ก่อนเริ่มอ่านขอชี้แจงก่อนนะครับว่า
อาการป่วยของตัวเองเรื่องนี้ ได้รับแรงบรรดาลใจมาจาก
หนัง 1 เรื่อง กับ ซีรี่ส์เกาหลี 1 เรื่องนะครับ คือ...
หนังเรื่อง A Beautiful Mind
ซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง It's Okay, That's Love
แต่ปมกับเนื้อหาจะเขียนในแบบของตัวเองนะครับ
...........
บทนำ....
เคยสงสัยกันหรือไม่ เพราะเหตุใดมนุษย์จึงมีบุคลิก ลักษณะ นิสัย รวมถึงความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งความคิดแตกต่างของบางคนนั้นอาจนำมาถึงปัญหาใหญ่ในการใช้ชีวิต เพราะการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม รวมถึงเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก บางรายอาจร้ายแรงจนเกิดเป็นความทรงจำที่คอยหลอกหลอนไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใดก็ตาม
“สวัสดีครับคุณปกรณ์” น้ำเสียงของผู้พูดมีความอ่อนโยน ใบหน้าดูคล้ายกับยิ้มแย้มอยู่ตลอดเวลา บุคลิกของเขาดูใจดียิ่งกว่าผู้ใด
“สวัสดีครับ” ปกรณ์หลบสายตาขณะพูด เขาก้มหน้ามองที่โต๊ะทำงานของอีกฝ่าย ผมเผ้าที่ยาวระต้นคอปกปิดใบหน้าทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถมองเห็นได้ชัด
“ผมชื่อชานนท์ ยินดีที่ได้รู้จักนะครับ” ชายหนุ่มผู้อ่อนโยนแนะนำตัวเอง เขาเป็นนักจิตวิทยาอยู่ในโรงพยาบาลซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและบำบัดผู้ป่วยที่เข้ามาทำการรักษาอาการทางจิต
“ยินดีที่ได้รู้จักครับ” ปกรณ์ยังคงก้มหน้าหลบสายตา
“คุณมีอะไรไม่สบายใจอยู่เหรอครับ คุณเล่าให้ผมฟังได้เลยนะครับ”
ปกรณ์เพิ่งเข้ารับการรักษาเป็นครั้งแรก ชานนท์จึงต้องสอบถามประวัติความเป็นมาเพื่อมาทำการวิเคราะห์อาการและรักษาต่อไป
หากมองจากบุคลิกภายนอก อาการของปกรณ์ยังถือว่าไม่รุนแรงมากนัก หากแต่แววตาที่ขาดความมั่นใจ ราวกับมีความกังวลอะไรบางอย่างอยู่ในนั้นมันดูหนักหนาสาหัส ซึ่งหากไม่ได้ทำการรักษา อาการอาจจะกำเริบหนักขึ้นเรื่อยๆ
“คือผม... ในบางครั้งผมรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย ไร้ค่าครับ รู้สึกตัวเองไม่มีความหมาย ไม่มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตอยู่อีกต่อไป ผมไม่รู้ทุกวันนี้ผมทำงานไปเพื่ออะไร เพื่อใคร ความคิดนี้มันวนเวียนหนักขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่ผมนึกถึงพ่อ แต่มันเป็นเหมือนความคิด อารมณ์ชั่ววูบนะครับ เพราะในเวลาปกติผมเองก็ปกติเหมือนคนทั่วๆ ไป” ขณะพูด ปกรณ์ยังคงหลบสายตาเพราะรู้สึกอายในความคิดของตนเอง เขาไม่กล้าสู้หน้ากับคุณชานนท์เพราะกลัวจะโดนดูถูก เหยียดหยาม
“ทำไมคุณถึงคิดว่าตัวเองไร้ค่า โดยเฉพาะเวลาที่นึกถึงพ่อล่ะครับ” ชานนท์เอ่ยถาม จากประสบการณ์การรักษา มีหลายคนที่มีอาการเช่นนี้ แต่เพื่อความแน่นอน เขาต้องสอบถามถึงเหตุผล เพราะปมของแต่ละคนย่อมต่างกัน
“แม่ผมเสียตั้งแต่ผมอายุได้สองขวบ แล้วพ่อก็มีคนใหม่ทันที พ่อมีลูกกับคนรักใหม่หลังจากที่ผมอายุได้สี่ขวบ พอผมอายุได้เจ็ดขวบ เขาก็ส่งผมเข้าโรงเรียนประจำเพราะไม่ต้องการให้ผมอยู่ร่วมกับคนอื่นที่บ้าน พอถึงวันหยุดที่ต้องกลับบ้าน ทุกคนก็จะทำเหมือนกับผมไม่มีตัวตน พ่อแม่เลี้ยงและน้องชายจะมีโลกของพวกเขาซึ่งผมไม่สามารถย่างกายเข้าไปในโลกใบนั้นได้เลย” ปกรณ์หยุดพูดเพียงเท่านั้น
“ครับ” ชานนท์พยักหน้าอย่างเข้าใจก่อนที่จะถามต่อ “แล้วคุณเคยโดนทำร้ายร่างกายไหมครับ แล้วแม่กับน้องชายดีกับคุณไหม”
สิ้นเสียงของชานนท์ ปกรณ์ก็สะดุ้งเฮือก แล้วเผลอสบตากับคนที่เอ่ยถาม แววตาของเขาแสดงออกถึงความร้อนรนอย่างเห็นได้ชัด
“ผะ... ผมไม่เคยโดนทำร้ายร่างกายครับ ทุกคนไม่สนใจผม” น้ำเสียงของเขาตะกุกตะกัก ท่าทีที่หวาดผวาทำให้ชานนท์รับรู้ได้ทันทีว่าผู้ป่วยกำลังโกหก แต่เขาก็ไม่มีสิทธิ์จะคาดคั้น
“ครับ ผมขอโทษนะครับที่ถาม” การเป็นนักจิตวิทยาที่ดี เขาต้องทำตัวให้อ่อนโยนและใจดีกับผู้ป่วยเสมอ เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยค่อยๆ เปิดใจจนกล้าที่จะเล่าถึงปัญหาให้ฟัง “แล้วในชีวิตคุณ คุณมีใครที่คอยรับฟัง มีใครที่คุณคิดว่าสามารถปรึกษาเวลากลุ้มใจได้บ้างไหมครับ”
“มีครับ” คราวนี้ปกรณ์ยิ้มขึ้นมาอย่างมีความสุข รอยยิ้มที่บริสุทธิ์นั่นทำให้ชานนท์ขมวดคิ้วมุ่นด้วยความฉงน “เดี๋ยวผมเอารูปให้ดูนะครับ ผมเป็นช่างภาพ เลยขอพวกเขาทั้งสองถ่ายภาพแล้วปริ้นท์รูปมาเก็บไว้คนละใบครับ”
ปกรณ์ค้นของในกระเป๋าเป้ก่อนจะหยิบกระดาษแผ่นสี่เหลี่ยมซึ่งเคลือบด้วยพลาสติกออกมาสองใบ
“นี่น้องปาณัฐครับ” ปกรณ์ชี้ไปที่ภาพถ่ายใบหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพวิวของสวนสาธารณะตอนกลางคืน มีแสงจากเสาไฟส่องสลัวๆ ลงมายังม้านั่งเบื้องล่าง “น้องปาณัฐเป็นรุ่นน้องที่มหาลัยของผมครับ แต่เราเพิ่งรู้จักกันเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เองครับ น้องปาณัฐบอกว่าติดตามผลงานภาพถ่ายของผมมานานแล้ว เขามีผมเป็นแบบอย่าง และเพราะมีเขา เลยทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองมีค่าครับ เขามักบอกว่าอย่างเก่งแบบผมเสมอ ซึ่งผมไม่เคยคิดเลยว่าคนอย่างผมจะมีใครเอาเป็นแบบอย่าง”
“แล้วก็นี่นรินทร์ครับ” คราวนี้ผู้ป่วยชี้ไปที่ภาพอีกใบ มันเป็นภาพชายทะเลตอนเช้าที่พระอาทิตย์กำลังจะขึ้น มีแสงสีทองพาดผ่านกับจุดตัดระหว่างท้องฟ้ากับท้องทะเล “นรินทร์มักจะมาหาผมในวันที่ผมเครียดครับ เรามีปัญหาคล้ายๆ กันเรื่องครอบครัว เราจึงเป็นเพื่อนที่ปรึกษาปัญหาระหว่างกัน เขาทำให้ผมรู้สึกว่า ไม่ใช่แค่ผมที่โชคร้ายคนเดียว และเขาโชคร้ายกว่าผมด้วยซ้ำ บางทีผมก็รู้สึกดีเวลาที่มีเขาอยู่ใกล้ๆ รู้สึกดีเวลาที่เขามาระบายเรื่องเครียดๆ ให้ผมฟัง รู้สึกดีที่ได้ปลอบใจ ได้ปกป้องเขา”
ชานนท์มองตามภาพถ่ายทั้งสองใบ เขาต้องซ่อนความรู้สึกตกใจที่เกิดขึ้น แม้ว่าการแสดงออกภายนอกของปกรณ์จะดูไม่รุนแรงหากเทียบกับผู้ป่วยรายอื่นๆ แต่จากเหตุการณ์เมื่อครู่ที่เกิดขึ้นมันกลับไม่ใช่อย่างที่คิด อาการของปกรณ์หนักยิ่งกว่าใครหลายๆ คนเสียอีก และมันอาจจะรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว
“แล้วน้องปาณัฐกับคุณนรินทร์มาพบคุณบ่อยไหมครับ”
“เราไม่ค่อยได้เจอกันน่ะครับ ผมเองก็งานยุ่ง แต่น่าแปลกนะครับ เวลาที่ผมเครียดมากๆ มักจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมเจอใครคนใดคนหนึ่งทุกครั้งเสมอ”
“แสดงว่าคุณไม่เคยเจอพวกเขาสองคนพร้อมกันใช่ไหมครับ”
“ใช่ครับ”
“เอาล่ะผมเข้าใจแล้ว เดี๋ยวผมจะนำอาการของคุณไปปรึกษากับจิตแพทย์แล้วให้คุณหมอจิตแพทย์สั่งยาให้นะครับ แต่ระหว่างนี้ผมจำเป็นต้องพบคุณทุกสัปดาห์เพื่อติดตามอาการนะครับ”
“ได้ครับ ขอบคุณนะครับ คุณ...” ปกรณ์ลืมชื่อของอีกฝ่าย
“ชานนท์ครับ” เขาบอกชื่อตัวเองแล้วยิ้มให้อีกฝ่ายอย่างอ่อนโยน
“ครับ” ปกรณ์ผงกศีรษะเล็กน้อยแล้วยิ้มกลับ เขาเริ่มสบตาและรู้สึกว่าคนตรงหน้าเป็นมิตร
หลังจากที่ปกรณ์จากไป ชานนท์ก็ได้แต่นั่งขบคิดว่าคนคนหนึ่งที่สามารถสร้างคนที่ไม่มีตัวตนให้มีตัวตนขึ้นมานั้นต้องผ่านความเครียดหรือความเจ็บปวดในอดีตมามากมายเพียงใด
รอยยิ้มที่ฉายชัดถึงความสุขเวลาที่เขาชี้ไปบนภาพถ่ายที่ว่างเปล่านั้นทำให้ชานนท์ไม่แน่ใจว่า หากวันหนึ่งปกรณ์รู้ความจริงขึ้นมา... รู้ว่าปาณัฐและนรินทร์ เป็นเพียงบุคคลในจินตนาการที่เขาสร้างขึ้นเพื่อปกป้องความอ่อนแอของตัวเองนั้น ปกรณ์จะรับมือได้ไหม เมื่อบุคคลเพียงสองคนที่เขาสามารถเปิดใจและทำให้เขายิ้มได้อย่างมีความสุขนั้นไม่มีตัวตนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
หากพิจารณาจากบุคลิกภายนอก ปกรณ์มีท่าทางไม่ต่างจากชายหนุ่มทั่วๆ ไป เขาสูงประมาณ 174 เซนติเมตร ผิวขาวเหลือง หน้าตาเกลี้ยงเกลา บุคลิกดูสุภาพอ่อนโยน เพียงแต่ผมเผ้าที่ยาวปกปิดใบหน้า กับการแต่งกายที่มิดชิดและลักษณะที่ดูขาดความมั่นใจนั้นทำให้อาจไม่มีผู้ใดที่กล้าจะพูดคุยหรือให้ความสนิทใจกับเขา
“หมอครับ ผมขอดูแลผู้ป่วยรายนี้อย่างใกล้ชิดได้ไหมครับ” ชานนท์เดินไปคุยกับจิตแพทย์
“ใกล้ชิด?” จิตแพทย์ทวนถามด้วยความสงสัย เพราะพวกเขาล้วนให้ความดูแลกับผู้ป่วยที่มาทำการรักษาอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
“ใช่ครับ หมายถึงอาจจะเป็นเพื่อน พูดคุย ชวนนัดเที่ยวเวลาว่างงาน จะถือว่าผิดจรรยาบรรณไหมครับ”
“อ๋อ... ได้สิครับ ผู้ป่วยบางรายถ้าได้รับการรักษา การดูแลอย่างใกล้ชิดจะทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระมัดระวังอย่าให้เขาเข้าใจว่าการเข้าหาของเราคือการรักษา เพราะถ้าเขาคิดแบบนั้น อาจจะทำให้เขาต่อต้านและส่งผลร้ายทำให้การรักษายากขึ้นกว่าเดิมอีก”
“ได้เลยครับ ขอบคุณมากๆ ครับ”
------------------------------
จบบทนำ
ปล.บทนำต้องอ่านนะครับ ข้ามไม่ได้ 555+ จุดสำคัญเลย