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +60/-1
    • -
นิยายเรื่องนี้ไม่มี nc  แต่สนุกน่าติดตามทุกตอน  อิอิ
ด้วยอารมณ์หน่วงๆ  ภาษาละเมียดละไม  ลุ้นตลอดว่าเมื่อไหร่พิธานจะใจอ่อนกับลภซะที
ส่วนคู่พัทธ์กับรักษิต  ยังเรื่อยๆๆ  มาเรียงๆๆ 
เป็นกำลังใจให้หมอลภนะคะ

CoMMuNiTY Of ThAiBoYsLoVE






ออฟไลน์ malula

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 7216
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +622/-7
จะว่ายังไงดี เหมือนคนอื่น ๆ เขาก็ปกติดี
จะไม่ปกติก็คือ หมอลภกับหมอพิธาน งึม ๆ งำ ๆ กันอยู่สองคน
แหม่...หมอพัทธ์น่าจะได้ดูแลน้องษิต เผื่อมีอะไรให้ลุ้นบ้าง
จะให้ลุ้นลภษิต พัทธ์ธาน ตามที่คุณเดหลีว่า ไม่ไหวมั้ง

ออฟไลน์ ภาณุเมศพลัง

  • เป็ดเด็กช่าง
  • *
  • กระทู้: 238
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +144/-0
เอ...เห็นจะลุ้น ลภษิต พัทธ์ธาน ไม่ขึ้นนะคะสำหรับเมศ
เพราะนอกจากหมอๆพัทธ์ษิตจะ “หน้าตาดี๊” เเล้ว บรรยากาศเวลาอยู่ด้วยกันยัง "น่าเอ็นดู๊วว" อีกด้วยค่ะ

ตอนที่เเล้วอ่านเเล้วสงสารพิธาน พอมาอ่านตอนนี้ เห็นเลาๆว่าพิธานเป็นคนใจเเข็งจนอาจถึงขั้นมีทิฐิต่อพี่ลภ
ซึ่งคง..มีเหตุผลเป็นของตัวเอง(เช่นเดียวกันคนอื่นๆในเรื่อง) แต่ไม่เเน่...เอาจริงๆคนที่ใจร้ายที่สุดอาจจะเป็นพิธานเองก็ได้

พี่ลภดูจะหวงน้อง ไม่รู้ว่าหวงเพราะเป็นน้องหรือเพราะหมอพัทธ์ขัดลูกตาพี่ลภเขานะคะ อิอิ

ขอเป็นกำลังใจให้คุณเดหลี
เมศจะเฝ้าติดตามผลงานต่อไปโดยเฉพาะช่วงหลังวันหวยออกค่ะ  ห้าห้าห้าห้า

ออฟไลน์ titansyui

  • เป็ดHermes
  • *
  • กระทู้: 2386
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +119/-0

ออฟไลน์ BeeRY

  • ❤。◕‿◕。ยิ้มเข้าไว้นะ。◕‿◕。❤
  • เป็ดHades
  • *
  • กระทู้: 9405
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +897/-8
มัวแต่ทำงานงกๆ เลยพลาดไม่ได้มาให้กำลังใจตั้งสองตอน :hao5:
ยังเดาอะไรไม่ได้เลย  :katai1:
รออ่านตอนต่อไปดีกว่า :hao3:

ออฟไลน์ iforgive

  • เป็ดApollo
  • *
  • กระทู้: 6805
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +844/-80
เหมือนคนที่น่าสงสารที่สุด อาจเป็นลภก็ได้  หรือเปล่านะ

ออฟไลน์ pim_onelove

  • เป็ดมหาวิทยาลัย
  • *
  • กระทู้: 479
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +86/-0
ตามมาอ่านเรื่องใหม่ค่ะ  อ่านรวดเดียว 7 ตอนเลย สนุกและตามลุ้นไปกับเหล่าคุณหมอด้วยค่ะ  :mew1:

ออฟไลน์ sweetbasil

  • เป็ดHestia
  • *
  • กระทู้: 807
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +45/-3
เหมือนพิธานจะเข้าใจลภผิดนะ

ออฟไลน์ rainiefonnie

  • เป็ดHestia
  • *
  • กระทู้: 623
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +48/-2
สนุกกกกกอ่านรวดเดียวเลย

พิธานมีเบื้องหลังกับลภแน่ๆๆๆ

ออฟไลน์ Nemasis

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 158
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +43/-1
อยากอ่านต่อแล้ว ฮรื่อ

ออฟไลน์ เดหลี

  • เป็ดมัธยม
  • *
  • กระทู้: 164
  • ให้คะแนนชื่นชมคนนี้: +254/-3
เรียนคนอ่านที่รักทุกท่าน

เนื่องด้วยระยะนี้คนเขียนติดภารกิจการงานมากจริงๆ จึงขออนุญาตแจ้งว่า มาได้อีกทีคงราวๆ กลางค่อนไปทางปลายตุลาคมนะคะ ขออภัยเป็นอย่างมากที่ต้องให้ท่านรอ (มาช้าแต่มาชัวร์ๆ ค่ะ แหะๆ)

ขอบคุณคนอ่านมากๆ ค่ะ จะพยายามรีบกลับมานะคะ
:กอด1:

 

สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด สนใจลงโฆษณา คลิกดูรายละเอียด


สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด
สนใจ คลิกดูรายละเอียด สนใจ คลิกดูรายละเอียด